เรื่อง : ธารา บัวคำศรี

my3rdbook

เขาสามมุกจะเป็นฝั่ง

เกาะสีชังจะเป็นท่าเรือ

บางปลาสร้อย เมืองแนบอก จะรกเป็นป่าเสือ

คือคำทำนายแห่งชายฝั่งทะเลตะวันออก นานมาแล้ว และมีเหตุให้เปลี่ยนแปลงไปตามนั้น ทุกย่างก้าวบนชายฝั่งชลบุรีและระยองเปลี่ยนโฉมหน้าเป็น “สปริงบอร์ดของความเจริญรุ่งเรือง” ความหวังที่ไทยจะเป็นอุตสาหกรรมปรากฏชัดนับแต่ก๊าซธรรมชาติไหลตามท่อส่งจากกลางอ่าวไทยขึ้นบกที่ชายฝั่งมาบตาพุด ระยอง เมื่อปี 2524…

เมษายน 2535 ผมกับเพื่อนญี่ปุ่นอีกสามคนอยู่บนขบวนรถไฟจากนาโกยา จังหวัดอิชิ ข้ามไปสู่จังหวัดมิเอะ จุดหมายปลายทางอยู่ที่ “ยกไคจิ” เมืองอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและเคมีขนาดใหญ่ริมอ่าวอิเซ ฟากมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อนบอกว่าเขากำลังพาผมไปดูความตายของญี่ปุ่น

ความรู้สึกของผมเมื่อเข้าเขตเมืองยกไคจิ เหมือนกับคนไทยที่เคยมาเยี่ยมที่นี่เมื่อนานมาแล้ว เขาเขียนบทความลงในหนังสือสภาพแวดล้อมฉบับบทเรียนจากญี่ปุ่นพิมพ์ในปี 2516 ว่า

…พอรถไฟสายคันไซเข้าเขตเมือง ก่อนที่เราจะเห็นปล่องโรงงาน เราก็เริ่มได้กลิ่นกำมะถันแล้ว และตลอดสองวันกับหนึ่งคืนที่อยู่ในเมืองนี้ก็ได้กลิ่นตลอดเวลา นึกถึงชาวบ้านที่ต้องทนอยู่กับแก๊สมรณะนี้วันละ 24 ชั่วโมง ปีละ 365 วัน จะเรียกเจ้าสิ่งเลวร้ายนี้ว่าฆาตกรก็ไม่ผิดนักเพราะรายงานของเทศบาลท้องถิ่นประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2514 ระบุว่า ผู้ป่วยด้วยสภาพแวดล้อมโสโครก 58 รายเสียชีวิตไปแล้ว จากจำนวนผู้ป่วยที่ทางการยอมรับว่ามีผลจากแก๊สมรณะนี้ทั้งหมด 811 คน…

เราสี่คนพบกับคุณซาวาอิ อดีตเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงาน และคุณอิโต ครูโรงเรียนมัธยม ทั้งสองคนเป็นชาวเมืองยกไคจิและพาพวกเราทัวร์มลพิษรอบเมือง ภาพสลับไปมาของมลพิษอุตสาหกรรมต่างสถานที่ต่างเวลา ยกไคจิ-อีสเทอร์ซีบอร์ด แจ่มชัดอยู่ในห้วงคำนึงของผม

(ยกไคจิ) เมืองยกไคจิมีนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งริมทะเล เป็นอุตสาหกรรมหนักที่ใช้น้ำมันและเคมี อุตสาหกรรมเฟสแรกสร้างในปี 2498 ภายใต้แผนการพัฒนาท้องถิ่น มีการเวนคืนที่ดินหลายตารางกิโลเมตรเพื่อสร้างโรงงาน

(อีสเทอร์นชีบอร์ด) ภาคตะวันออกของไทยมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากกว่า 4 แห่งริมทะเล (แหลมฉบัง มาบตาพุด ผาแดง ตะวันออกและเอเชีย) ยังไม่นับเขตอุตสาหกรรมหลายแห่งที่ตั้งอยู่ตอนใน (บางปะกง ศรีราชา บ่อวิน เวลโกร์ เกตเวย์ซิตี้ อมตะ) ธันวาคม 2530 เริ่มลงมือก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง (นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังระยะแรกก่อสร้างเสร็จในปี 2534) มีการเวนคืนที่ดินบริเวณแหลมฉบังและมาบตาพุดรวมกันนับหมื่นไร่

(ยกไคจิ) ปัญหามลพิษเกิดจากก๊าซกรดกำมะถันซึ่งพ่นออกมาจากปล่องไฟของโรงงานปีละประมาณ 140,000 ตัน สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน 90,000 คนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงงาน

(อีสเทอร์นซีบอร์ด) ปลายปี 2531 โรงงานไทยปิโตรเคมีคอลอินดัสทรีหรือทีพีไอ ชานเมืองระยองระเบิดและมีเพลิงลุกไหม้ คนงานเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บหนัก 4 คน ก๊าซที่มีกลิ่นเหม็นแผ่กระจายไปทั่วบริเวณหลายสิบกิโลเมตร

(ยกไคจิ) คนป่วยเป็นโรคหืดยกไคจิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในฤดูใบไม้ผลิปี 2504 อาการป่วยมีหลายลักษณะแต่เทศบาลจังหวัดยอมรับเพียง 9 อย่าง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ ผู้ป่วยและเสียชีวิตมักเป็นเด็กนักเรียนประถมศึกษาและคนสูงอายุ มีผู้ป่วยที่ไม่ได้ตายด้วยโรคแต่ฆ่าตัวตายเพราะทนอากาศพิษไม่ไหวสองรายในปี 2509 และ 2510

(อีสเทอร์นซีบอร์ด) ตุลาคม 2532 เกิดสารปรอทรั่วที่โรงงานแยกก๊าซ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เหตุมาจากการกัดกร่อนปรอทในท่อส่งก๊าซ สารปรอทปนเปื้อนในน้ำทะเลและน้ำบริโภค คนงาน 62 คนล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ

(ยกไคจิ) กันยายน 2510 ชาวบ้านที่ป่วยเป็นโรคยกไคจิ 9 คน เดินเรื่องฟ้อง 6 บริษัท ฐานะที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนด้วยการปล่อยก๊าซพิษออกมาติดต่อกัน นายแพทย์คะทจึ โยชิดะแห่งมหาวิทยาลัยแพทย์ จังหวัดมิเอะให้การเป็นพยานว่า จำนวนของผู้ป่วยเป็นโรคเจ็บคอ หวัดและหลอดลมอักเสบในบริเวณอากาศพิษมีถึงร้อยละ 220 ของจำนวนป่วยในบริเวณที่ไม่มีอากาศพิษ

(อีสเทอร์นซีบอร์ด) มกราคม 2537 นักเรียน 6 คน และอาจารย์ 1 คนของโรงเรียนโปลีเทคนิคระยองถูกนำส่งโรงพยาบาลระยองเนื่องจากปวดศรีษะรุนแรงและอาเจียน แพทย์ของโรงพยาบาลตั้งข้อสังเกตว่า นักเรียน 6 คน พักที่หอพักของโรงเรียนตรงข้ามกับโรงงานทีพีไอมาเป็นเวลากว่า 2 ปี พวกเขาได้กลิ่นเหม็นคล้าย ๆ กับผลไม้สุก บางครั้งเหม็นเหมือนก๊าซหุงต้ม เมื่อดมกลิ่นจะมีอาการปวดศรีษะ แสบจมูก คอแห้ง นักเรียนและครูทั้ง 7 คน รักษาอาการกันเอง 7 เดือนผ่านไป เมื่อมีอาการป่วยขึ้นอีกจึงตัดสินใจไปหาแพทย์ รายงานทางการแพทย์พบว่านักเรียนกว่าร้อยละ 90 ได้กลิ่นเหม็น นักเรียนมากกว่าครึ่งหนึ่งมีอาการปวดศรีษะ หน้ามืด โรงพยาบาลคาดว่ากลิ่นดังกล่าวมีที่มาจากสารเคมีที่ใช้ในโรงงาน

(ยกไคจิ) นิคมอุตสาหกรรมเฟส 3 ของเมืองยกไคจิสร้างเสร็จพร้อมกับครบรอบ 20 ปี หลังจากศาลตัดสินว่าอากาศพิษจากโรงงานทำให้ชาวบ้านเป็นโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ รัฐบาลสัญญาว่า นิคมอุตสาหกรรมเฟส 3 จะเป็นเขตปลอดมลพิษ แต่ชาวบ้านบอกว่า มันคือสัญญาพิษต่างหากเล่า

(อีสเทอร์นซีบอร์ด) พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยบอกว่า โรงงานทีพีไอใช้สารโทลูอีน เฮกซีน เคโรซีนและสารทำละลายอื่นๆ ในกระบวนการผลิต สารเคมีเหล่านี้มีผลทำให้ปวดศรีษะ หมดเรี่ยวแรง หน้ามืดวิงเวียน ถ้าได้รับสารในปริมาณน้อยร่างกายสามารถขับออกได้ หากมีการสะสมเป็นเวลานานจะเป็นอันตรายต่อระบบหมุนเวียนเลือดและการทำงานของตับ ถ้าสารเคมีนี้ไม่ถูกกำจัดก่อนปล่อยสู่อากาศ คนสูดอากาศที่มีสารเหล่านี้เจือปนก็จะเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาวได้ ถ้าไม่มีการสอบสวนอย่างจริงจังถึงสาเหตุการป่วยของนักเรียนโปลีเทคนิคระยอง ก็พูดได้เพียงว่าอาการของคนไข้เหมือนอาการซึ่งเกิดจากสารเคมีที่ใช้ในโรงงานทีพีไอเท่านั้น

รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับว่า มีคนป่วยจากอากาศพิษ 41 เขตทั่วประเทศ โรงงานอุตสาหกรรมในเขตดังกล่าวต้องจ่ายเงินค่าชดเชยแก่รัฐเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย ถ้าโรงงานปรับปรุงระบบป้องกันมลพิษรัฐบาลจึงจะยกเลิกค่าชดเชย (จึงมีโรงงานหลายแห่งอ้างว่าได้ป้องกันมลพิษแล้ว)

หมู่บ้านอิโชสุเป็นสถานที่สุดท้ายในเมืองยกไคจิที่คุณซาวาอิและคุณอิโตพาพวกเราไปเยี่ยม ในอดีตหมู่บ้านชาวประมงแห่งนี้มีชื่อเสียงในการจับปลามาก เมื่อมีโรงงาน ชาวประมงขายปลาไม่ได้เลยเพราะมีกลิ่นเหม็น แม้จะเปลี่ยนวิธีหาปลาใหม่ ชาวประมงก็ลดจำนวนลง เหลือแต่คนเฒ่าคนแก่ เรือหาปลา 356 ลำ ลดเหลือ 30 ลำในช่วงที่ผมไปเยี่ยม อากาศพิษจากโรงงานยังทำให้ชาวบ้านเป็นโรคทางเดินหายใจ 140 คน แต่ราชการไม่ยอมรับว่าป่วยจากโรงงาน เคยมีการเดินประท้วงให้แก้ไขปัญหาน้ำเสียจากโรงงานแต่ท้ายที่สุดชาวประมงถูกจับขังคุก

ไม่ต่างจากหมู่บ้านแหลมฉบังที่ศรีราชาซึ่งประสบชะตากรรมที่คล้ายกันนี้ ชาวประมงที่แหลมฉบังเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ไม่ยอมออกจากพื้นที่ที่รัฐอ้างว่าได้เวนคืนเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกตั้งแต่ปี 2521 จนบัดนี้ พวกเขายังปักหลักอยู่ที่นั่น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง รอบหมู่บ้านกลายเป็นโรงงาน ชุมชนใหม่และท่าเรือน้ำลึก

ชาวประมงชราผู้หนึ่งเข็นรถจักรยานบนทางกลับสู่หมู่บ้าน เราเข้าไปคุย เขามีใบหน้าเศร้าสร้อยขณะหวนอดีตอันอุดมสมบูรณ์ของอ่าวอิเซแล้วย้อนกลับสู่ชีวิตในยุคน้ำเน่าอากาศพิษ ปี 2498 ซึ่งโรงงานผุดขึ้นริมทะเลถึงปี 2535 ซึ่งผมได้ยืนอยู่ที่นั่น นับได้ 38 ปี โรคปอดและโรคทางเดินหายใจยังมีอยู่ กลิ่นกำมะถันยังอบอวลอยู่ในบรรยากาศของเมือง หมายความว่า ญี่ปุ่น-ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้วได้ชื่อว่าดินแดนที่เต็มไปด้วยมลพิษและคนป่วยจากอุตสาหกรรม บัดนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น เมื่อความทรงจำครั้งเยือนเมืองยกไคจิผุดขึ้นมา ผมแว่วยินบทกวีบทหนึ่งจากริมทะเลที่ไหนสักแห่ง

…ลำพังบนชายหาด

รอคอยสันติภาพจวบทุกสิ่งจบสิ้น

ฉันได้ยินสายลมร้องเพลง

เพลงชีวิตสันโดษ

ได้โปรด…ดอกพลับพลึงบานที่ใด

เมื่อฉันปิดเปลือกตาลง

ฉันเป็นคลื่นลมแปรเปลี่ยน

วิ่งสู่อ้อมกอดของชายหาด

ที่ไหนหรือ…วิถีชีวิตดำรงอยู่อย่างเงียบงัน…