เรื่อง : ธารา บัวคำศรี
1
หญิงชายกลุ่มหนึ่งเดินอย่างรีบร้อน ฝ่าแดดระอุยามบ่ายเข้าไปในบริเวณศาลแรงงานกลางกรุงเทพฯ ริมถนนพระราม 4 จุดหมายคือห้องพิจารณาคดีบนชั้นสามของอาคาร เวลา 13.30 นาฬิกา คดีผู้ป่วยพิษอลูมินาจากงานอุตสาหกรรมเริ่มต้นขึ้น
พวกเขาเป็นชาวญี่ปุ่น มีทั้งอาสาสมัคร นักศึกษา และนักเขียนอิสระที่สนใจติดตามคดีผู้ป่วยจากสารพิษอลูมินาซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องศาลแรงงานโดยมีสำนักงานประกันสังคม โรงงานและกรรมการบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเป็นจำเลยในข้อหาการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงานและพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม 2535
ศาลเบิกตัวพยานโจทก์คนที่ 2 และ 3 คือแพทย์หญิงชิดสุภางค์ ดัชนีกุล และนายแพทย์จรัส พิมพิไลแห่งโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ ตลอดการพิจารณาคดี กลุ่มชาวญี่ปุ่นพยายามจดบันทึก
(ทนายโจทก์ถาม) “พยานใช้วิธีการรักษาโจทก์อย่างไรบ้าง”
(พยานโจทก์คนที่ 2 ตอบ) “โจทก์เข้าโรงพยาบาลแมคคอร์มิคตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2536 หลังจากนั้นโจทก์ก็ออกจากโรงพยาบาลแต่การตรวจอาการยังไม่เสร็จทั้งหมด ข้าพเจ้าให้โจทก์กินยาขับปัสสาวะเป็นเวลา 2 เดือน แต่อาการของโจทก์ไม่ดีขึ้น ต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบประวัติการทำงานของโจทก์ คือโจทก์ทำงานเป็นเวลา 4 ปี ในแผนกปัดฝุ่นทำความสะอาดชิ้นส่วนที่เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และทำงานได้ 1 หมื่นชิ้นต่อวันโดยไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันมาโดยตลอด ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการรักษาอาการป่วย ในที่สุดได้ลงความเห็นว่าอาการของโจทก์คือ ความผิดปกติที่เกิดจากสารอลูมิเนียมตกค้างในร่างกายซึ่งมีผลให้เกิดอาการชัก ไตวาย สมองเสื่อม ความเห็นเรื่องนี้มาจากการอ้างถึงข้อมูลจากรายงานการแพทย์ที่ศึกษาในต่างประเทศ”
(ทนายโจทก์ถาม) “พยานมีวิธีตรวจอลูมิเนียมในเลือดของโจทย์หรือไม่”
(พยานโจทย์คนที่ 2 ตอบ) “การตรวจสารที่ตกค้างในร่างกาย ในเมืองไทยมีที่ เรดิโออิมมูน โนแอสเสย์ เซนเตอร์ (RIA) แต่ข้าพเจ้าได้รับคำตอบจาก RIA ว่าไม่สามารถตรวจอลูมิเนียมในเลือดได้”
การถามตอบระหว่างทนายโจทก์และพยานโจทก์คนที่ 2 ดำเนินไปช้า ๆ ศาลหยุดเพื่อบันทึกเทปเป็นช่วง…
(ทนายโจทก์ถาม) “นอกจากโจทก์ มีผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายกันหรือไม่”
(ทนายโจทย์คนที่ 2) “มีนางสาววงเดือน เพื่อนร่วมงานของโจทก์ เกิดอาการช่องลมปิดและชักแรงต่อเนื่องกัน ได้ใช้ยา 4 ชนิดรักษาแต่อาการไม่ดีขึ้น ลงความเห็นว่าเธอเป็นโรคบวมน้ำในสมอง หลังจากมีอาการรุนแรงได้ 2 สัปดาห์ นางสาววงเดือนก็เสียชีวิต”
(ทนายโจทก์ถาม) “ระหว่างอาการของโจทก์และนางสาววงเดือนมีจุดที่คล้ายกันหรือไม่”
(พยานโจทก์ตอบ) “ผู้ป่วยบางรายที่มีสารอลูมิเนียมตกค้างจำนวนมากอาจไม่แสดงอาการขณะที่บางรายมีจำนวนไม่มากอาจแสดงอาการชัดออกมา ขึ้นอยู่กับความไวต่อสารของคนแต่ละคน กรณีนางสาววงเดือน เมื่อโรงพยาบาลรับเธอมา เธอมีอาการเข้าขั้นโคม่าอยู่แล้วไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้และชักตลอดเวลา กรณีโจทก์มีอาการชัดคือปวดหัวอย่างรุนแรงเพราะความดันในสมองสูงเกินกว่าระดับปกติ”
2
หมู่บ้านวังทอง ลำพูน มยุรีย์ เตวิยะ-โจทก์ในคดีสารพิษอลูมินา- เพิ่งหมดภาระงานบ้าน วันนี้มยุรีย์ควรจะอยู่ที่ศาล แต่เธอไม่มีค่าเดินทาง อากาศร้อนอ้าวในยามบ่ายทำให้เธอเหนื่อย สุขภาพก็ยิ่งทรุดลง
คดีสารพิษของเธอเป็นคดีแรกในลำพูนที่ฟ้องหน่วยงานรัฐบาลและนายจ้างชาวญี่ปุ่น องค์กรด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม และสตรีหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากแวะเวียนมาเยี่ยมให้กำลังใจจนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร โดยเฉพาะกลุ่มชาวญี่ปุ่น เหตุที่พวกเขาสนใจมากอาจเป็นเพราะตัวอย่างคดีโรคมินามาตะที่ต่อสู้ด้วยขบวนการทางสังคมและในชั้นศาลมาหลายทศวรรษ
มยุรีย์ขึ้นศาลโดยความช่วยเหลือจากสภาทนายความ และมีพญ. อรพรรณ เมธาดิลกกุลเป็นพยานคนสำคัญ เธอได้รับกำลังใจจากกลุ่มผู้ป่วยโรคสารพิษ ทุกครั้งที่เธอเดินทางกลับจากศาล กลับมาสู่ชีวิตครอบครัว สามี ลูกชาย แม่และพ่อ เพื่อนบ้าน กิจการหอพักคนงาน และปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า เธอคิดเสมอว่า แพ้ชนะไม่เป็นไร ถ้าสู้ถึงที่สุดแล้ว
3
ห้องพิจารณาคดี ศาลแรงงานกลาง ทนายโจทก์กำลังตั้งคำถามกับพยานโจทก์คนที่ 3
(ทนายโจทก์ถาม) “ความเห็นของพยาน อาการป่วยของโจทก์มีสาเหตุมาจากอะไร
(พยานโจทก์คนที่ 3 ตอบ) “มีสารโลหะหนักในร่างกายเนื่องมาจากการทำงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ สำหรับโรงพยาบาลแมคคอร์มิคสรุปลงความเห็นเช่นนี้โดยผ่านที่ประชุมแพทย์ร่วมกับแพทย์หญิงชิดสุภางค์ซึ่งเป็นผู้รักษาโจทก์”
(ทนายโจทก์ถาม) “อาการป่วยของครั้งนี้เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่เกิดขึ้นในปี 2534 หรือไม่”
(พยานโจทก์คนที่ 3 ตอบ) “ไม่เกี่ยวข้อง ขณะนั้นมีแต่อาการปวดหัว การตรวจเอ็กเรย์คอมพิวเตอร์ไม่พบความผิดปกติในสมองของโจทย์”
(ทนายโจทก์ถาม) “หลังจากแพทย์ลงความเห็นวินิจฉัยอาการป่วยของโจทก์ มีข้อวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันจากกลุ่มภายนอกที่ไม่เห็นด้วย พยานคิดอย่างไรเก็บเรื่องนี้”
(พยานโจทก์คนที่ 3 ตอบ) “สำหรับแพทย์ เราสิ้นสุดลงด้วยการวินิจฉัยที่ถูกต้องแล้วและถือผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เราจึงไม่สนใจคำวิจารณ์หรือการบีบบังคับจากคนข้างนอก”
4
ห้าโมงเย็น คนงานที่ไม่ทำโอทีออกจากโรงงานกลับที่พัก ตลาดสดในหมู่บ้านเริ่มคลาคล่ำไปด้วยเด็กสาวในชุดยูนิฟอร์มสีต่างๆ มยุรีย์ถือตระกร้าเดินเลือกซึ้ออาหารมื้อเย็นสำหรับครอบครัว ทั้งคนงานและชาวบ้านต่างอาศัยตลาดที่เกิดขึ้นใหม่ในหมู่บ้าน แม่ค้าส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่น นอกจากเพื่อนบ้านจึงไม่มีใครในตลาดรู้จักมยุรีย์ คดีสารพิษของเธอที่แพร่สะพัดในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เลือนหายไปพร้อมกับคลื่นระลอกใหม่ของแรงงาน
แม่อุ๊ยคนหนึ่งเดินเข้ามาทัก เล่าถึงข่าวคนงานนิคมฯ ลูกสาวบ้านโน้นป่วยหนัก พ่อแม่เข้าใจว่าเป็นสารพิษแต่ไม่รู้จะไปรักษาที่ไหนดี ตลาดสดเป็นแหล่งข่าว มยุรีย์มักจะได้ยินเรื่องคนงานป่วย อุบัติเหตุ ข่าวคาวตามหอพักคนงานและการทะเลาะตบตีแย่งผู้หญิงผู้ชาย คิดไปคิดมาแทบไม่เชื่อว่า หมู่บ้านที่เคยมีสวนลำไยร่มรื่นจะกลายเป็นชุมชนแออัดที่มีทุกสิ่งทุกอย่างไว้บริการคนงานและมีปัญหาสังคมสารพัด เธอใจหาย เมื่อนึกถึงลูกชายที่ต้องเติบใหญ่ขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมเหล่านี้
5
พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุลหอบแฟ้มเอกสารพะรุงพะรังเข้าไปในห้องพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลาง กรุงเทพฯ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นัดสืบพยานโจทก์คนสำคัญ ผู้ยึดกุมข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคพิษอลูมินา มีคนสนใจเข้าฟังเต็มห้อง คนญี่ปุ่นหลายคนเตรียมกระดาษปากกาบันทึก ทนายโจทก์เริ่มถามประวัติการศึกษาและการทำงานของพยานโจทก์ ต่อด้วยคำถามถึงการรักษาอาการป่วยของโจทก์ ข้อมูลทางการแพทย์ทยอยออกมาจากคำตอบของพยานโจทก์อย่างต่อเนื่องเป็นชุดยาวเหยียด บันทึกของคนญี่ปุ่นขาดเป็นช่วง…
“โจทก์มาพบหมอด้วยอาการสำคัญคือปวดศรีษะเรื้อรัง เวียนหัว แน่นหน้าอก หายใจน้อยลง อ่อนเพลีย อ่อนแรง ชา ปวดข้อ ทรงตัวไม่ดี คิดช้า หงุดหงิด จากการตรวจพบว่า โจทก์เสียการทรงตัว เสียงหายใจเบาลง ตรวจพบความจำเสื่อม พูดทวนเลขถอยหลังได้ 2-3 ตัว หายใจเข้าออกเต็มที่มีช่วงต่างกัน 2 เซนติเมตรแสดงว่ามีสภาวะปอดจำกัด ตรวจกล้ามเนื้อพบว่ากล้ามเนื้ออ่อนแรงเล็กน้อย การส่งตรวจพิเศษพบว่ามีเอนไซม์ในเลือดต่อเม็ดเลือดแดง 1 ซีซี ตรวจพบอลูมิเนียมในน้ำเหลืองที่ 500 ไมโครกรัมเปอร์เซ็นต์ (ค่าที่ยอมรับไม่ควรเกิน 20) อลูมิเนียมในปัสสาวะพบ 113 ไมโครกรัมเปอร์เซ็นต์ ตะกั่วในปัสสาวะ 106 ไมโครกรัมต่อลิตร ผลตรวจสมรรถภาพปอด ค่า FPC 71 เปอร์เซ็นต์ของคนปกติ ผลการเอ็กซเรย์ปอดตามมาตรฐาน ILO …คลื่นหัวใจผิดปกติ เส้นประสาทหัวใจด้านขวามีการปิดกั้นกระแสนำประสาท…”
6
ไม่ว่าคดีสารพิษอลูมินาจะจบลงเช่นไร ลำพูนกลายเป็นตัวอย่างของเมืองระดับภูมิภาคที่เวียนว่ายตายเกิดในวงจรการพัฒนา ความเจริญกระจายออกจากกรุงเทพฯ สร้างนิคมอุตสาหกรรม คนต่างชาติเข้ามาสร้างโรงงาน เศรษฐกิจเฟื่องฟู มาตรการสิ่งแวดล้อมหย่อนยาน เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะสารพิษและกากอุตสาหกรรม การกล่าวหากลุ่มรณรงค์สิ่ง
แวดล้อมว่าทำลายบรรยากาศการลงทุน และจบลงที่คดีสารพิษ…
7
วันที่ ??? ห้องพิจารณาคดี ศาลแรงงานกลาง กรุงเทพฯ ศาลอ่านคำพิพากษา “………………”