เรื่อง : ธารา บัวคำศรี
โคมยี่เป็งนับร้อยดวงระยิบระยับลอยสูงขึ้นไปแต้มฟ้าคืนเดือนเพ็ญ ท้องน้ำเบื้องล่างกลายเป็นธารดวงไฟส่องสว่างวับวาว หนุ่มสาวถือกระทงใบตองอธิษฐานอยู่ริมฝั่งน้ำท่ามกลางความอึกทึกของเสียงประทัด พลุ ไฟ เครื่องขยายเสียงจากมหรสพ และเสียงจอกแจกจอแจของฝูงชนบนถนน สายน้ำในคืนเดือนเพ็ญไหลเอื่อยมิรับรู้เรื่องราว ประเพณีลอยกระทงเปลี่ยนแปลงไปไกลจากเดิมมากแล้ว
ผมกับคาซือยูกิ โอกาโมโตเพื่อนชาวญี่ปุ่น ยืนอยู่ในมุมหนึ่งหน้าวัดพระธาตุหริภุญไชย – ศูนย์รวมศรัทธาคนหละปูนและล้านนา เราเฝ้าดูแสงเทียนส่องสว่างในลำน้ำกวงที่ฝูงชนลอยทุกข์ลอยโศกลงไป ชะตากรรมแห่งลำน้ำที่ไหลหล่อเลี้ยงแผ่นดินหุบเขาและทุ่งราบแห่งนี้กำลังเปลี่ยนไป
น้ำแม่กวงกำเนิดจาก “ผีปันน้ำ-ดอยนางแก้ว” ผ่านอำเภอดอยสะเก็ด สันกำแพง เลียบตัวเมืองหละปูน หรือลำพูนไปจบกับน้ำแม่ทาและแม่ปิง ที่ราบริมน้ำแม่กวงคือทางสายเดิมของเผ่าพันธุ์โบราณ
แหล่งโบราณคดีบ้านยางทองใต้ บ้านสันป่าคา และบ้านวังไฮ และร่องรอยอดีตของเวียงเจ็ดริน เวียงสวนดอก เมืองเชียงใหม่ เวียงกุมกาม เวียงมโน เมืองลำพูน และเวียงท่ากาน คือรอยวัฒนธรรมของกลุ่มชนดั้งเดิมและคลี่คลายเป็นระบบสังคมเมืองบริเวณที่ราบริมน้ำแม่ปิงและน้ำแม่กวงในเวลาต่อมา
คนหยั่งรากลงในดินแดนแห่งนี้นานนักแล้ว แตกหน่อแตกกอเหนือที่ลุ่มชุ่มน้ำ ในหุบเขา บนกิ่วดอย ผ่านคืนวันผันแปรมาหลายชั่วคน ในวันนี้ ผู้คนรุ่นล่าสุดมีนัดกับโชคชะตา เผชิญหน้ากับสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยง นับจากวิศวกรชาวเยอรมันและแรงงานชาวเหนือและอิสานเจาะทะลุดอยขุนตาลเมื่อ พ.ศ. 2457
รถไฟลอดอุโมงค์ขึ้นมาถึงแอ่งที่ราบ จากนั้นไม่นานการเดินเรือล่องแก่งแม่น้ำปิงกลายเป็นตำนานเมื่อสายน้ำถูกกั้นที่อำเภอสามเงา คำเก่าๆ พูดกันว่า ”น้ำปิงบ่เกยไหลย้อน” หวนฟื้นคืนกลับมาอีก การไปมาหาสู่ติดต่อค้าขายกับเขตโขง-สาละวินด้านเหนือ และออกสู่เมืองมะละแหม่ง-อ่าวมะตะบันอยู่ในฐานะ ”การค้าข้ามแดน”
หละปูนยังสงบร่มเย็นในความผันเปลี่ยนจนถึงปี 2526 เมื่อทุ่งนากลายเป็นโรงงาน คนปลูกข้าวเปลี่ยนเป็นกรรมกร นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือคือฝันที่เป็นจริงของความกินดีอยู่ดีในท้องถิ่น
คาซือยูกิปลุกผมจากภวังค์ เขาถาม “หนุ่มสาวที่ผมเห็นอยู่นี้ส่วนใหญ่เป็นคนงานในโรงงานหรือเปล่า”
ผมพยักหน้า “พวกเขามาจากหลายจังหวัด เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย อิสานก็มากันเยอะ ไม่ไกลไปจากที่ลอยกระทงกันอยู่ โรงงานก็ปล่อยน้ำเสียลงมา สารเคมีเกษตรไหลมา บ้านเรือนก็ทิ้งของเหลือใช้ออกมา แม่น้ำกวงก็เหมือนท่อระบายสิ่งโสโครกขนาดใหญ่”
“แม่น้ำกวงติดกับนิคมอุตสาหกรรมเคยส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงมาก ชาวบ้านร้องเรียนให้แก้ไข ต่อมาขยะมีพิษเศษวัสดุออกมากองทิ้งในแหล่งน้ำใกล้หมู่บ้าน หนุ่มสาวหลายคนในโรงงานล้มเจ็บ-ตายโดยไม่คาดคิด ไม่ทันรักษา ไม่มีทางแก้ไข ข่าวขยะสารพิษและโรคพิษอุตสาหกรรมแพร่กระจายไปอย่างเร็ว จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง จากหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งไปยังโทรทัศน์อีกแห่งหนึ่ง จากลำพูนไปยังโตเกียว ฮ่องกง กัวลาลัมเปอร์ ลอนดอนและจากอินเตอร์เนตที่ไหนสักแห่งในต้นทางไปสู่ปลายทางที่มีผู้ใช้บริการทั่วโลก ท้ายที่สุดมีคนบอกว่า มลพิษที่นี่ได้รับการแก้ไขแล้ว เรามีแรงงานราคาถูก เรางดเว้นภาษี ให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุนต่างชาติ”
“นานมาแล้ว” คาซือยูกิกล่าว “และจนบัดนี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ ผู้ป่วยมินามาตะ อากาศพิษที่เมืองยกไกจิ ญี่ปุ่นสร้างสังคมรุ่งเรืองขึ้นในซีกโลกตะวันออก บัดนี้ทั้งสังคมต่างเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ที่ซับซ้อนสับสนอลหม่านอย่างยิ่ง”
เขาเป็นนักเขียนอิสระ นักข่าว ล่าม อาสาสมัคร หลายปีในกรุงเทพมหานครและชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงเวลาสั้น ๆ ในเมืองและชนบทบนเกาะฮอนชู เราต่างสนทนากันไม่รู้จบ ครั้งหนึ่งเขาแนะนำตัวเอง “ผมเกิดท่ามกลางบรรยากาศต่อต้านสงครามเวียดนามในญี่ปุ่น จากนั้นมา ผมกลายเป็นคนพเนจร ทุกแห่งคือบ้าน”
เขาอยู่เมืองไทยหลายปี พูดไทยได้ สนใจหลายเรื่องในสังคมไทย ติดตามเรื่องมลพิษที่ลำพูนและที่อื่น ๆ คาซือยูกิบอกว่าเขตอุตสาหกรรมหลายแห่งในเมืองไทยจำลองการเจริญเติบโตแบบญี่ปุ่น “ในรายงานของบริษัทที่ปรึกษาที่วางแผนโครงการอีสเทอร์นซีบอร์ดของไทย เขานำเอาพัฒนาการของเมืองท่าโอซาก้ามาใช้เป็นแบบจำลองของการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือ ตอนนี้อิสเทอร์นซีบอร์ดก็เต็มไปด้วยโรคอุตสาหกรรมและกากสารพิษ”
“หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกาบีบญี่ปุ่นให้เป็นอุตสาหกรรม ต่อมาญี่ปุ่นบีบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นอุตสาหกรรม ไทยรับการลงทุนจากญี่ปุ่นเต็มที่ เพราะแรงงานราคาถูก กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่อ่อนแอ โรงงานของบรรษัทข้ามชาติจึงเข้ามาตั้งอยู่ในทุ่งนาริมหมู่บ้าน” คาซือยูกิกล่าวต่อ
“มันแย่ตรงที่อุตสาหกรรมพวกนี้มันมีพิษภัย แต่ที่แย่กว่าคือพวกเราส่วนใหญ่กลับไม่รู้ ไม่เห็น ไม่สนใจ และตามไม่ทัน กว่าจะรู้ก็สายเกินไป” ผมร้องเพลงที่แต่งโดยผู้นำชุมชนคนหนึ่งให้เขาฟังก่อนเราอำลาคืนยี่เป็งที่หละปูน
….นิคมอุตสาหกรรม มันเป็นกรรมของคนลำพูน”
ชีวิตหนุ่มสาววัยรุ่น ต้องมาเปื้อนฝุ่นของสารเคมี…