ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก Shut Up or Shut Down โดย Tim Forsyth นิตยสาร Asia, inc , เมษายน 2537 หน้า 30-37
เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ที่แพทย์หญิงอรพรรณ เมธาดิลกกุล ทำการสืบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของคนงานในโรงงานประกอบชิ้นส่วนจานขับแผ่นดิสก์คอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑลของกรุงเทพฯ ของบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน แพทย์หญิงท่านนี้รู้ว่างานที่ทำอยู่จะต้องมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เธอพบว่ามีสารตะกั่วในเลือดของคนงานในโรงงานสูงกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งมีส่วนทำให้คนงานเรียกร้องและประท้วงเพื่อให้มีการปรับปรุงสภาพการทำงานที่ดีขึ้น
วันหนึ่งในเดือนสิงหาคม 2534 ขณะที่เธอเดินอยู่ในแผนกประกอบชิ้นส่วนของโรงงาน เธอรู้สึกแปลกใจมากเมื่อถูกเรียกตัวไปที่ห้องคณะกรรมการบริษัท ที่นั่นเจ้าหน้าของบริษัทยืนล้อมรอบเธอและบอกให้ยกหูโทรศัพท์
คนที่โทรศัพท์เข้ามาคือ นายสถาพร กวิตานนท์ เลขานุการของนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย เมื่อ พญ. อรพรรณรับสาย นายสถาพรก็ตรงเข้าสู่ประเด็น “คุณจะทำให้ประเทศไทยเสียหาย กล้าดียังไงที่มาตรวจสอบซีเกท ผมไล่คุณออกได้นะ” เธอนิ่งเงียบแต่ไม่สะทกท้านต่อคำขู่แม้เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงก็ตาม และโต้กลับว่า “ดิฉันไม่สนใจหรอกว่าคุณมีตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหน ดิฉันมีงานที่ต้องทำ ทำไมคุณไม่ทำงานของคุณล่ะ” เมื่อนายสถาพรได้รับการติดต่อจาก Asia Inc. เขารับว่าได้โทรศัพท์ถึง พญ. อรพรรณ และปฏิเสธว่าไม่ได้คุกคามเธอแต่ประการใด
เมื่อเนื้อหาของการสนทนากลายเป็นข้อโต้แย้ง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอะไรจะตามมา ในเดือนกันยายน 2534 หนึ่งเดือนหลังจากรับโทรศัพท์จากนายสถาพร แพทย์หญิงอรพรรณโดนถอดถอนออกจากการสอบสวนกรณีคนงานซีเกท และหน่วยงานที่เธอสังกัดอยู่คือ สถาบันแพทย์อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมถูกสั่งให้ปิดลงพร้อมกับการดำเนินงานด้านการรักษา และตรวจสอบการเจ็บป่วยของคนงานจากมลพิษอุตสาหกรรม
อาจกล่าวได้ว่า การปิดสถาบันแพทย์แห่งนี้ก็เพื่อต้องการปกปิดกรณีมลพิษอุตสาหกรรม หรือเพื่อให้ข้อโต้แย้งดังกล่าวอ่อนลง อีกทั้งชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับนักลงทุนต่างชาติมากกว่าคนงานไทย และชี้ชัดถึงการที่รัฐบาลเฉยเมยต่องานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของแรงงาน
แม้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องออกมาแก้ต่างกรณีความไร้ประสิทธิภาพของการดูแลด้านความปลอดภัยหลังจากโศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ซึ่งทำให้มีคนงานเสียชีวิตอย่างน้อย 188 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2536 ไปแล้ว หลังจากกรณีการป่วยและเสียชีวิตของคนงานที่ซีเกท คนงานหลายคนที่ทำงานอยู่ในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นที่ภาคเหนือของไทยได้เสียชีวิตลง และยังไม่มีหน่วยงานรัฐลงไปตรวจสอบสาเหตุและทำการดูแลรักษาคนงานที่เหลืออยู่
พญ. อรพรรณเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของสถาบันแพทย์อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม แพทย์หญิงระดับ 8 ผู้มีความกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วท่านนี้ นั่งทำงานอยู่ในห้องเล็ก ๆ ไม่มีหน้าต่างบนชั้น 9 ของโรงพยาบาล เธอถอดแว่นและเช็ดน้ำตาเมื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว
เหตุการณ์เริ่มต้นในช่วงปี 2533-2534 เมื่อหน่วยงานรัฐทราบว่า คนงาน 4 คน ที่โรงงานซีเกท จังหวัดสมุทรปราการได้เสียชีวิตลง ทุกคนมีอายุราว 20 ปีไล่เลี่ยกัน เพื่อนที่ทำงานในแผนกเดียวกันมีประวัติการป่วยที่คล้ายคลึงกันคือ ปวดหัว เป็นลม ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย พญ. อรพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันแพทย์อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นถูกร้องขอจากระทรวงสาธารณสุขให้ตรวจสอบสาเหตุการการเสียชีวิต รายงานการศึกษาของเธอระบุว่า สารพิษอุตสาหกรรมอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ในที่สุดข้อเสนอดังกล่าวถูกตัดออก “แย่มากที่ดูเหมือนว่า คนที่เป็นรัฐมนตรีและคนที่ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต” เธอกล่าว
บริษัทซีเกท เป็นผู้ผลิตจานขับฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก บริษัทแม่ตั้งอยู่ที่หุบเขาซิลิกอน แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซีเกทย้ายฐานการผลิตโรงงานประกอบชิ้นส่วนเข้ามาตั้งที่สิงคโปร์ในปี 2525 และเข้ามาตั้งในประเทศไทยอีก 2 โรงงานในปี 2531 และ 2532 ปัจจุบันเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการจ้างงานมากที่สุดในประเทศไทย
นาย Robert Katzive รองประธาน Disk Trend Inc. บริษัทวิจัยด้านอุตสาหกรรมที่แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า “ซีเกทเป็นผู้ผลิตจานขับฮาร์ดดิสก์ในระดับโลก บริษัทแสวงผลกำไรจากการรักษาความทันสมัยของผลิตภัณฑ์ และไปตั้งโรงงานในสถานที่ที่มีแรงงานราคาถูก” ขณะเดียวกัน ซีเกทก็ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ว่าสนใจผลกำไรมากกว่าคนงาน แม้แต่นาย Alan Shuqart หัวหน้าฝ่ายบริหารซึ่งให้สัมภาษณ์นิตยสาร electronics business ในปี 2534 ยอมรับว่า “ซีเกทมีภาพพจน์ที่ไม่ค่อยดีนักในกลุ่มคนงาน”
ราวปี 2533 ซีเกทเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางยุทธศาสตร์ หลังจากมีการแข่งขันด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีในเวลาต่อมา รวมทั้งการผลิตแบบสินค้ามวลชนในขณะนั้น คู่แข่งใหม่อย่างเช่น คอนเนอร์ เพอร์ริเพอรัล (conner Peripheals Inc.) ออกมาแข่งขันกับซีเกทเพื่อเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีโดยรักษาส่วนแบ่งการตลาดและหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านตลาดใหม่ ๆ ที่จำกัดมากขึ้น
แผนกตลาดที่มีการแข่งขันมากที่สุดของซีเกทคือจานขับแผ่นดิสก์ขนาด 3 นิ้วครึ่งอยู่ในสภาพเกือบขาดทุน พร้อมกับปัญหาที่รุมเร้าคือ กำไรลดลงเกือบร้อยละ 40 จาก 117.2 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2533 เหลือเพียง 72 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2534 และสหภาพแรงงานต้องการค่าจ้างมากขึ้นรวมทั้งสภาพการทำงานที่ดีขึ้น
สำหรับคนงาน 16,000 คน ในประเทศไทย เป็นช่วงบรรยากาศของการลดต้นทุนและปรับยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นจังหวะที่ พญ. อรพรรณทำการตรวจสอบสภาพการทำงานในโรงงาน และสาเหตุที่เป็นไปได้ของการเสียชีวิตของคนงานพอดี
เธอวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากคนงานซีเกท 1,175 คน ที่โรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ และพบว่า ร้อยละ 36 ของตัวอย่างเลือดมีระดับสารตะกั่วมากกว่า 20 ไมโครกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร ในรายงานของเธอซึ่งเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2534 นั้น เธอพบว่า ข้อมูลจากรายงานระบุถึงระดับของพิษตะกั่วเรื้อรังอย่างกว้างขวางในโรงงาน และการเสียชีวิตอาจเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ ถ้าไม่เป็นผลมาจากพิษตะกั่วเรื้อรัง ก็เป็นเพราะว่ามีการสะสมสารตะกั่วสูงมากในคนงานบางคน แหล่งที่มาของตะกั่วในโรงงานอิเลกทรอนิกส์ส่วนใหญ่มาจากการบัดกรีสารประกอบที่เป็นโลหะและจากการสัมผัสกับอุปกรณ์และแผงวงจรไฟฟ้า
จดหมายที่ส่งถึงกระทรวงสาธารณสุข ซีเกทตอบว่า ระดับสารตะกั่วในเลือดของคนงานส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่า 40 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ภายใต้กฎหมายไทย และกฎหมายระหว่างประเทศยอมรับได้ถึง 50 ไมโครกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร โดยทั่วไป ค่าเหล่านี้แม้ว่าจะมีระดับถึง 80-120 ไมโครกรัมต่อ 100 มิลลิลิตรซึ่งเป็นจุดที่อันตรายถึงชีวิตก็ตาม ยังหมายถึงว่าคนงานควรจะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ต่างออกไป ซีเกทยังอ้างถึง ระดับสารตะกั่วในเลือดที่สูงมากของคนงานอาจเป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ มากกว่า
อย่างไรก็ตาม พญ.อรพรรณตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาที่คล้ายคลึงกันและทำขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันระบุว่า มีเพียงร้อยละ 8 ของตำรวจจราจรในกรุงเทพฯ ที่ส่วนใหญ่รับไอเสียจากยานยนต์อย่างต่อเนื่องมีสารตะกั่ว 20 ไมโครกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร เทียบกับประชากรโดยเฉลี่ยในกรุงเทพฯ เพียงร้อยละ 2
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ที่ประกอบวิชาชีพอิสระหลายคนกล่าวว่า พิษตะกั่วเรื้อรังอาจไม่ใช่เป็นสาเหตุของการเสียชิวิตก็ได้ พญ. อรพรรณเห็นว่า คนงานของซีเกทอาจได้รับสารพิษตัวอื่นในที่ทำงาน “คนงานซีเกทจำนวนมากกว่า 200 คน บ่นว่ามีอาการปวดหัว นอนไม่หลับ ปวดตามร่างกายและอ่อนเพลีย แม้กลุ่มอาการเหล่านี้ปรากฏขึ้นจากพิษตะกั่วเรื้อรัง การสูดดมสารเคมีที่เรียกว่าสารทำละลายซึ่งใช้ในการล้างแผ่นวงจรก่อนนำอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ติดเข้าไป เป็นผลทำให้อาการของคนงานทรุดลงไปอีกได้” เธอกล่าว
ถึงแม้การศึกษาของ พญ. อรพรรณจะไม่ได้พิสูจน์ว่า สารพิษในโรงงานเป็นสาเหตุการเสียชีวิต มันก็เป็นไปได้สูงทีเดียว สื่อมวลชนต่างรายงานข้อสรุปของเธอ และกลางเดือนสิงหาคม 2534 ความหวาดกลัวเรื่องพิษตะกั่วส่งผลให้คนงานซีเกทนับร้อยคนพร้อมใจกันชุมนุมประท้วงที่หน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัทในกรุงเทพฯ และหน้าสถานทูตอเมริกัน เมื่อซีเกทสั่งปลอดคนงาน 87 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ได้มีการเรียกร้องให้คนงานที่ถูกปลดเข้าทำงานต่อและจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้น ซีเกทปฏิเสธข้อเสนอและปลดคนงานออกอีก 621 คน
ในที่สุด วันที่ร้อนอบอ้าววันหนึ่งของเดือนกันยายน ประเด็นขัดแย้งขึ้นเกือบถึงจุดสูงสุด คนงานซีเกทรวมตัวกันอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเปิดเผยข้อมูลเรื่องปัญหาสุขภาพของพวกเขา รวมถึงการเรียกร้องต่อนายจอร์ช บุช ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งมาเยือนเมืองไทยในขณะนั้น
แต่ทั้งบุชและเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยเองไม่มีความสนใจที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคนงาน แม้ว่าซีเกทไม่เต็มใจที่จะเปิดเผยรายละเอียดทางการเงินในการดำเนินกิจการในเมืองไทย ก็เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าบริษัทนำเงินลงทุนเข้าประเทศกว่าร้อยล้านดอลล่าร์ รวมทั้งการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีให้มีการขยายอุตสาหกรรมต่อไป อีกทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเองก็กระตือรือร้นเป็นพิเศษในการดึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ให้เข้ามาลงทุน นับตั้งแต่ ทุนจากญี่ปุ่นชะลอตัวลง ในปลายทศวรรษ 1980
หกสัปดาห์หลังจากรายงานฉบับสมบูรณ์ของ พญ.อรพรรณ ส่งไปที่ซีเกท เธอถูกย้ายจากการสอบสวนกรณีดังกล่าว และสถาบันแพทย์ที่เธอทำงานอยู่ถูกสั่งให้ปิดในช่วงเวลาเพียง 16 เดือนหลังจากการก่อตั้ง เธอย้อนความว่า “มีคนมาเอาป้ายชื่อลงและออกไปไว้นอกสำนักงาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาบอกว่าสำนักงานของหมอถูกปิดแล้ว ผู้ร่วมงานก็บอกจะไปหางานที่อื่นทำ หมอไม่เข้าใจ นี่คืองานที่หมอต้องทำ” การศึกษากรณีซีเกทครั้งใหม่ทำโดยนักอนามัยอุตสาหกรรมจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งซึ่งแก้ต่างให้โรงงานซีเกท ท้ายที่สุด ประเด็นที่โต้แย้งค่อย ๆ จางหายไป และไม่มีการตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา
พญ. อรพรรณยังคงทำการวินิจฉัยเบื้องต้นให้กับคนงานซีเกทประมาณ 200 คน ที่ป่วยจากพิษตะกั่วเรื้อรัง เหตุนี้เองจึงมีข้อสงสัยว่า สถาบันแพทย์อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมถูกปิดจริงหรือไม่ ดร.ณรงค์ศักดิ์ องคสุวกล รองผู้อำนวยการกรมอนามัยอ้างว่า มันถูกลดความสำคัญลง เขากล่าวว่า “หลังจากกรณีซีเกท กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้กดดันสถาบันแพทย์อาชีวอนามัยแต่ให้ทบทวนบทบาทของตัวเองเสียใหม่ เราต้องการให้สถาบันมีส่วนร่วมในบทบาทนี้กับหน่วยงานอื่น ๆ ให้มากขึ้น”
แต่ความจริงคือ ในจำนวนเจ้าหน้าที่สถาบัน 6 คน ที่มีอยู่ในช่วงการตรวจสอบกรณีซีเกท เหลือ พญ. อรพรรณคนเดียวที่ยังทำงานอยู่ ยิ่งกว่านั้นคือ ไม่มีอะไรบ่งบอกเลยว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรกับงบประมาณ 17.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ปฏิบัติงาน 200 คน และแพทย์อีก 70 คน ที่จัดเตรียมไว้ในขั้นต้นให้กับสถาบันนี้ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7
การยุบสถาบันแพทย์อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมได้ลดทอนประสิทธิภาพของโครงการรักษาผู้ป่วยสารพิษอุตสาหกรรม รัฐบาลมีเจ้าหน้าที่ 2 คน สำหรับดูแลงานอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมภายใต้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม แต่จุดประสงค์ขั้นต้นคือ การหาทางป้องกันสารพิษอุตสาหกรรมโดยการเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยในโรงงานให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นไปได้ว่าหน่วยงานสามารถรักษาคนป่วยได้ด้วย พวกเขายังขาดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเป้าหมายของสถาบันแพทย์อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม
แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ว่า หน่วยงานนี้ถูกปิดลงเพราะเหตุผลทางการเมือง พญ. อรพรรณและเพื่อนร่วมงานของเธอเชื่อว่ามาจากความขัดแย้งกรณีซีเกท สุริชัย หวันแก้ว ศาสตราจารย์จากภาควิชาสังคมวิทยามานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบรรณาธิการหนังสือที่เกี่ยวกับผลกระทบการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยกล่าวว่า “มันเป็นเรื่องที่แย่มากๆ โรงงานซีเกทไม่เคยตรวจสอบอะไรจริงๆ มีคนบางส่วนเป็นห่วงซีเกทมากกว่าต้องการตรวจสอบสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป”
ดร.ชิดเนย์ ชินเดล ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งวิทยาลัยแพทย์วิสคอนซิลและผู้ร่วมจัดตั้งโครงการการศึกษาระดับสูงด้านอาชีวอนามัยในประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่า บุคลิกภาพของพญ. อรพรรณที่เชื่อมั่นในความถูกต้องและสถานภาพความเป็นผู้หญิงอาจมีส่วนทำให้สถาบันถูกปิดด้วย เขาอธิบายถึงเธอในฐานะที่เป็น “ปัจเจกชนที่ซื่อตรงและมีความสามารถอย่างยิ่ง” เธอมีปัญหาในแง่ของการได้รับการยอมรับ ไม่เพียงแต่ในวงการอาชีวเวชศาสตร์เท่านั้น รวมถึงตัวเธอเองซึ่งเป็นผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ที่ผู้ชายเป็นใหญ่โดยประเพณีตั้งแต่ไหนแต่ไรอีกด้วย” คำวิจารณ์ของ ดร.ณรงค์ศักดิ์จากกรมอนามัย ชี้ให้เห็นความคิดความเชื่อดังกล่าว เขาบอกว่า “เราต้องการใครสักคนที่ดูแลสถาบันนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น พญ. อรพรรณยังเด็กเกินไป”
ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้สถาบันถูกปิด พญ. อรพรรณก็ยืนยันว่าสารพิษอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัญหาที่รุนแรงต่อไป ปัญหานี้ยังอยู่ไกลเกินกว่าที่รัฐบาลและนักอุตสาหกรรมจะยอมรับ
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ กรณีของปทุมรัตน์ กันสิทธิ์(นามแฝง) ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในภาคเหนือใกล้กับเมืองเชียงใหม่ เธอหางานทำในกรุงเทพเมื่ออายุได้ 20 ปี และเข้าทำงานที่โรงงานซีเกท สมุทรปราการ เธอบอกว่า “หลังจากนั้นประมาณ 8 เดือนในโรงงาน ฉันเริ่มไม่สบาย มีอาการปวดหัว นอนไม่หลับ ปวดตา และรู้สึกอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา เวลาพูดก็ติดๆ ขัดๆ และเดินไม่ค่อยตรงทาง ไปหาหมอของโรงงาน ทุกครั้งได้รับแต่ยาแก้ปวดกลับมา เมื่ออาการไม่ดีขึ้น เลยไปหาพญ. อรพรรณ หมอบอกว่า ฉันเป็นโรคพิษสารตะกั่วเรื้อรัง”
พิษตะกั่วเป็นผลมาจากไอตะกั่วที่เกิดจากการบัดกรี แต่ซีเกทออกมาปฏิเสธ นาย Lee Kuhre ผู้อำนวยการอาวุโสด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของบริษัทซีเกท แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า “ไอตะกั่วจะเกิดขึ้นได้ คุณต้องใช้ความร้อนมากกว่า 1,000 องศาฟาเรนไฮท์ คุณจะไม่ได้รับไอหรือแก๊สถ้าใช้อุณหภูมิต่ำกว่านี้ การบัดกรีที่เราใช้มีระดับอุณหภูมิสูงสุด 700 องศาฟาเรนไฮท์ จึงไม่มีความเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์ที่จะได้รับสารตะกั่ว”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษตะกั่วไม่เห็นด้วย ดร. Yvette Lolin อาจารย์ด้านเวชศาสตร์เคมีแห่ง Chinese University ที่ฮ่องกง กล่าวว่า “จุดหลอมเหลวของตะกั่วคือ 621.5 องศาฟาเรนต์ไฮท์ ไอตะกั่วจะเกิดขึ้นที่อุณหภูมิใดก็ได้ที่สูงกว่าจุดหลอมเหลวของมัน” ความจริง การสำรวจสุขภาพคนงานซีเกทของแพทย์หญิงอรพรรณพบว่าระดับสารตะกั่วในเลือดที่เพิ่มขึ้น จะอยู่ในกลุ่มคนงานในสายการผลิตที่เกี่ยวกับการบัดกรีโดยเฉพาะ เช่น ในแผนก wave – soldering ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการบัดกรีประเภทหนึ่ง คนงาน 148 คนที่รับการตรวจ เกือบร้อยละ 50 มีระดับสารตะกั่ว 20 ไมโครกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร
ปทุมรัตน์ พนักงานของซีเกท ยังต้องทำงานกับสารทำละลายอีกด้วย เธอคิดและบอกว่า “เราใช้สารละลายที่เรียกว่า TP – 35 งานที่ฉันทำคือ ใช้แปรงและสาร TP – 35 ทำความสะอาดแผงวงจร” นับตั้งแต่ซีเกทหยุดการใช้สาร TP – 35 เนื่องจากมันเป็นตัวทำลายบรรยากาศชั้นโอโซน สารดังกล่าวที่มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นฟรีออน( Freon ) มีความปลอดภัย นาย Kuhre แห่งซีเกทยืนยันว่า “ฟรีออนไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์” แต่ข้อเสนอนแนะจากศูนย์ข้อมูลเอเชียขององค์กรแรงงานในฮ่องกงคือ การสูดดมสารฟรีออนบางตัวอาจทำให้การเต้นของหัวใจไม่ปกติและเสียชีวิตทันทีเนื่องจากหัวใจล้มเหลว ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงการตรวจสอบโรงงานซีเกทในปี 2534 พญ. อรพรรณได้ส่งตัวอย่างสาร TP – 35 ของบริษัทไปที่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา(CDC) เพื่อทำการวิเคราะห์ CDC พบว่า สารดังกล่าวไม่ใช่สารฟรีออน บริสุทธิ์แต่ประกอบด้วยสารเคมีเป็นพิษเช่น เบนซีนและสารก่อมะเร็ง
ซีเกทปฏิเสธสิ่งที่ปทุมรัตน์บอกว่าเธอเป็นโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ในเดือนธันวาคม 2535 เธอเขียนจดหมายขนาดยาวด้วยลายมือหวัดถึงนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในขณะนั้น โดยอธิบายความเจ็บป่วยของเธอและขอให้ช่วยเหลือ แม้ว่านายชวน หลีกภัยจะไม่ตอบรับ แต่ในที่สุด หน่วยงานด้านสาธารณสุขก็ยินดีจ่ายค่าชดเชยในการรักษาพยาบาลให้กับเธอ
ปทุมรัตน์ยังคงทำงานที่โรงงานซีเกทเพื่อหาเงินส่งน้องสาวของเธอเรียนหนังสือ จากการรักษาโดย พญ. อรพรรณ เธอรู้สึกมีอาการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่าเพื่อนร่วมงานของเธอยังคงมีอาการเจ็บป่วยอยู่ “เพื่อนในโรงงานมีอาการปวดหัว นอนไม่หลับ บางคนมีนิ้วเหลืองซึ่งน่าจะเกิดจากถุงมือที่โรงงานให้ใส่ไว้ป้องกันสารเคมี แต่มันป้องกันไม่ได้ หลายคนรู้สึกแย่ลง แต่ก็ไม่กล้าทำอะไร”
ในช่วงเวลาดังกล่าว ที่จังหวัดลำพูน ได้เกิดปัญหาสารพิษอุตสาหกรรมขึ้นอีกครั้ง ลำพูนเป็นเมืองเล็กๆ มีทุ่งนา วัดวาอาราม ห่างจากเชียงใหม่ราว 30 กิโลเมตร ปี 2528 ลำพูนกลายเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ช่วงเดือนมีนาคม 2536 ถึงกุมภาพันธ์ 2537 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 คน ด้วยโรคลึกลับ หลายคนเชื่อว่าพวกเขาเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานสัมผัสกับสารตะกั่วและสารทำละลาย ผู้เสียชีวิตทั้งหมด (ยกเว้นเด็กผู้ชาย) ทำงานในบริษัทประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ รวมถึงโรงงานผลิตเครื่องโทรสารจากญี่ปุ่นชื่อ มูราตะ ด้วย
เด็กชายอายุเพียง 4 เดือน ชื่อ จักรพรรณ ณ ลำพูน เสียชีวิตลงเมื่อเดือนมีนาคม 2536 มีอาการท้องบวมและเจ็บปวดอย่างชัดเจน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิก จ.เชียงใหม่ นายบุญมีผู้เป็นตาของจักรพรรณเล่าว่า เขาไม่หยุดร้องเลยตั้งแต่พาไปโรงพยาบาลจนกระทั่งเสียชีวิต แพทย์รายงานว่า เด็กเสียชีวิตเพราะลำไส้อักเสบ แต่ญาติของเด็กเชื่อว่าเป็นเพราะสารพิษ ความจริงแล้วมีทางเป็นไปได้ที่ตะกั่วจะผ่านจากพ่อแม่ไปสู่เด็ก ไม่ว่าจากน้ำนมหรือฝุ่นที่เกาะตามเสื้อผ้า อีกเดือนต่อมา พ่อของเด็กคือนายอนันต์ ณ ลำพูน อายุ 27 ปี ก็เสียชีวิตลงจากโรคหัวใจล้มเหลวหลังจากมีอาการป่วยมาเกือบปี คนสุดท้ายของครอบครัวคือดวงธิดา แม่ของเด็ก อายุ 28 ปี เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2536 หลังจากทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดหัว ท้องบวมอักเสบและอ่อนเพลียอยู่เป็นเวลา 4 เดือน “อนันต์ได้ซื้อโทรทัศน์ ตู้เย็น เตารีด เตาแก๊ส เขาทำทุกอย่างเพื่อครอบครัว” นายบุญมีเล่าด้วยอาการเศร้า
ทั้งพ่อและแม่ของเด็กชายจักรพรรณทำงานในโรงงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนแผงวงจรอิเลกทรอนิกส์ ผู้เป็นพ่อเคยทำงานเป็นช่างควบคุมเครื่องจักรที่โรงงานเคเอสเอสอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) เป็นเวลา 3 ปี ส่วนผู้เป็นแม่ทำงานเป็นพนักงานบัดกรีที่โรงงานโตเกียวทรัย มีคนงานหญิงของโตเกียวทรัยอายุ 23 ปี อีกคนหนึ่งได้เสียชีวิตเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เสียชีวิตรายอื่นมาจากโรงงานโฮยา ออปโต, อิเลกโทรเซรามิค (สนับสนุนเงินทุนโดย Hokuriku Ceramics), โตเกียว คอยล์ เอนจิเนียริง, เอฟ เอ็ม บรัช (บริษัทอเมริกัน) และอีก 2 คนจากบริษัทมูราตะ เพื่อนร่วมงานและครอบครัวของผู้เสียชีวิตเล่าว่า ทุกคนมีอาการปวดหัวและอ่อนเพลีย เมื่อทาง Asia Inc. ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทมูราตะและอิเล็กโทรเซรามิค ต่างก็ปฏิเสธถึงการเสียชีวิตของคนงานอันเนื่องมาจากสารพิษ และย้ำว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของกฎหมายไทย แต่ไม่ได้พูดถึงแผนงานเพื่อตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตแต่อย่างใด
มยุรีย์ เตวิยะ เป็นคนหนึ่งที่โชคดี ปัจจุบันเธออายุ 29 ปี เริ่มทำงานที่โรงงานอิเลกโทรเซรามิคในปี 2531 เช่นเดียวกับคนงานอื่น ๆ ในนิคมอุตสาหกรรม เธอพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางไปสู่โรงงาน งานของมยุรีย์คือการเตรียมแผ่นเซรามิค–อลูมินาเพื่อนำไปบัดกรี ก่อนนำไปใช้เป็นแผงวงจรของโทรทัศน์ และต้องทำงานสัมผัสกับสารทำละลายในสายการผลิตอีกด้วย
มยุรีย์มีอาการป่วยเมื่อต้นปี 2536 เธอปวดหัว ปวดตามเนื้อตัว รู้สึกตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้าลงและเหนื่อยง่าย เมื่อไปหาหมอของโรงงาน หมอก็บอกว่าเดี๋ยวก็หาย แต่อาการยังคงเดิม ท้ายที่สุดเธอจึงไปรักษาที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิคโดยใช้เวลา 1 สัปดาห์ หมอระบุว่าเธอป่วยเนื่องจากมีสารอลูมินา
จากบันทึกการป่วยของมยุรีย์รวมทั้งใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 “ฉันบอกผู้จัดการโรงงานว่าป่วยเป็นโรคอะไร เขาไม่เชื่อและโกรธที่ฉันไปรักษาที่โรงพยาบาลด้วยตัวเอง ต่อมาโรงพยาบาลแมคคอร์มิคถอนใบรับรองแพทย์ คงกลัวนายจ้างของฉัน”
เมื่อสอบถามกับนายแพทย์จรัส พิมพิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ถึงกรณีของมยุรี เขาไม่แน่ใจว่าสารพิษอุตสาหกรรมจะเป็นประเด็นที่อยู่ในการพิจารณาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตที่ลำพูนหรือไม่ และกล่าวว่า “ผมรู้สึกไม่สบายใจ ปัญหาคือโรงพยาบาลในภาคเหนือทุกแห่งไม่มีอุปกรณ์ตรวจสอบสารโลหะหนัก”
บนหลังมือของมยุรีย์มีรอยสีจ้ำสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้ว สารเคมีที่เป็นของเหลวในโรงงานได้หกรดใส่มือเธอ สารเคมีได้กัดผิวหนังและยังไม่หายดี
“หลังจากฉันรู้ว่าโรงพยาบาลเปลี่ยนใจก็รู้สึกไม่สบายใจ อาการแย่ลง เริ่มเขียนบันทึกอาการป่วยของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ในกรณีที่ฉันตายและมีคนต้องการข้อมูล วงเดือนเพื่อนของฉัน เธอเคยล้มลงในที่ทำงานและตายในเดือนกันยายน 2536 ฉันไม่อยากเป็นแบบนั้น จึงลาออกจากงานในเดือนตุลาคม” แม้บริษัทอิเลกโทรเซรามิคย้ำว่า คนงานที่เสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายน 2536 ด้วยโรคสมองอักเสบซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากสารพิษ บริษัทก็ยังไม่ยอมรับว่าเป็นผลมาจากสารพิษอุตสาหกรรม มยุรีบอกว่า ขณะนี้เธอมีอาการดีขึ้นบ้าง แต่ยังไม่ได้รับเงินทดแทนจากบริษัทหรือหน่วยงานรัฐ
คนงานส่วนใหญ่ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือรู้สึกดีใจที่มีงานทำ หลายคนมาจากชนบททั้งภาคเหนือและอิสานซึ่งมีความขยันขันแข็งทำงานในสายการผลิตเป็นเวลานานๆ ไม่เว้นแม้แต่ทำงาน 2 กะต่อวันเพื่อให้ได้เงินเพิ่มขึ้น โรงงานเองก็เสนอค่าจ้างเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้คนงานที่ทำงานเก่ง และการทำงานอย่างหนักนั่นเองที่ทำให้พวกเขาเกิดเจ็บป่วย เมื่อมีการเปิดเผยถึงสภาพการทำงานอันยาวนานในโรงงาน เช่น มยุรี เธอเคยทำเงินโบนัสสูงสุด 12 เหรียญสหรัฐต่อวันจากการเตรียมแผ่นเซรามิค–อลูมินาได้ถึง 10,000 ชิ้นต่อวันจากยอดเดิม 4,500 ชิ้นต่อวัน ส่วนอนันต์ ณ ลำพูนที่เสียชีวิตเมื่อเดือนมิถุนายน 2536 ทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวันเพื่อนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับครอบครัว
การรายงานข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตที่ลำพูน สร้างความหวาดหวั่นให้นายสมเจตน์ ทินพงษ์ ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เขาจัดแถลงข่าวขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2536 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและขจัดสิ่งที่เขาเรียกว่า “ข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริง” ออกไป เขาโจมตีสื่อมวลชนด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวในระหว่างการจัดแถลงข่าวว่าเป็นพวกเดาสุ่มที่ไร้ความรับผิดชอบ มีผลประโยชน์ส่วนตัว และแผนทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง ส่วนการเสียชีวิตของคนงานนั้น เขาโยนความผิดให้โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เขาบอกกับ กมล สุกิน นักข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นว่า “ข่าวทุกฉบับที่รายงานออกไปเป็นแค่สมมุติฐาน แต่มันทำลายการนิคมอุตสาหกรรม ทำลายบรรยากาศการลงทุน” และอ้างรายงานของสาธารณสุขจังหวัดว่า คนงานที่เสียชีวิตทุกคนอยู่ในกรณีต่อไปนี้คือ ลาออกจากงาน และ ไม่ได้ทำงานโดยตรงกับสารตะกั่ว หรือ ติดเชื้อเอชไอวี
ความจริงแล้ว โรคเอดส์เป็นปัญหาที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นทั่วภาคเหนือของไทย การสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2536 พบว่า เกือบร้อยละ 9 ของสตรีมีครรภ์ในจังหวัดลำพูน และร้อยละ 40 ของโสเภณีในภาคเหนือมีเชื้อเอชไอวี แต่ถ้าหากความเกี่ยวข้องระหว่างสารพิษอุตสาหกรรมกับการเสียชีวิตของคนงานได้รับการพิสูจน์แล้ว สาเหตุจากเอดส์ก็ถือว่าตกไป นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อ้างถึงเรื่องซึ่งเป็นที่รู้กันคือคนงาน 3 คน ที่เสียชีวิตนั้นมีเชื้อเอชไอวี
ดร.ครรชิต ลิมปกาญจนรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือด้านเอชไอวี/เอดส์ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์ควบคุมโรคติดต่ออเมริกา (CDC) กล่าวว่า “ถ้าใครก็ตามมีเชื้อเอชไอวี และเสียชีวิตจากสารตะกั่วหรือสารทำละลายสามารถบอกได้เลยว่า เขาเสียชีวิตเพราะสารพิษไม่ใช่เพราะเอดส์ ปกติแล้วการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ มาจากการติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ ท้องร่วง และน้ำหนักลดลงอย่างผิดสังเกตอาจะเป็นเวลาถึง 10 ปี ถ้าไม่มีอาการเหล่านี้ ไม่อาจพูดได้เลยว่า คนป่วยเสียชีวิตเพราะเอดส์”
ปัญหาที่ลำพูนเหมือนจะแตกต่างไปจากสิ่งที่เรียกว่า การเสียชีวิตอย่างทันทีทันใดโดยไม่ทราบสาเหตุ(SUDS) เมื่อพิจารณาจากการเสียชีวิตของคนงานไทยในต่างแดนเมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ Shindell แห่งวิสคอนซิลบอกว่า โดยทั่วไป SUDS เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนโดยไม่มีวี่แววมาก่อน กรณีลำพูนชี้ชัดว่าผู้เสียชีวิตทุกคนมีอาการป่วยก่อนเสียชีวิต ตัวอย่างเนื้อเยื่อของคนงานหญิงจากบริษัทมูราตะคนหนึ่ง เธออายุ 21 ปี เสียชีวิตเมื่อเดือนธันวาคม 2536 ถูกนำไปวิเคราะห์ที่โรงพยาบาลในเชียงใหม่ จากผลการตรวจสอบย้ำว่าเธอไม่ติดเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตามไม่มีการตรวจสอบโลหะหนักในตัวอย่างเนื้อเยื่อเพราะไม่มีเครื่องมือทดสอบ
การตรวจสารทำละลายยิ่งยากขึ้นไปอีกและความเป็นพิษของมันก็ยิ่งยากแก่การพิสูจน์ แม้ว่าประเทศไทยจะมีเครื่องมือพร้อมก็ตาม ยุพิน นาคมูล อายุ 23 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 หลังจากลาออกจากบริษัทโตเกียวทรัยได้ 1 เดือน เธอทำงานที่นั่นเป็นเวลา 6 เดือน ญาติของเธอบอกว่า ผิวหนังของเธอเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและในที่สุดก็เสียชีวิตจากน้ำท่วมปอด เธอเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวอันเป็นผลมาจากโรคตับซึ่งเกิดจากพิษของสารทำละลาย อย่างไรก็ดี การพิสูจน์ไม่น่าจะพบสารดังกล่าวในร่างกายได้เพราะมันจะระเหยหรือถูกดูดกลืน และถ้าต้องการพิสูจน์ว่า สารเคมีพวกนี้เป็นสาเหตุของโรคตับ ยิ่งเป็นเรื่องยาก
เมื่อ Asia Inc. รายงานข่าวการเสียชีวิตที่ลำพูน หลังจากการแถลงข่าวของการนิคมอุตสาหกรรม ในเดือนพฤศจิกายน 2536 นายสมเจตน์ ผู้ว่าการนิคมฯ สัญญาว่าจะตรวจสอบกรณีดังกล่าว เขากล่าวว่า “ถ้าจำเป็น เราสามารถปิดโรงงานสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้” อย่างไรก็ตาม ปัญหาการดูแลรักษาด้านสุขภาพอนามัยยังคงเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข
ดร.ณรงค์ศักดิ์ จากกรมอนามัยเห็นด้วยว่า การเสียชีวิตที่ลำพูนเป็นเรื่องผิดปกติ “เราได้ส่งทีมแพทย์ด้านระบาดวิทยาลงไปทำการตรวจสอบ แต่ไม่ใช่ พญ. อรพรรณ เพราะว่าโรงพยาบาลที่เธอสังกัดต้องการให้เธออยู่ที่กรุงเทพฯ มากกว่า” พญ. อรพรรณยืนยันถึงทีมแพทย์ที่ส่งไปลำพูน และบอกว่า เธอเป็นผู้หนึ่งที่ต้องทำหน้าที่จัดทีมแพทย์ หลังจากได้รับการร้องเรียนจากมยุรีซึ่งเป็นคนงานที่ป่วยคนหนึ่ง ถ้าเป็นความจริง นั่นหมายถึงว่า ยังไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยอื่น ๆ มาแทนบทบาทของสถาบันแพทย์อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม
เพื่อค้นหาคำตอบ Asia Inc. ขอเข้าพบนายสถาพร กวิตานนท์ ผู้อำนวยการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การเข้าพบคนผู้มีความสำคัญและเต็มไปด้วยธุระยุ่งเหยิงผู้นี้ ต้องไปที่สำนักงานของเขาถึง 3 ครั้ง และรออยู่ด้านนอกเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนได้รับอนุญาตให้เข้าพบ ภายในห้องทำงาน เขากุลีกุจอต้อนรับด้วยความไม่สบายใจและเคร่งเครียด
เขาจุดบุหรี่สูบและโพล่งออกมา “ผมไม่ได้ทำให้สถาบันแพทย์อะไรนั่นถูกปิด โกหกทั้งนั้น โกหกทั้งนั้น กรณีของซีเกทคือ หมอไม่พยายามทำการศึกษา แต่ฉกฉวยสถานการณ์จนก่อให้เกิดการประท้วง” และเหมือนกับที่เขาพูดประโยคแรกกับ พญ. อรพรรณ เขาบอกว่า “ถ้าคุณเขียนอะไรลงไปในข่าว คุณจะทำลายประเทศไทย”
กรณีการเสียชีวิตของคนงานที่ลำพูน นายสถาพรอ้างรายงานเรื่องเอดส์และปฏิเสธว่าไม่ใช่ความผิดของโรงงาน เมื่อถามถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากสารตะกั่วและสารเคมีที่ใช้ในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามาตั้งใหม่ในเมืองไทย เขาตอบว่า “ผมไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์”
ตอนท้ายของการสนทนา นอกเหนือจากประเด็นเรื่องสารพิษอุตสาหกรรม นายสถาพรโต้แย้งว่าเมืองไทยก็ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน “ทำไมคุณมาเขียนเรื่องเมืองไทย ไม่ไปเขียนเรื่องฟิลิปปินส์ เมืองไทยเป็นประเทศเดียวหรือไงที่มีคนตาย”
ไม่ต้องกล่าวเลยว่า คนงานไทยยังคงตกอยู่ในสภาพที่เลวร้าย แต่เพื่อนและครอบครัวของหนุ่มสาวชาวลำพูน คนงานที่เสียชีวิต ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ทุกวันนี้ หลายคนยังแปลกใจว่าทำไมหนอ เพื่อนบ้านของเขาล้มตายลงอย่างง่ายดายเพียงเพื่อต้องการชีวิตที่ดีกว่าโดยเข้าทำงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอีกเมื่อไรที่รัฐบาลไทยจะให้ความสนใจต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนให้มากขึ้นพอๆ กับการเอาอกเอาใจนักลงทุนต่างชาติ