เรื่อง : ธารา บัวคำศรี
ใครบางคนที่ชัดเซพเนจรมาถึงแอ่งที่ราบเชียงใหม่–ลำพูน เสียงเพรียกอันลึกลับของชะตากรรมกระซิบอยู่ในหัวใจว้าเหว่ของเขา “ผู้ลอดถ้ำขุนตาลมาแล้ว ยากที่จะกลับไป”
รถไฟพาผมลอดถ้ำขุนตาลมาสู่ลำพูนครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน เมืองเล็กเงียบสงบท่ามกลางหุบเขาและแม่น้ำ คู่กับคนเมืองผู้ใจบุญสุนทาน เมื่อมาถึงผืนดินงดงามแห่งนี้ ยากที่จะกลับไปดังคำที่ลิขิตไว้
คนหละปูนให้ข้าวและน้ำแก่คนผ่านทางเสมอ ยามนั้น โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมผุดขึ้นทีละโรงสองโรง สถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ย่างกรายมาถึง
ใครจะคิดว่า ลำพูนต้องตกอยู่ในบรรยากาศ “เฮือนเย็น” คำพื้นบ้านที่บอกเล่าบรรยากาศเยือกเย็นเมื่อมีผู้คนล้มตายลง หมู่บ้านตกอยู่ในความวังเวง หลายคนทุกข์เศร้าเมื่อลูกหลานของพวกเขากลายเป็นเครื่องจักรชิ้นหนึ่งของโรงงาน และลูกสาวของหมู่บ้านหมดลมหายใจ
หลายปีก่อน แม่คนหนึ่ง รอคอยลูกสาวคนสุดท้อง มัธยา แสนสม กลับจากโรงงาน แต่เธอไม่กลับมาให้แม่เห็นหน้าตลอดกาล
วงเดือน โนโชติ เหลือแต่รูปแขวนไว้ฝาบ้าน เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของแม่ เวลาแห่งการจากพรากผ่านไปเนิ่นนานแล้ว แม่ยังมีรอยยิ้มหม่นเศร้า
ยุพิน นาคมูล อยู่ในความทรงจำของแม่ แม่ของยุพินเข้มแข็ง แต่คราใดที่แม่คิดถึงเธอ หยาดน้ำตาของแม่ไหลอาบแก้ม
ในบรรยากาศ “เฮือนเย็น” ที่ห่มคลุมเหนือหุบเขาเชียงใหม่ – ลำพูน คนหนุ่มสาวมุ่งหน้าสู่โรงงาน เสียงกระหึ่มของจักรกลและวิถีอุตสาหกรรมยึดกุมชะตากรรมของพวกเขาโดยสิ้นเชิง ในโมงยามเหล่านั้น แม่อีกหลายคนรอคอยลูกสาวกลับบ้าน
ผมมุ่งหน้าไปตามถนนลาดยางจากเขตเทศบาลเมืองลำพูนผ่านหมู่บ้านศรีบุญยืนข้ามแม่น้ำกวง ถนนสายนี้คือเส้นทางหลักที่คนงานใช้สัญจรไปมาด้วยรถมอเตอร์ไซด์ในยามเช้าและยามเย็น ตัดผ่านซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ระหว่างกิโลเมตรที่ 28-29 นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือขนาบอยู่สองฟากของไฮเวย์
ฝูงรถมอเตอร์ไซด์คือชีพจรของถนนสายนี้ เต้นเป็นจังหวะเดียวกับเข็มนาฬิกาที่เครื่องตอกบัตรลงเวลาในโรงงาน เวลาถูกแบ่งเป็นส่วนตามแผนการผลิตและความต้องการของตลาด ไม่มีฤดูกาลแห่งโลก ไม่มีเวลาที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับชีพจรหัวใจของคนหละปูนอีกต่อไป ที่นี่คือ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ขุมทองของนักลงทุน เขตการค้าเสรีของบรรษัทข้ามชาติ
ใครที่ผ่านไปมาแถวนั้น อาจเห็น “ตุงสีแดง” เครื่องหมายแห่งความตายที่ชาวบ้านนำมาปักไว้บริเวณที่แยก “ตุงสีแดง” คือ ชีวิตของดอกไม้หลายดอกจากโรงงานอุตสาหกรรมต้องสังเวยให้กับอุบัติเหตุ
กลางปี 2538 มีเด็กสาวสองคน อายุ 17-18 ปี จากหมู่บ้านทาสบเส้า เป็นคนงานบริษัทอิเลกทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในนิคมอุตสาหกรรม ออกจากงานกะกลางคืนเวลาตีสี่กว่า ชวนเพื่อนอีกสามคนเข้าร้านเหล้าติดหมู่บ้านสันฝ้าย ไม่ห่างจากโรงงาน ฟังเพลงเมาเหล้าจนได้ที่ แล้วขับมอเตอร์ไซค์ข้ามถนนกลับบ้าน เพื่อนทั้งสามข้ามพ้น แต่เด็กสาวทั้งสองโชคร้าย รถบรรทุกบนซุปเปอร์ไฮเวย์วิ่งมาด้วยความเร็วสูง พุ่งชนทั้งคนทั้งรถแหลกละเอียด จบชีวิตวัยแรกแย้มอย่างน่าอนาถ
ก่อนที่สี่แยกนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือจะมีสัญญานไฟจราจร คนงานและชาวบ้านชาวเมืองเอาชีวิตมาทิ้งหลายคน ผู้ประกอบการโรงงานลงขันรวมเงินเพื่อสร้างสะพานลอย เป็นคำพูดบอกต่อกันมาจนเงียบหายไป แม้ว่าติดตั้งสัญญานไฟจราจรแล้ว คนเดินทางไปมายังมีโอกาสตายเหมือนเดิม
จากสี่แยก ถนนเลียบผ่านหมู่บ้านสันป่าฝ้ายและนิคมอุตสาหกรรม ถึงบ้านแจ่มแล้วโค้งขึ้นทิศเหนือ ขนานกับเทือกเขาผีปันน้ำตะวันตก ผมบ่ายหน้าสู่ดอยขะม้อ ม่อนดอยที่มีภูมิสัณฐานรูปฝาชีเด่นตา ยอดดอยมีน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้เป็นมุรธาภิเษกสรงพระบรมธาตุหริภุญไชยและใช้เป็นยารักษาโรค ผู้คนต่างร่ำลือว่า พระอาจารย์สงวนแห่งสำนักสงฆ์ดอยขะม้อมีสมุนไพรรักษาอาการป่วยของคนงานนิคมอุตสาหกรรม
“มีคนงานจากนิคมฯ มาที่นี่เยอะ เพราะไปหาหมอตามคลินิก ตามโรงพยาบาลแล้วไม่ดีขึ้น จึงพากันมา ส่วนใหญ่มีอาการปวดหัว ถ้าเป็นผู้หญิงจะมีอาการปวดม้วนในมดลูก บางคนเป็นภูมิแพ้ เนื่องจากสภาพทำงาน กินอาหารไม่ถูกส่วน สารพิษขับออกมาไม่ได้ สมุนไพรที่อาตมามีอยู่ กล้าพูดได้เลยว่ากินแล้วอาการเหล่านี้จะหาย” บางบทตอนของการสนทนากับพระภิกษุ ผมจึงได้รับรู้เรื่องของดอกไม้ที่ลอยมากับกระแสลมฤดูร้อน
ดอกไม้ เด็กสาวผมสั้น ท่าทางแก่นแก้ว เชื้อสายไตยองแห่งตำบลมะเขือแจ้ ลำพูน พ่อแม่เป็นชาวนายากจน เมื่อจบชั้นประถมปีที่ 6 เธอเข้าไปเป็นกลจักรของโรงงานผลิตคอยล์สัญชาติญี่ปุ่น 5 ปี และจบชีวิตลงเมื่ออายุได้ 23 ปี
ร่อยรอยของดอกไม้เหลือไว้แต่ภาพถ่ายที่แม่ของเธอเก็บไว้ดูต่างหน้า แม่เปล่งเสียงเป็นถ้อยคำเศร้า “เสียใจนะ ถ้าลูกตายเพราะสารพิษ แม่เคยขอให้ออกจากโรงงานแต่ดอกไม้ไม่ยอมลาออก แม่ไม่รู้หรอกว่าลูกไม่สบายกี่ครั้ง ดอกไม้ขยันทำงาน ไม่เคยบ่น”
ดอกไม้ล้มป่วยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539 เธอเตรียมจะทำงานกะกลางคืน ตื่นขึ้นมาตอนบ่ายแล้วเป็นลม ชาตามแขนและขา พ่อแม่พาส่งโรงพยาบาลหริภุญชัยเมมโมเรียล นอนพัก 4 วัน ดอกไม้มีอาการเพ้อ หมอแนะนำให้ไปโรงพยาบาลประสาท (เชียงใหม่) หมอที่โรงพยาบาลประสาทบอกให้ไปโรงพยาบาลสวนปรุงที่รักษาผู้ป่วยโรคจิต แต่แม่เชื่อว่า เธออาจถูกผีเข้า จึงพาลูกสาวคนสุดท้องกลับบ้านเพื่อรักษากับหมอเมือง
แวบหนึ่ง ผมหวนนึกถึงคำพูดจากการสนทนากับพระอาจารย์สงวน “ถ้าเด็กคนนี้ไม่กินยาสมุนไพรของอาตมาภายใน 14 – 15 วัน ไม่รอดแน่” แม่พาดอกไม้มาถึงดอยขะม้อ พระไม่อยากรักษาเพราะเห็นอาการร่อแร่ของเธอ ด้วยเมตตาธรรมของสงฆ์ ดอกไม้จึงได้อยู่ที่สำนักสงฆ์ 3 วัน เธอไม่ได้กินยาสมุนไพรและอาการป่วยยังคงเดิม
“ดอกไม้รู้ตัวว่าชักจะเรียกแม่ให้เอาไม้มาขัดไว้ที่ปาก เพื่อไม่ให้กัดลิ้นตัวเอง เวลากินข้าวแม่ต้องป้อนให้ คิดช้ากว่าจะจำอะไรได้” แม่เล่าอาการของป่วยดอกไม้ ความทรงจำของผมผุดพรายขึ้นมา ดอกไม้มีอาการป่วยคล้ายกับ กมลชนก บัวศักดิ์ เด็กสาวจากจังหวัดพิจิตร อดีตคนงานนิคมอุตสาหกรรมผู้รอดชีวิตจากการสัมผัสสารเคมีชื่อ ไตรคลอโรเอธีลีน ซึ่งใช้เป็นตัวทำละลายในสายพานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เธอคลุ้มคลั่ง กัดลิ้นตัวเอง และความจำเสื่อม
เจ้าอาวาสวัดพันแหวน ประตูเชียงใหม่ รดน้ำมนต์ให้กมลชนกเพราะแม่ของเธอเชื่อว่าผีเข้า พระแนะนำให้ไปโรงพยาบาล วันที่ 22 กรกฎาคม 2537 กมลชนกถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการเป็นตายเท่ากัน จากการวินิจฉัยและเยียวยาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลราชวิถีซึ่งเดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ในเวลานั้น เธอจึงรอดตาย แต่สภาพร่างกายและจิตใจบอบช้ำ ต้องใช้เวลาฟื้นฟูสภาพตลอดอายุขัย
คล้ายกับกมลชนก ดอกไม้ได้รับการเยียวยาจากความเชื่อทางไสยศาสตร์ คนในหมู่บ้านบอกว่าถ้าดอกไม้รับเป็นคนทรงเจ้า(ม้าขี่) ภายใน 3-7 วัน อาการป่วยจะหาย แม่นำเธอกลับบ้าน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2539 เธอมีอาการชักเกร็งรุนแรงและหมดลมหายใจ
ในภายถ่าย เธอนอนหลับตา เลือดสีคล้ำออกจมูกและปาก มีผ้าห่มคลุมลำตัว แม่กับพ่ออยู่ข้างศพ ที่ฝาบ้านมีพวงหรีดแขวนไว้หนึ่งอัน พ่อแม่ทิ้งร่างไร้ชีวิตของเธอไว้ 2 วัน โดยไม่ยอมใส่ในโลงรอเธอฟื้นขึ้นมา แต่เธอไม่มีชีวิตอีกแล้ว
จากปากต่อปากในหมู่บ้าน บอกว่าเธอตายจากสารพิษในโรงงาน แต่ร่างของดอกไม้เป็นฝุ่นธุลี ใครเล่าจะพิสูจน์สาเหตุการตาย แม่ของเธอไม่รู้ว่าลูกสาวทำงานอะไรบ้างในโรงงาน เพื่อนร่วมงานของเธอรู้แต่ไม่มีใครพูดเพราะหมายถึงการทุบหม้อข้าวตัวเอง โรงพยาบาลหลายแห่งไม่รับรักษา หมอไม่ได้เขียนใบรับรองแพทย์ นายจ้างรับผิดชอบการตายของดอกไม้-ลูกจ้างรุ่นแรกที่ขยันขันแข็ง โดยจ่ายเงินค่าทำศพสามหมื่นบาทและประกันสังคมจ่ายให้อีกสองหมื่นบาท ก่อนตาย ดอกไม้ผ่อนรถมอเตอร์ไซค์จนหมด เหลือแต่เครื่องเสียงที่ทิ้งให้เป็นภาระของแม่
เทือกเขาผีปันน้ำตะวันตกเหยียดยาวอยู่เบื้องหลังเมื่อผมออกมาจากหมู่บ้าน ยอดดอยขะม้อโดดเด่นท่ามกลางหมู่ขุนเขา ผมปรารถนาให้น้ำศักดิ์สิทธิ์บนยอดดอยมีปาฏิหาริย์ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บของคนงานที่ป่วยจากสารพิษ แต่วันเวลานั้นกำลังผ่านพ้น เพราะสารพิษได้ขโมยอนาคตของพวกเขาไปแล้ว