เรื่อง : ธารา บัวคำศรี

my3rdbook

สังคมศาสตร์ปริทัศน์ปกสีแดงซีดเป็นรูปวาดนักรบบูชิโดชุดดำถือปืนกลมือท่าทางขึงขัง หัวเรื่องเขียนว่า ”ภัยเหลือง ภาค 3 กำจัดจักรวรรดินิยมล้มระบบผูกขาด” หนังสือเล่มนี้มีอายุหลายทศวรรษแล้ว เมื่อครั้งคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการและคุณนิวัติ กองเพียรเป็นฝ่ายศิลป์ นี่คือบันทึกสำคัญของสังคมไทยในห้วงหนึ่งของการต่อต้านการครอบงำทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมจากบรรดาจักรวรรดินิยมทุกชาติ (โดยเฉพาะญี่ปุ่น)

ผมเปิดอ่านทุกหน้าด้วยใจระทึกจนถึงประโยคที่ร้อยเรียงซุกซ่อนอยู่ในบทวิเคราะห์อันยาวเหยียดเรื่อง “เหตุที่ญี่ปุ่นต้องเป็นจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจ”

เมื่อปี 2516 นายฮิโรชิ อิโบะ ประธานคณะกรรมการวางแผนปัญหาปรอทเป็นพิษในญี่ปุ่นได้กล่าวถึงท่าทีและความต้องการของนายทุนญี่ปุ่นในการตั้งโรงงานนอกประเทศ เพื่อลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายป้องกันมลพิษและความเสี่ยงต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมอันเข้มงวดว่า “การผลิตโซดาไฟในญี่ปุ่นหาที่ทำลำบาก วิธีต่อไปต้องไปสร้างนอกประเทศละกระมัง”

จากนั้นมาจนบัดนี้ โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นและชาติอื่น ๆ ก็ยาตราทัพสู่ประเทศไทย…

บทความวรรณกรรมของสิงห์สนามหลวงเมื่อไม่นานมานี้ตอบคำถามเรื่องนักวิชาการบ้านเราชอบตามก้นฝรั่ง ก้นญี่ปุ่น ผู้ตอบสะท้อนปรากฏการณ์ของยุคสมัยอย่างคมคาย

…คุณยุ่นทำวิจัยไว้ล่วงหน้ามาตั้งแต่สมัยธีรยุทธ บุญมีและคณะ จัดงาน “สัปดาห์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น” เมื่อประมาณ 2 ทศวรรษก่อนว่า ให้ไอ้พวกนี้ต่อต้านไป ยิ่งต่อต้านมากเท่าใด มันก็ยิ่งซื้อสินค้าญี่ปุ่นมากขึ้นเท่านั้น เพราะคติพี่ไทยบอกว่า ตามใจคือไทยแท้ หนทางที่จะทำมาร์เก็ตติ้งได้ดีที่สุดกับชีวทัศน์แบบนี้คือ หาทางสร้างทัศนคติให้ชอบขี่มอเตอร์ไซค์กันมากๆ …คุณยุ่นคิดเลยเถิดไปอีกว่า แม้หากพรรคอมมิวนิสต์ไทยจะได้รับชัยชนะ แต่ทว่า “แมงกะไซค์” จะยิ่งใหญ่สืบไป…

คติแบบปัจเจกเช่นนี้กระมัง ญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งโรงงานแล้วก่อมลพิษขึ้น พวกเขาไม่เคยสะทกสะท้านกับกระแสต่อต้านเรียกร้องของคนงานผู้เจ็บป่วย ญาติผู้เสียชีวิต ผมจึงเห็นว่า นักลงทุนญี่ปุ่นคงจะคิดอะไรทำนองนี้ ให้มันต่อต้านไป ยิ่งต่อต้านมากเท่าใด ยิ่งไม่มีทางเลือก ถึงอย่างไร คนหนุ่มสาวของมันก็ต้องขายแรงงานอยู่ดี รัฐบาลของมันกระสันจะเป็น “นิวลี่ อินดัสเตรียสไลซ์ คันทรี่” เองนี่หว่า

นักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งหยิบยกแง่มุมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยชี้ให้เห็นว่า “บรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นคือส่วนที่มีชีวิตชีวาที่สุดของระบบทุนนิยมโลก” ผมขอเพิ่มเติมภาพอีกภาพหนึ่ง ญี่ปุ่นถูกเรียกว่าดินแดนที่เต็มไปด้วยมลพิษ–ด้านกลับของส่วนที่มีชีวิตชีวาที่สุดของระบบทุนนิยมโลก ด้วยเช่นกัน

แผนที่ Teikoku’s Complete Atlas of Japan นำเสนอให้เห็น “แผนที่มลพิษ” ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนญี่ปุ่นเกิดโรคอะไรบ้างจากการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นเครื่องเตือนใจให้กับความผิดพลาดที่ตัวเองก่อขึ้น

“ช่วงปี 2493-2503 อาจกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นคือดินแดนที่เต็มไปด้วยมลพิษ” เกน เอนโด นักศึกษาปริญญาเอกด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจจากญี่ปุ่น เขาเดินทางมาทำวิจัยที่เชียงใหม่เรื่องการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เราจึงได้คุยกัน ครั้งหนึ่ง เขาพูดด้วยสีหน้าจริงจัง ชี้ไปที่บ้านเกิดของเขาที่โอซาก้าบนแผนที่ “ตอนเด็ก ผมเกือบตาย เพราะไปดำน้ำเล่นริมทะเลที่มีแต่ขยะ”

“จากแผนที่คุณจะเห็นว่า ญี่ปุ่นมี Big Four หรือปัญหามลพิษ 4 เรื่องใหญ่ คือ โรคมินามาตะที่หนึ่ง (จังหวัดคูมาโมโตะ) โรคมินามาตะที่สอง (จังหวัดนิงาตะ) โรคอิไต-อิไต (จังหวัดโทยามา) และโรคหืดยกไกจิ (จังหวัดมิเอะ) มีขบวนการประชาชนต่อต้านจนกระทั่งรัฐบาลได้ตั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อม แก้กฎหมาย และพิพากษาคดีมลพิษ “ เอนโดบอก ” คุณน่าจะทำแผนที่มลพิษของไทยดูบ้าง”