เรื่อง : ธารา บัวคำศรี(ปี 2543)
ระหว่างบรรทัดของการคิดค้นและปฎิบัติการทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมมักนึกถึงคำพูดของนักมานุษยวิทยาท่านหนึ่งที่เคยกล่าวไว้ว่า “เราไม่ควรมองข้ามพลังของกลุ่มคนเล็ก ๆ เพราะว่านอกจากนี้แล้ว ไม่มีสิ่งใดเลยที่เปลี่ยนแปลงโลก” อยู่เสมอ เราอาจใช้เวลามากเกินไปเพื่อถกเถียงถึงแนวทางการฟื้นฟูและปกป้องดูแลรักษาโลกที่เราอาศัยอยู่ และอาจใช้เวลาที่เหลือไม่มากนักในการลงมือทำ
ปี พ.ศ. 2543 ผมและเพื่อนพ้องชาวกรีนพีซมีโอกาสไปเยือนถิ่นที่ถูกขนานนามว่า “เส้นทางแห่งมะเร็ง” ในหลุยเซียน่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษรุนแรงอันดับต้น ๆ แห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา โรงงานอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีตามทุ่งราบริมฝั่งแม่น้ำมิสซีสซิป เราไปเยี่ยมชุมชนผิวสีหลายแห่งที่เจ้าหน้าที่ของกรีนพีซลงไปทำงานด้วย เด็ก สตรีและคนชราหลายคนเจ็บป่วยและเสียชีวิตและเป็นเหยื่อของมลพิษ พื้นที่ทางธรรมชาติเช่น ทะเลสาบ ที่ลุ่มน้ำขัง ชะวากทะเล และสรรพชีวิตในห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศแถบนั้นปนเปื้อนไปสารมลพิษที่ตกค้าง มีการเพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งจากการศึกษาวิจัยด้านสุขภาพของสถาบันวิชาการในพื้นที่ คนผิวสีที่นั่นรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน สุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากภัยคุกคามทางอุตสาหกรรม และมีบทบาทสำคัญในการเป็นประจักษ์พยานเพื่อยุติการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ แสงเทียนที่พวกเขาจุดขึ้นในค่ำคืนอันเย็นเยือกวันหนึ่งท่ามกลางไฟเพลิงของปิโตรเคมีและม่านหมอกแห่งมลพิษเป็นแรงบันดาลใจกับแขกที่มาเยือนให้ตระหนักถึงพลังของปัจเจกชนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผมได้แต่หวังว่า พวกเขาจะได้รับชัยชนะจากการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมสักวันหนึ่ง
บนเส้นทางกลับบ้าน ผมอ่านบทความของศาสตราจารย์ด้านเคมีผู้ซึ่งในที่สุดผันตัวเองมาเป็นนักกิจกรรมรณรงค์สิ่งแวดล้อมที่น่าจับมองผู้หนึ่ง เขาเป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมด้านอากาศสะอาดในฟิลิปปินส์จนในที่สุดนำไปสู่การออกกฎหมายอากาศสะอาดซึ่งห้ามมิให้ก่อสร้างโรงงานเผาขยะและค้นหาทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นธรรม เขาเป็นผู้มีส่วนสำคัญไม่มากก็น้อยที่ทำให้ผู้นำกลุ่มอนุรักษ์กาญจนบุรีปฏิเสธไม่รับโครงการจัดการขยะระดับภูมิภาคเนื่องจากมีประเด็นแฝงเร้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีสกปรกที่ไม่ใช้แล้วจากประเทศอุตสาหกรรม ศาสตราจารย์ผู้นี้เขียนบทความไว้อย่างจับใจผมว่า
“เราอาจต้องการเครื่องจักร หากสิ่งที่สำคัญจำเป็นยิ่งกว่าคือ เราต้องรู้ว่าเมื่อไรเราจึงจะปิดมัน เราต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนอื่นๆ ที่อยู่รายรอบตัวเรา มิใช่กับของสะสม เราจำเป็นต้องพัฒนาชุมชนอย่างจริงใจ เราจำเป็นต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับผู้คนที่อยู่รอบตัวเรา ความเอาใจใส่ควรเคลื่อนจากเมืองไปสู่ชนบท จากเด็กอัจฉริยะไปสู่คนเฒ่าชรา จากเจ้าขุนมูลนายและข้าราชการไปสู่สามัญชน จากผู้เชี่ยวชาญไปสู่คนเดินดิน และจากนักวิทยาศาสตร์ไปสู่กวีศิลปิน…”
ในวันหนึ่งระหว่างเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปสู่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาพที่ปรากฎและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในสายตาของผมกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้นึกย้อนกลับไปสู่ประสบการณ์ร่วมกับพี่น้องอเมริกันนิโกรในหลุยเซียนา มันคือสถานการณ์คุกคามด้านมลพิษอุตสาหกรรมแบบเดียวกัน ต่างเพียงแต่สถานที่ มันคือสถานการณ์ที่คนเล็กคนน้อยถูกผลักให้ไปอยู่ชายขอบของการพัฒนาและตกเป็นเหยื่อของการพัฒนาในท้ายที่สุด มันคือสถานการณ์ที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใส่ใจกับคำว่า “บรรยากาศการลงทุน” มากกว่า “สุขภาพของเด็กนักเรียนในโรงเรียนข้างโรงงานที่หายใจเอาอากาศพิษเข้าไปทุก ๆ วัน”
แม้ว่า มลพิษในเขตอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออกยังคงเกิดขึ้นทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แต่ผมยังเชื่อมั่นในกลุ่มคนเล็กผู้ยืนหยัดปกป้องสิทธิทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอันชอบธรรม ผู้ซึ่งริเริ่มงานสร้างสรรค์เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกและกว้าง ผู้ซึ่งเป็นคน ๆ หนึ่งที่ปรารถนาให้ผืนดินนั้นงดงาม ให้น้ำสะอาดและอากาศบริสุทธ์เพื่อเป็นมรดกให้กับคนรุ่นต่อไป