เรื่อง : ธารา บัวคำศรี
ฤดูใบไม้ผลิในดินแดนอาทิตย์อุทัยหลายปีก่อน นักข่าวหญิงมาดสุขุมลุ่มลึกและดูเป็นเพื่อนที่อบอุ่นคนหนึ่ง ลุกขึ้นพูดในการสัมมนาว่าด้วยผลกระทบของทุนนิยมญี่ปุ่นต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อิดาบาชิเซ็นทรัลพลาซา-โตเกียว เธอพูดว่า “ถนนเพื่อการท่องเที่ยวหลายสายในภาคเหนือของไทยที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนเงินทุนทำให้ผู้หญิงและเด็กบนภูเขาเดินทางเข้าเมืองมาเป็นโสเภณีและแรงงานรับจ้าง โครงการอีสเทอร์นซีบอร์ดของไทยที่ได้เงินกู้จากญี่ปุ่นทำให้ชาวประมงรายย่อยล่มสลายเพราะหาปลาไม่ได้ น้ำทะเลสกปรกเป็นพิษ ป่าชายแลนถูกตัดเหี้ยนและกากสารพิษถูกทิ้งเกลื่อน”
เมื่อผมสัญจรสู่เกาะฮอนชูโดยคำเชิญของกลุ่มศึกษาวิจัยผลกระทบความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการของรัฐบาลญี่ปุ่นในฤดูใบไม้ผลิครานั้น นำเรื่องราวของชาวประมงหมู่บ้านแหลมฉบัง-หมู่บ้านในโอบกอดภูเขาและทะเลที่ตกอยู่ในกรงเล็บอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก-ไปบอกเล่ากับคนญี่ปุ่น “เขาจะเอาคนหาปลาออกไปจากชายฝั่งทะเลเพื่อสร้างท่าเรือใหญ่และโรงงาน” ผมจึงได้พบกับนักข่าวหญิงคนนั้น ยาโยริ มัตสุอิ ผู้หญิงเอเชียแห่งอาซาฮี ซิมบุน
ระยะเวลาสั้นๆ ทั้งในโตเกียว แหลมฉบัง มาบตาพุด กรุงเทพมหานคร และภาคเหนือของไทย ท่าทีกระฉับกระเฉงและความคิดเฉียบคมของเธออยู่ในความทรงจำของผมตลอดเวลา โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวที่เราได้สนทนากัน
“สารเคมีระเบิดที่คลองเตย-กากสารพิษที่กาญจนบุรี” “พอง-ชี-มูลเน่า” “ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่แม่เมาะ” “โรคลึกลับที่ลำพูน” เรื่อยมาถึง “กากสารพิษที่อิสเทอร์ซีบอร์ด” ฯลฯ ต่างสะท้อนด้านมืดของการพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่ง คือประจักษ์พยานของหายนะภัยที่มนุษย์ก่อขึ้น
ชีวิตและงานของยาโยริ มัตสุอิ ผ่านเข้ามาสู่ความคิดของผม
“ช่วงปีพ.ศ.2508-2512 ฉันสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะนั้นฉันพักอยู่กับครอบครัวชาวประมงครอบครัวหนึ่ง ลูกสาวของพวกเขาเป็นโรคมินามาตะมาแต่แรกเกิด ขณะที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ฉันเริ่มตั้งคำถามถึงความหมายและโครงสร้างสังคมญี่ปุ่นที่พยายามไต่เต้าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ”
เธอบอกว่า “เรื่องมลพิษสิ่งแวดล้อมนี้เอง ที่นำฉันมายังประเทศอื่นๆ ในเอเชียอีกครั้งหนึ่ง”
ยาโยริ มัตสุอิ เติบโตขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมของครอบครัวซึ่งเชื่อว่ามนุษย์เราเกิดมาเท่าเทียมกัน ทำให้เธอปรับตัวเข้ากับสังคมศักดินาญี่ปุ่นอย่างลำบาก ต่อมา เธอตัดสินใจไปเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ แต่ทัศนคติเหยียดผิวในสังคมตะวันตกทำให้เธอผิดหวัง ระหว่างกลับบ้านทางเรือจากชิคาโกผ่านเมืองท่าหลายแห่งในเอเชียเวลานั้นเป็นช่วงปี 2498-2502 ความจริงของเอเชียที่ประจักษ์ต่อสายตาทำให้เธอตกตะลึงที่สุดในชีวิตวัยสาว
คนนอนตัวขดตายอยู่บนถนนในมุมไบ(บอมเบย์) ฝูงเด็กขอทานในโคลัมโบ ผู้หญิงเร่ขายของที่อ่อนระโหยโรยแรงข้างถนนในไซ่ง่อน คือด้านกลับของความอยู่ดีกินดีที่เธอพบในยุโรปและอเมริกา “เราทุกคนเป็นมนุษย์ อยู่บนโลกใบเดียวกัน ทำไมเพื่อนมนุษย์บางคนจึงทุกข์ยากเช่นนั้นหนอ” เธอคิด
ที่บ้านเกิด เธอต้องเผชิญอุปสรรคในการหางานทำจากอคติทางเพศ ในเวลานั้น อาซาฮีชิมบุน แทบจะเป็นหนังสือพิมพ์แห่งเดียวที่รับผู้หญิงจบปริญญาตรีเข้าทำงาน เธอล่า “น่าประหลาดที่พบว่างานหนังสือพิมพ์นี้ทำให้ฉันแสดงความโกรธเกรี้ยวต่อความไม่เป็นธรรมในสังคมญี่ปุ่นได้”
ช่วงปี 2513-2517 ยาโยริได้เห็นการรณรงค์ต่อต้านมลพิษที่แผ่ขยายทั่วญี่ปุ่น โรงงานถูกบังคับให้นำมาตรการควบคุมและป้องกันมลพิษมาใช้อย่างเข้มงวด รัฐบาลออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ศาลนำแนวคิดใหม่ให้บริษัทรับผิดชอบค่าเสียหายจากมลพิษ เธอเห็นว่านี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นย้ายโรงงานสกปรกมาที่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย
พร้อมกับความสนใจเอเชีย เธออยู่ในบรรยากาศของขบวนการสิทธิสตรีขณะเดินทางเขียนข่าวสิ่งแวดล้อมในอเมริกา ยุโรป อดีตสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2514 เธอประหลาดใจที่มีคำถามกับตัวเองในช่วงสิบปีแรกของการเป็นนักข่าว ที่ผ่านมาเธอเห็นตัวเองในฐานะ “ผู้สื่อข่าว” หาใช่ “ผู้สื่อข่าวหญิง” ของหนังสือพิมพ์ที่มีเพื่อนร่วมงานร้อยละ 99 เป็นผู้ชาย
เธอกลับญี่ปุ่นพร้อมด้วยความเชื่อมั่นในความเป็นเฟมินิสต์ เธอผลักดันเนื้อหาข่าวด้านผู้หญิงในหน้าหนังสือพิมพ์ จาก คอลัมม์ “ผู้หญิง” หรือ “ครอบครัว” ไปสู่คอลัมม์ “สังคม-การเมือง” ประเด็นเกี่ยวกับเพศ(Gender) ทำให้เธอค่อยๆ รู้แจ้งว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่เพียงแต่มาจากการดูถูกและกีดกันผู้หญิงในประเทศ หากแต่มาจากการกดขี่ขูดรีดผู้หญิงในเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ ในโลกที่สามด้วย
การเข้าร่วมกลุ่มคนหนุ่มสาวเพื่อศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2517 โดยเดินทางผ่านเวียดนามใต้ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ยิ่งทำให้เธอประจักษ์ชัดต่อการขยายพลังเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งศาสตราจารย์รีเนท คอนสแตนติโน ผู้สนับสนุนขบวนการชาตินิยมฟิลิปปินส์เรียกมันว่า “การรุกรานครั้งที่สอง”
การทำงานหนังสือพิมพ์เชิงธุรกิจของญี่ปุ่นซึ่งมีหลักการว่า “รายงานข่าวอย่างเป็นกลางปราศจากอคติ” ทำให้ยาโยริหาทางออกด้วยการร่วมก่อตั้งสมาคมผู้หญิงแห่งเอเชียเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย จากมุมมองของผู้หญิง โดยเน้นไปที่ประเด็นต่างๆ เช่น เซ็กส์ทัวร์ ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ความรับผิดชอบต่อสงครามของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่น และการขูดรีดแรงงานหญิง เป็นต้น
“ผู้หญิงคืออาณานิคมสุดท้ายโดยแท้” เธอเขียน
ภาพของตัวแทนผู้หญิงของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่แต่งกายด้วยชุดสวยงามในสถานที่โอ่โถงซึ่งใช้จัดการประชุมสตรีโลกโดยองค์การสหประชาชาติที่เม็กซิโกซิตี้ในปี 2518 และแม่ผู้ยากไร้ชาวเม็กซิกันอินเดียนคนหนึ่งที่อุ้มลูกน้อยขอทานกลางสายฝนอยู่ด้านนอกเป็นภาพขัดแย้งที่เธอไม่อาจลืม แม่ลูกคู่นั้นส่งสายตาคล้ายถามถึงชีวิตของเธอในสังคมญี่ปุ่นอันมั่งคั่ง
การประชุมขององค์กรพัฒนาเอกชนที่จัดขึ้นที่เม็กซิโกซิตี้ในเวลาเดียวกัน มีเหตุการณ์โต้แย้งถึงขั้นแย่งไมโครโฟนระหว่างผู้หญิงอเมริกันผู้อ้างว่า ในสังคมอเมริกันที่มั่งคั่ง หญิงและชายต้องเท่าเทียมกัน และผู้หญิงจากละตินอเมริกาและประเทศอื่นๆ ในโลกที่สามผู้กล่าวว่า ประเทศร่ำรวยดูดทรัพยากรไปจากโลกที่สาม-ดินแดนซึ่งผู้หญิงยากจนต้องต่อสู้ให้มีชีวิตรอดไปวันๆ จากการโต้เถียงนี้ ยาโยริสำนึกทันที “ผู้หญิงญี่ปุ่นมีสองสถานะ คือ ถูกกีดกันจากสังคมญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็ได้รับผลประโยชน์จากการขูดรีดผู้หญิงเอเชียประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกับผู้หญิงอเมริกันเราเป็นทั้งเหยื่อและผู้กดขี่
ยาโยริมองว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นสามารถสร้างสมานฉันท์กับผู้หญิงเอเชียอื่นๆ และโลกที่สามได้นั้น ขึ้นอยู่กับการโต้ตอบและท้าทายระบบญี่ปุ่นที่กดขี่พวกเธอ ผู้หญิงจำนวนน้อยเหลือเกินที่จะยืนหยัดเช่นนั้นในสังคมญี่ปุ่นที่ทั้งหญิงและชายมัวหลงเพลินอยู่กับความมั่งคั่ง
“หลายครั้ง ฉันรู้สึกว่าถูกโดดเดี่ยวจากกองบรรณาธิการอาซาฮีชิมบุน ถูกต่อต้านอย่างแรงจากผู้ชายญี่ปุ่นเมื่อฉันเริ่มรณรงค์ต่อต้านเซ็กส์ทัวร์ ผู้ชายจากประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเดินทางไปซื้อบริการทางเพศจากผู้หญิงในประเทศยากจน การต่อต้านเซ็กส์ทัวร์เป็นการท้าทายโครงสร้างที่มีลักษณะกดขี่ขูดรีดของระบบเศรษฐกิจการเมืองของญี่ปุ่น และท้าทายลักษณะกดขี่ทางเพศของผู้ชายญี่ปุ่น”
ช่วงที่เธอทำข่าวเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวเป็นเวลาเดียวกับที่มีโอกาสเดินทางไปยังสิงคโปร์ในฐานะผู้สื่อข่าวพิเศษภาคพื้นเอเชียของอาซาฮีชิมบุนระหว่างเดือนธันวาคม 2524 ถึงเมษายน 2528 “ครั้งนั้นหัวหน้ากองบรรณาธิการถามฉันว่าต้องการทำงานเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศไหม ฉันตอบว่า แน่นอนเลยถ้าอยู่ในเอเชีย เพื่อนนักข่าวหลายคนถามว่าทำไมต้องเป็นเอเชีย เพื่อนบางคนก็ว่า คุณไม่รู้หรือไง รายงานข่าวจากที่นั่น หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นไม่ค่อยรับเรื่องลงพิมพ์หรอก แต่ฉันตั้งใจแล้วว่าอยากเห็นเอเชียส่วนอื่นด้วยสายตาของตัวเอง อยากรู้จักมักคุ้นกับผู้คน อยากรู้ว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับญี่ปุ่น”
สามปีครึ่งกับประสบการณ์อันท่วมท้น เธอเดินทางไปเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง(นิคส์เอเชีย), ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเชีย อินโดนิเชียและสิงคโปร์(กลุ่มอาเซียน), อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา และเนปาล (เอเชียใต้ที่ยากจนที่สุด), เวียดนาม กัมพูชา และลาว (สังคมนิยมแห่งอินโดจีน), พม่า รวมทั้งออสเตรเลีย
“แรกๆ ฉันตื่นตะลึงกับภาพอันแตกต่างหลากหลาย ทั้งประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม ทั้งอิสลาม ฮินดู พุทธ ทั้งกลุ่มเชื้อชาติ วิถีชีวิต ภาษา ช่องว่างทางชนชั้นและสังคม ซึ่งหยั่งรากลึกและรุ่มรวย ผู้เคยชินกับวัฒนธรรมที่มีลักษณะส่วนใหญ่เหมือนๆ กันอย่างฉันต้องพิศวงงงงวย แต่วันเวลาผ่านไป มนต์ขลังแห่งเอเชียได้เบ่งบานขึ้นในตัวฉัน…”
คือห้วงชีวิตหนึ่งของผู้หญิงที่อยู่เบื้องหน้าผม-ยาโยริ มัตสุอิ
เธอยิ้มให้กำลังใจขณะผมเริ่มต้นเล่าเรื่องเงินทุนญี่ปุ่นกับหมู่บ้านชาวประมงชายฝั่งทะเลตะวันออก เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม เธอเข้ามาคุยกับผมเหมือนพี่สาวใจดี วันต่อมา อาซาฮีชิมบุนก็ได้ลงข่าวการประชุมนี้
“มาญี่ปุ่นคราวนี้ คุณจะไปที่ไหนบ้าง” ยาโยริถาม
“เพื่อนๆ บอกว่าอยากพาผมไปดูเขตอุตสาหกรรมที่เมืองยกไกจิ อุตสาหกรรมไฮเทคในที่ราบสูงภาคกลางของฮอนชู แล้วก็อุตสาหกรรมอิสเทอร์นซีบอร์ดของญี่ปุ่น”
“จะเป็นประโยชน์กับคุณมากทีเดียว”
ผมบอกเธอว่าจะติดตามผลงานเขียนของเธอตอนต่อไป เธอยิ้มกว้างรับคำก่อนอำลาและกลืนหายเข้าไปในฝูงชนบริเวณด้านหน้าอิดาบาชิ เซ็นทรัลพลาซาท่ามกลางกระแสลมในฤดูใบไม้ผลิอันเย็นเยือก