เรื่อง : ธารา บัวคำศรี
“…ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 (ราวปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา มีเขตอุตสาหกรรมส่งออกมากกว่า 60 แห่ง ในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 50 ประเทศ จ้างแรงงานมากกว่า 1 ล้านคน ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์คือชาวเอเชียและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เธอและเขาวาดหวังร่วมกันเพื่อมีชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์ ต้องทนอยู่หน้าสายพานลำเลียง กล้องไมโครสโคป เครื่องจักร วันแล้ววันเล่า ออกมาเป็นสินค้าป้อนประเทศพัฒนาแล้ว ชีวิตประจำวันของเรากับชีวิตกรรมกรหญิงในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์และไทย เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน…”
ยาโยริ มัตสุอิ เจ้าของวาทะ “ผู้หญิง อาณานิคมสุดท้าย” จบบทความบนหนึ่งของเธอใน “ผู้หญิงเอเชีย” โดยสมบูรณ์
อุตสาหกรรมยุคใหม่ ผู้จัดการ วิศวกร หัวหน้าแผนก ช่างเทคนิค ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และพนักงานระดับล่างแทบทั้งหมดเป็นผู้หญิง เพศและเชื้อชาติเป็นตัวกำหนดว่าใครจะทำอะไรในโรงงาน
ตัวอย่างคลาสสิคเกี่ยวกับเชื้อชาติของกรรมกรหญิงต้องย้อนกลับไปดูที่สหรัฐอเมริกา โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ที่หุบเขาซิลิกอนจ้างผู้หญิงชาวเม็กซิกัน อเมริกันอินเดียน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น จีน เวียตนาม ลาว กัมพูชา เกาหลี อินเดีย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน อิหร่าน เอธิโอเปีย ไฮติ คิวบา เอลซัลวาดอร์ นิคารากัว กัวเตมาลา เวเนซุเอลา โปรตุเกส กรีซ และอื่น ๆ ที่หลั่งไหลมายังแคลิฟอร์เนีย เข้าทำงานเป็นพนักงานฝ่ายผลิต บริษัทที่ทำธุรกิจรับช่วงประกอบชิ้นส่วนบางแห่งจ้างคนงานหญิงอพยพทั้งหมด นอกจากค่าจ้างต่ำ สุขภาพจากการทำงานและการเรียกร้องสิทธิแรงงานคือปัญหาของพวกเธอ
ตัวอย่างคลาสสิคอีกอันหนึ่งคือ คนงานหญิงในเขตอุตสาหกรรมชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก หรือ มาควิลาโดรา ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2508 วัตถุดิบและชิ้นส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ดอกไม้ประดิษฐ์ จากบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา ส่งมาเย็บ เชื่อม และประกอบที่เขตส่งออกพรมแดนเม็กซิโก การลงทุนต่างชาติไหลเพิ่มมาขึ้นจนกระทั่งพื้นที่เดิมซึ่งยาว 12.5 ไมล์ ขยายไปตลอดแนวพรมแดน
จนถึงปี 2517 แรงงานในเขตมาควิลาโดรามี 80,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิง อายุ 16-25 ปี อพยพจากเมืองมาสู่พรมแดนเพื่อหางานทำ ช่วงนั้น พวกเธอทำงานเฉลี่ย 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 455 เปโซ ( 77 เซ็นต์ต่อชั่วโมง) ผู้ประกอบการยุคแรกในมาควิลาโดราบอกว่า คนงานหญิงที่นี่เชื่อฟังและอยู่ในโอวาทของผู้ชาย พวกเธอทำตามคำสั่งโดยไม่ขัดขืน ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และไม่ค่อยเรียกร้องอะไร
คนงานหญิงของโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ในเขตมาควิลาโดราต้องทำงานสัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำ ส่วนโรงงานทอผ้า คนงานหญิงมักจะเป็นโรคปวดหลังรื้อรัง หืดหอบ ตาอักเสบ หลอดลมอักเสบ และ โรคปอด จากการทำงานที่กดดันมาก คนงานหญิงจึงเป็นโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคนอนไม่หลับและประจำเดือนผิดปกติ รวมถึงปัญหากระเพาะปัสสาวะเนื่องจากเธอไม่สะดวกที่จะใช้ห้องน้ำหรือดื่มน้ำ
คนงานหญิงปกครองง่าย มีความอดทนสูง ทำงานละเอียดกว่าคนงานชาย นั่นหมายถึง ทุกหนทุกแห่งที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ผู้หญิงคือแรงงานราคาถูก การจ้างแรงงานหญิงบวกกับความสามารถของเธอ ผลลัพธ์คือกำไรสูงสุดของผู้ประกอบการ
นโยบายส่งเสริมการลงทุนรัฐบาลมาเลเซียนิยาม “ผู้หญิงตะวันออก” ในเอกสารโฆษณาระบุว่า “มือที่ละเอียดอ่อนประณีตของผู้หญิงตะวันออกนั้นเป็นที่รู้กันทั่วโลก ฝ่ามือเรียวเล็ก ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและทำงานรวดเร็ว… ใครที่ไหนเล่า จะมีคุณสมบัติสืบทอดโดยธรรมชาติที่เสริมสร้างประสิทธิภาพในสายพานการผลิตได้ดีไปกว่าผู้หญิงตะวันออก”
สกู๊ปข่าวเรื่องการโจรกรรมไอซีของบริษัทไทยโอกิของญี่ปุ่นที่ลงทุนตั้งโรงงานผลิตไอซีในนิคมอุสาหกรรมโรจนะ จังหวัดอยุธยาในปี 2538 ระบุว่า บริษัทไทยโอกิจ้างคนงานหญิงเกือบทั้งหมด และก่อนจะมาตั้งโรงงาน บริษัทได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของคนอยุธยาพบว่า ผู้หญิงในจังหวัดนี้มีความสามารถในการใช้นิ้วมือและชำนาญด้านศิลปหัตถกรรม
การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือก็ไม่น้อยหน้า เอกสารชิ้นหนึ่งระบุชัดเจน “คนในภาคเหนือของประเทศไทยมีชื่อเสียงในงานฝีมือ โอบอ้อมอารีเป็นมิตร กระตือรือล้นที่จะเรียนรู้ อันเป็นบุคลิกโดดเด่นกว่าพื้นที่แห่งอื่น ๆ ในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะคนงานหญิง พวกเธอมีความสามารถปรับตัวและมีทักษะที่ละเอียดอ่อนในงานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์”
ปี 2538 นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือมีแรงงานรวม 18,900 คน อยู่ในเขตส่งออก 15,426 คน เป็นกรรมกรหญิง 11,706 คน ส่วนเขตอุตสาหกรรมทั่วไปมี 3,474 คน เป็นกรรมการหญิง 1,560 คน
จากปากน้ำโพจรดแม่สาย มีแรงงานภาคอุตสาหกรรมราว 80,000 คน เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ลำพูนจึงกลายเป็น “แหล่งดูดซับแรงงาน” จากหลายที่หลายทาง แม่ทา บ้านโฮ่ง ป่าชาง บ้านธิ ทุ่งหัวช้าง ลี้ เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ พะเยา น่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย พิจิตร ครั้งหนึ่งผมไปเยี่ยมเพื่อนที่ขุนยวน-แม่ฮ่องสอน เพื่อนเล่าว่าเด็กสาวทุกคนในตัวอำเภอบ่ายหน้าสู่เชียงใหม่และหางานทำในนิคมฯ ลำพูน โรงงานบางแห่งจ้างคนงานหญิงจากอิสานเกือบทั้งหมด
ขณะที่ชาวญี่ปุ่นและยุโรปโดยสารเครื่องบินมาตั้งโรงงานที่ลำพูน และเด็กสาวกลุ่มหนึ่งเดินทางบนถนนสายอุตสาหกรรม กะเหรี่ยง ลาหู่ ลีซู มัง เย้า อะข่า ฯลฯ พากันลงดอยมาทำงานรับจ้าง กะเหรี่ยงกอซูเล คะยา ฉาน ว้า คะฉิ่น และกอลาซู เล็ดรอดพรมแดนทางการเมืองมาถึงเชียงใหม่ ระลอกแล้วระลอกเล่า ไม่แปลกที่ชาวกระเหรี่ยงกอซูเลดีกรีปริญญาตรีบางคนทำงานจนมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการของโรงงานสมัยใหม่และคุมแรงงานหญิงนับร้อยคนที่ลำพูน
ความรู้เป็นด่านแรกของการทำงานในโรงงานสมัยใหม่ ระบบการศึกษาคือแขนขาของอุตสาหกรรม โรงเรียนประถมในหมู่บ้านขยายโอกาสการศึกษาภาคบังคับต่ออีก 3 ปี และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนคือเครื่องมือผลิตคนป้อนโรงงาน เด็กหญิงคนหนึ่งในลำพูน เธอได้เรียนต่อชั้น ม.1 เขียนเรียงความว่า “ถ้าฉันเรียนจบ ฉันคงจะได้ทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรม ได้อยู่ในห้องแอร์เย็นสบาย ไม่ต้องทำงานตากแดดเหมือนคนงานก่อสร้าง” เพื่อนของเธอคนหนึ่งเขียนคล้าย กัน “คุณครูบอกว่า ถ้าออกจากโรงเรียนฉันจะได้ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม”
ยูริโกะ ไซโต อาสาสมัครญี่ปุ่นที่มาสังเกตการณ์ปัญหาลำพูน กลางปี 2538 เล่าว่า “เรามีโอกาสไปดูการสมัครงานของเด็กสาว 2-3 คนที่โรงงาน พวกเธอมีใบสมัครหลายใบ หากมีงานที่ไหนก็ทำนั่น ฝ่ายบริษัทก็ไม่มีพนักงานรับสมัครแต่อย่างใด มีแต่ยามรับสมัครแทน คนที่อยากทำงานกับฝ่ายโรงงานไม่ค่อยสนใจกัน ดูแรงงานไทยเหมือนน้ำประปา แค่เปิดก๊อกก็ไหลออกมา”
ในยุคที่อุตสาหกรรมสมัยใหม่หันมาใช้ระบบอัตโนมัติเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลต่อภาวะการจ้างงาน แต่กระบวนการผลิตหลายขั้นตอนยังต้องใช้ฝีมือคน คำว่า เลเบอร์-อินเทนซีฟ ที่หมายถึงการใช้แรงงานเข้มข้น แม้จะทำให้คนมีงานทำและมีเงินใช้มากขึ้น แต่งานเหล่านั้นทำให้คนงานเป็นเครื่องจักร
แอน เด็กสาวอายุ 17 ปี จากลำปาง บอกผมว่า เธอเปลี่ยนงานถึง 6 ครั้งในช่วงเวลา 2 ปี โรงงานแรกเธอทำหน้าที่ตรวจความเสียหายของตัวเก็บประจุ อีกโรงงานหนึ่งทำหน้าที่พิมพ์ลายวงจรอิเล็กทรอนิกส์ก่อนส่งเข้าเตาอบ อีกโรงงานหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบคอยล์โดยใช้คีมตัดขาตัวคอยล์แล้วนำไปเสียบที่เครื่องวัด อีกโรงงานหนึ่ง ทำหน้าที่ส่องกล้องไมโครสโคปตรวจความสะอาดผิวเลนส์ โรงงานสุดท้ายทำหน้าที่ทากาวติดชิ้นส่วนอุปกรณ์สร้างภาพบนจอทีวี “งานน่าเบื่อ ต้องยืนทั้งวัน ส่องกล้องทั้งวัน” แอนบอก
ท่ามกลางชีวิตไฮเทค อุตสาหกรรมทันสมัย ข่าวสารข้อมูลและการติดต่อไร้สาย ผมย้อนระลึกถึงชีวิตของสาวโรงงานหลายคนที่ลำพูน พวกเธอคืออาณานิคมสุดท้ายอย่างแท้จริง