เรื่อง : ธารา บัวคำศรี

my3rdbook

เสียงร้องคร่ำครวญ ทุกข์ทรมาน – ได้ยินไหม ?

แขนขาที่บิดเบี้ยวโค้งงอ – เห็นไหม

ฝันร้ายที่ฝังลึกในความทรงจำ

ข้าวที่ถูกปรอทย้อมเป็นสีชมพู

ปลาตัวโตสีเทามันปลาบอาบสารพิษจากทะเลอันศักดิ์สิทธิ์

คืออาหารที่เรากิน

สมาชิกครอบครัวของเรา

แม่แห่งมินามาตะ ( ญี่ปุ่น )

พ่อแห่งคีโนรา ( แคนาดา )

ลูกชายแห่งอะลาโมกอร์โด ( สหรัฐอเมริกา )

ลูกสาวแห่งอิรัก

อาการคลุ้มคลั่ง โรคร้ายของพวกเรา

เป็นภาพ เป็นข่าว สาแก่ใจ

ลืมเสียเถอะ คำเตือนมรณะ

จนกว่าหายนะจะมาถึงคุณ

ถ้อยคำเขียนเตือนมิให้หลงลืมโรคพิษปรอทที่เกิดกับคนทั่วโลกและโรคมินามาตะ-โศกนาฏกรรมของการพัฒนาอุตสาหกรรมญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ทันตแพทย์อุทัยวรรณ กาญจนกามล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางไปญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2539 เล่าเรื่องสารพิษและความตายที่ลำพูนในการประชุมสภาสิ่งแวดล้อมแห่งญี่ปุ่น(JEC)ที่เมืองคูมาโมโตะ และมีโอกาสไปเยี่ยมเมืองมินามาตะ

“มลพิษที่ลำพูนเพิ่ง 5-6 ปี ในประเทศไทยก็ไม่เกิน 30 ปี แต่ที่มินามาตะ บริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อ Nihon Chisso เข้าไปตั้งโรงงานเคมีเมื่อ 46 ปีที่แล้ว พบโรคมินามาตะจริงๆ เมื่อราว 28 ปีที่แล้ว ผู้ป่วยฟ้องศาล กว่าโรงงานจะยอมรับผิดและจ่ายเงินชดเชย 10 กว่าปีที่แล้วนี่เอง” ทพ. อุทัยวรรณบอกเป็นนัยว่าชัยชนะของประชาชนต้องใช้เวลาและความจัดเจน

สำหรับญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมเป็นพิษคือประวัติศาสตร์ของการทำลายซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมยักษ์ทำกับประชาชนผู้ไม่มีอำนาจอะไรเลย ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ โรคจากงานอุตสาหกรรม และสุขภาพผู้บริโภคนั้นก่อให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ทรงพลังมากกว่าภัยพิบัติทางสังคมรูปแบบอื่นนับตั้งแต่ญี่ปุ่นก้าวสู่ยุคทันสมัย

บทกวีชื่อ Kukai jodo เขียนโดยมิชิโกะ อิชิมูเระ พรรณาความงามของเมืองมินามาตะและความทุกข์ทรมานจากโรคด้วยภาษาที่มีพลังและรุ่มรวย บทกวีของเธอได้รับรางวัลแมกไซไซ

ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พานักศึกษาออกภาคสนามที่ลำพูนหลายครั้ง นักศึกษาไม่คุ้นเคยกับโลกนอกห้องเรียน โลกที่ถูกแต่งหน้าทาปากด้วยสารพิษและเงิน อาจารย์บอกว่า “เรากำลังบันทึกประวัติศาสตร์มลพิษของไทย”

มีอุบัติการณ์ของโรคเรื้อรังจากงานอุตสาหกรรมหลายกรณี แม้ไม่รุนแรงเฉียบพลันเท่ากรณีก๊าซพิษรั่วจากโรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ที่โภปาล(อินเดีย) หรือโศกเศร้าเท่ากับมินามาตะ(ญี่ปุ่น) แต่ด้านอัปลักษณ์ของอุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนาพอจะเรียกว่าเป็น Slow Motion Bhopal สารเคมีระเบิดที่คลองเตยคือหลักไมล์คอยเตือนใจให้กับเรา

โรคมินามาตะกับโรคลึกลับที่ลำพูนเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ แต่สะท้อนให้เห็นสังคมเสี่ยงภัยไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก ศาลญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีมินามาตะ ส่วนกฎหมายไทยล้าหลังกว่าสถานการณ์มลพิษ ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ จึงกลายเป็นว่าเพราะชะตากรรมหรือโชคร้ายคนงานจึงป่วยและตาย

ค่ำคืนหนึ่ง ผมเลือกภาพถ่ายสองภาพ ชาวมินามาตะกับชาวลำพูนที่ซึ่งหายนะได้มาถึงพวกเขาแล้ว