เรื่อง : ธารา บัวคำศรี
Silicon Valley – ซานตาคลารา แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
Silicon Island – เกาะคิวชู ญี่ปุ่น
Silicon Fen – รอบเมืองเคมบริดช์ อังกฤษ
Silicon Glen – ภาคกลางของสก็อตแลนด์
จากตัวเมืองเชียงใหม่ลงไปทางใต้สองข้างซุปเปอร์ไฮเวย์หมายเลข 11 กิโลเมตรที่ 25 คือ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เนื้อที่ 1,700 กว่าไร่ เต็มไปด้วยโรงงานผลิตประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของชาวต่างชาติ ที่นี่คือ “สายพานการผลิตปลายทางของหุบเขาซิลิกอน”
ดิ เอเชียนวอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานจากเกาะบอร์เนียว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2539 ว่า รัฐบาลมาเลเซียเดินหน้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเต็มตัว ศูนย์รวมเทคโนโลยีอยู่ที่ปีนังหรือ “ซิลิกอนวัลเลย์” ของมาเลเซียใกล้ถึงจุดอิ่มตัวด้านการลงทุน หลายบริษัทเตรียมย้ายฐานไปเปิดโรงงานผลิตวงจรรวมและโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่เมืองกูจิงซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับป่าบอร์เนียวของอินโดนีเซีย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโคแมกอิงค์ บริษัทฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ของมาเลเซียเรียกที่นี่ว่า “มินิซิลิกอนวัลเลย์”
ซิลิกอนคือธาตุพื้นฐานอยู่ในรูปสารประกอบหินควอทซ์หรือทรายที่เรารู้จักกัน คุณสมบัติที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้บางส่วน ซิลิกอนจึงถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไมโครชิป (นอกจากแกลเลียมอาร์เซไนด์) ด้วยเหตุนี้ เขตซานตาคลารา ดินแดนอบอุ่น เต็มไปด้วยสวนพลัมของแคลิฟอร์เนียจึงกลายมาเป็นที่ตั้งของกลุ่มบริษัทผลิตไมโครชิปและวงจรรวม ( IC ) กล่าวได้ว่า ที่นี่คือจุดเริ่มต้นการปฏิวัติเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของโลก
ผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ เคยเดินทางมายังซิลิกอนวัลเลย์เพื่อหาแบบจำลองการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศตนเอง พวกเขาตื่นตาตื่นใจกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดูสะอาดสดใสและนักบริหารหนุ่มผู้ปราดเปรียวที่บอกว่าเขาสร้างความร่ำรวยเพียงชั่วข้ามคืน
ผู้คิดค้นและประดิษฐ์ไมโครชิปกล่าวว่า ซิลิกอนวัลเลย์คือกุญแจแห่งอาณาจักร สื่อมวลชนญี่ปุ่นขนานนามไมโครชิปและวงจรรวมว่าเป็นข้าวแห่งอุตสาหกรรม ส่วนนักอุตสาหกรรมญี่ปุ่นบอกว่า สมัยก่อน เหล็กคือกระดูกสันหลังของชาติ สมัยนี้ต้องเปลี่ยนจากเหล็กเป็นซิลิกอน
ไมโครชิปคือหัวใจของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีโทรคมนาคม ส่วนกรรมกรในสายพานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก จากหุบเขาซานตาคลาราถึงหุบเขาเชียงใหม่-ลำพูน นั้นเป็นเพียงต้นทุนการผลิตและเครื่องจักรที่เดินได้ พวกเขาตกอยู่ในชะตากรรมที่ไม่แตกต่าง
ฤดูหนาวปี 2524 สารเคมีอันตรายของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ 11 แห่งในซิลิกอนวัลเลย์รั่วไหลปนเปื้อนในแหล่งน้ำสาธารณะ ผู้คนในเขตซานตาคลาราตื่นตระหนกเพราะคาดไม่ถึงว่าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและปลอดมลพิษเหล่านี้จะมีปัญหาเกิดขึ้น ประชาชนยื่นข้อเสนอให้ออกกฎหมายควบคุมการขยายโรงงาน วอลแลค สแตกเนอร์ นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์เข้าร่วมรณรงค์คัดค้านการเติบโตอย่างไม่มีขีดจำกัดของอุตสาหกรรมนี้
ปี 2526 ซิลิกอนวัลเลย์มีโรงงาน 800 แห่ง คนงานในสายพานประกอบชิ้นส่วนรวมกันประมาณ 150,000 คน เกือบทั้งหมดเป็นหญิงนิโกร แคริเบียน ซามัว เม็กซิกัน เวียตนาม และผู้ลี้ภัยชาวเอเชีย พวกเขาพักอาศัยในบ้านเช่าทางฟากตะวันออกของเมืองซานโจส์
ความเครียดจากการทำงานให้พวกเธอต้องใช้ยา วันแล้ววันเล่ากับงานบัดกรีเชื่อมชิปเข้ากับแผงวงจร แมรี่ เจน เอสปราซา จากศูนย์บำบัดผู้ติดยาแห่งซานโจส์บอกว่า “คนงานเริ่มใช้ยาเพราะงานมันน่าเบื่อ ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร เมื่อกินยาม้าเข้าไปจะรู้สึกกระปรี้ประเปร่า ทำงานมากเป็นสองเท่า หัวหน้าแผนกจะเร่งให้ทำงาน เธอต้องทำให้ถึง 100 ชิ้นคืนนี้”
การทำงานสัมผัสกับสารเคมีที่มีโครงสร้างซับซ้อนเป็นเหตุให้คนงานหญิงเจ็บป่วย มีปัญหาประจำเดือนและภาวะเจริญพันธุ์ ไตวาย มะเร็งและภูมิแพ้ หน่วยงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานที่ดูแลเรื่องนี้ก็ไม่เคยกำหนดค่ามาตรฐานของสารเคมีหลายตัวที่ใช้ในโรงงาน กระบวนการผลิตยังส่งผลให้เกิดความเค้นทางสายตาและความเครียดทางจิตใจ
นอกจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นเป็นคู่แข่งสำคัญในเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เกาะคิวชูถูกขนานนามว่า เกาะซิลิกอน เพราะเต็มไปด้วยโรงงานผลิตไอซี ตอนกลางของเกาะเป็นเขตภูเขาไฟ หินภูเขาไฟคือตัวกรองชั้นเยี่ยมเมื่อมีฝนตกลงมา น้ำสะอาดที่สะสมใต้ดินถูกนำมาใช้ในโรงงาน
กระบวนการผลิตไมโครชิปต้องใช้น้ำที่มีความบริสุทธิ์มาก วัตถุดิบสำคัญนอกจากซิลิกอนก็มีโลหะหายากจำพวก ทอง แพลทตินัม เงิน แคดเมียม การสร้างวงจรรวมขนาดใหญ่มาก (VLSIC) ต้องใช้แคลเซียม อาร์เซนิค สารละลายปิโตรเคมีหลายชนิดและก๊าซพิษ
เขตอะซูมิโน ตอนกลางเกาะฮอนชู แหล่งปลูกพืชผักนานาชนิด วาซาบิเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ชอบเจริญเติบโตบริเวณแหล่งน้ำซับ เมื่อมีการสร้างโรงงานผลิตสารกึ่งตัวนำ เกษตรกรผู้ปลูกวาซาบิกังวลใจเรื่องโลหะหนักและสารเคมีจะปนเปื้อนลงน้ำใต้ดิน ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นหลายแห่งเพราะโรงงานอิเล็กทรอนิกส์มักตั้งอยู่ในเขตภูเขาซึ่งมีแหล่งน้ำใต้ดินที่สะอาด
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการแข่งขันสูง เพื่อลดต้นทุน ทั้งสหรัฐและญี่ปุ่นจึงย้ายฐานการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศกำลังพัฒนา ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มีโรงงานผลิตประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมายในเขตอุตสาหกรรมส่งออกที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล
ที่มาเลเซีย สิงคโปร์ มีรายงานปัญหาสุขภาพของคนงานในอุตสาหกรรมนี้ เช่นเดียวกับการเจ็บป่วยล้มตายของคนงานซีเกทและนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือของไทย เบื้องหลังไมโครชิปคืออีกด้านหนึ่งของความปวดร้าว จากไมโครชิป การประกอบวงจรและอุปกรณ์ การประกอบชิ้นส่วนสุดท้าย เป็นคอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ หมายถึงปัญหาสุขภาพ และการถูกกดขี่ขูดรีด แรงงานยุคใหม่ของคนงานในสายพานการผลิต
เราพูดกันว่าเทคโนโลยีโทรคมนาคมและไมโครอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยและเกิดการจ้างงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงข้าม มันนำไปสู่การสะสมทุน ความรู้และอำนาจอย่างมหาศาลในประเทศมหาอำนาจและบริษัทข้ามชาติไม่กี่แห่ง
ข้อความตอนหนึ่งของไมเคิล แชลิส ผู้เขียน The Silicon Idol ซึ่งแปลภาษาไทยชื่อวิพากษ์คอมพิวเตอร์ เทวรูป แห่งยุคสมัยโดยพระไพศาล วิสาโล และสมควร ใฝ่งามดี อธิบายถึงคำวิพากษ์ที่มีต่อเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ว่า “…ความก้าวหน้าไม่ควรมีนัยอัตโนมัติว่าของใหม่มาแทนที่ของเก่า หากว่าของเก่านั้นเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจแล้ว การวิจารณ์ของใหม่ก็มิได้หมายความว่า ผู้วิจารณ์ต้องการย้อนกลับไปหาอดีต แท้ที่จริง หมายความว่าของใหม่นั้นมิได้เป็นไปตามคาดหวัง…”