เรื่อง : ธารา บัวคำศรี
แพท คอสเนอร์-สตรีสูงวัยชาวอเมริกันร่างผอมบางแต่ดูแข็งแรงผู้แนะนำตัวเองว่าเป็น “นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมและนักวิทยาศาสตร์อาวุโสของกลุ่มกรีนพีซ-องค์กรรณรงค์สิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั่วโลก” กำลังอธิบายเรื่อง “มลพิษตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants-POPs) อย่างตั้งใจในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานรณรงค์เรื่องสารพิษในประเทศไทยที่จัดขึ้นในปี 2542 นับเป็นครั้งแรกที่พวกเราหลายคนได้ยินคำว่า “มลพิษตกค้างยาวนาน” นอกเหนือไปจากกลุ่มสารเคมีที่รู้จักกันในนาม “สกปรกหนึ่งโหล (Dirty Dozen)” ซึ่งได้มีการรณรงค์มาในช่วงระยะหนึ่งโดยองค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายที่ทำงานด้านเกษตรกรรมทางเลือก
ในเวทีสัมมนา มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องแหล่งกำเนิดของมลพิษตกค้างยาวนานและพิษภัยของมันที่มีต่อคนและสิ่งแวดล้อมตลอดจนกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศและการปฏิบัติการเพื่อกำจัดมลพิษดังกล่าวให้หมดไปจากโลก ความสนใจของผมที่มีต่อเรื่องราวใหม่นี้ ยังได้นำไปสู่การรับรู้ชีวิตอีกมุมหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์อาวุโสท่านนั้น
ผมพบกับแพท คอสเนอร์อีกครั้งหนึ่งปีถัดมาที่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ในการประชุมเพื่อกำหนดบทบาทภาคประชาชนในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษในอ่าวซูบิคซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นฐานทัพอเมริกัน อีกประเด็นหนึ่งที่มีการรณรงค์อย่างแข็งขันที่มะนิลาในห้วงเวลานั้นคือการออกกฎหมายอากาศสะอาดที่ส่งผลให้มีการห้ามก่อสร้างโรงงานเผาขยะ ซึ่งนำไปสู่การออกกฎหมายการจัดการของเสียเชิงนิเวศ
เป็นครั้งแรกเช่นกันที่ผมรู้จักเจ้าสารเคมีอีกกลุ่มหนึ่ง-ไดออกซิน-ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์มันคือสารเคมีสังเคราะห์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์เคยรู้จัก มันเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม และแหล่งกำเนิดใหญ่ของมันคือกระบวนการเผาไหม้ที่มีคลอรีนเข้าไปเกี่ยวข้อง
เรื่องราวของมลพิษจากกระบวนการเผาไหม้นี้แหละคือชีวิตด้านหนึ่งของแพท คอสเนอร์
แพทเกิดและเติบโตที่อาร์คันซอส์ หลังจบมหาวิทยาลัย เธอเข้าทำงานเป็นนักเคมีอุตสาหกรรม เคยทำงานเป็นนักวิจัยด้านเคมีให้กับบริษัท Syntex ในโคโรลาโดและบริษัทน้ำมันเชลล์ในเท็กซัส แพทกลับมาที่อาร์คันซอส์อีกครั้งหนึ่ง ผันตัวเองทำงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมโดยตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยอิสระที่ยูเรกาสปริงส์
เธอมีบทบาทสำคัญในการเป็นประจักษ์พยานและนำเสนอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการยุติโครงการก่อสร้างโรงเผากากของเสียอันตรายหลายโครงการ เธอวิพากษ์เทคโนโลยีเผาขยะด้วยความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของเธอ และการรณรงค์ยุติเทคโนโลยีเผาขยะนี้เองที่ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเสียผลประโยชน์ เธอทำงานหนุนช่วยภาคประชาชนยุติโครงการก่อสร้างโรงงานเผาขยะของบริษัท Ensco ในอาร์คันซอว์ โครงการของบริษัท MRK ที่จะนำเอาอาวุธเคมีและชีวภาพที่ปนเปื้อนไดออกซินไปเผาในบริเวณชุมชนแจ๊คสันวิลล์ อาร์คันซอว์ รวมถึงโรงงานเผาขยะของบริษัท Waste-Tech ในพื้นที่สงวนของอเมริกันอินเดียนเผ่า Kaw ในโอคลาโฮมา ฯลฯ…
แพทใช้เวลาเกือบห้าปีเขียนรายงานทางวิทยาศาสตร์ชื่อ “เล่นกับไฟ(Playing With Fire)” ซึ่งนำเสนอข้อมูลทางเทคนิคเพื่อวิพากษ์การเผากากของเสียอันตราย และหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีสกปรกนี้ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของสารเคมีอันตรายไปสู่ดินและอากาศอย่างไร
ก่อนรายงานเล่มนี้จะเผยแพร่สู่สาธารณะชน บ้านที่แพทอาศัยและใช้เป็นสำนักงานก็ถูกเผา
ในจดหมายข่าวราเชล คาร์สันซึ่งเป็นจดหมายข่าวอิเล็กทรอนิกส์ขององค์กรรณรงค์สิ่งแวดล้อมแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริการายงานว่า
“บ้านและสำนักงานของแพท คอสเนอร์ นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ถูกเผามอดไหม้ในคืนวันที่ 2 มีนาคม 2534 ตำรวจยืนยันว่าสาเหตุเกิดจากการมีคนวางเพลิง ผู้วางเพลิงใช้น้ำมันราดไว้ทั่วบ้านก่อนจุดไฟเผา แพท คอสเนอร์ไม่ได้อยู่บ้านในขณะนั้นและไม่มีใครได้รับอันตรายจากไฟไหม้ เพลิงไหม้ใช้เวลา 2 ชั่วโมง บ้านชั้นเดียวที่ยูเรกาสปริงส์เหลือแต่เพียงเถ้าถ่านกองอยู่กับพื้น กว่า 30 ปี ของการทำงานในฐานะนักเคมีและนักสิ่งแวดล้อม ห้องสมุดของแพท คอสเนอร์ที่มีหนังสือ รายงานและแฟ้มข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อ้างอิงมาจากเอกสารทางวิทยาศาสตร์พร้อมๆ กับข้าวของเครื่องใช้ของเธอได้ถูกทำลายไปกับเปลวไฟ แพท คอสเนอร์ซึ่งอายุ 50 ปีและลูกของเธออีก 3 คน ช่วยกันสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นด้วยตัวเองตลอดช่วง 17 ปีที่ผ่านมา”
คนรู้จักแพท คอสเนอร์ จากงานเขียนเรื่อง “We All Live Downstream” เธอเขียนขึ้นในขณะที่เป็นผู้อำนวยการร่วมของศูนย์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่ยูเรกาสปริงส์ ต่อมาเธอเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยโครงการรณรงค์ด้านสารพิษของกรีนพีซในสหรัฐอเมริกา นอกจากการเป็น ”นักกิจกรรมรณรงค์ด้านสารพิษ” ผู้คนรู้จักเธอว่าเป็นผู้มีอารมณ์ขันและใจดี โดดเด่นไม่แพ้วิธีคิดเชิงยุทธศาสตร์ของเธอในเรื่องการลดการใช้สารพิษ แพท คอสเนอร์ยังดำรงไว้ซึ่งเชาว์ปัญญาที่ต่อกรกับพวกนักวิทยาศาสตร์ขี้ฉ้อและคอยทิ่มแทงบริษัทอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษแก่ชุมชนยากจน
บิล วอช อดีตผู้อำนวยการรณรงค์ของกรีนพีซในสหรัฐอเมริกาบอกผมว่า “แพท คอสเนอร์เป็นผู้นำทางความคิดในการรณรงค์ด้านสารพิษในสหรัฐอเมริกาตลอดช่วงยุค 70 และ 80 ผมได้ยินจากเธอเป็นคนแรกว่าการปล่อยทิ้งของเสียและสารพิษต้องเป็นศูนย์ (zero discharge) เธอทำงานสนับสนุนการเคลื่อนไหวในระดับชุมชนในดำเนินยุทธศาสตร์การป้องกันมิให้เกิดมลพิษ แพท คอสเนอร์มีกัลยาณมิตรมากมายในขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม แน่นอน เธอย่อมตกเป็นเป้าหมายของพวกธุรกิจอุตสาหกรรมที่เสียผลประโยชน์”
รายงานการสืบสวนการวางเพลิงสรุปว่า มีการราดน้ำมันเชื้อเพลิงเผาบ้านของเธอ โดยทั่วไป บ้านที่โดนเพลิงไหม้จะมีอุณหภูมิไม่เกิน 300-500 องศาฟาเรนท์ไฮต์ในบริเวณพื้นบ้าน และประมาณ 1800 องศาฟาเรนท์ไฮต์ที่ระดับเพดาน ในกรณีของแพท วัสดุที่เป็นโลหะในบ้านถูกหลอมละลายซึ่งชี้ให้เห็นว่าอุณหภูมิการเผาไหม้อย่างน้อยที่สุดคือ 2700 องศาฟาเรนท์ไฮต์ การวิเคราะห์ยังพบร่องรอยของน้ำมันเชื้อเพลิงในเถ้า และพบซากถังน้ำมันกระจายอยู่ในห้องนั่งเล่น แพทบอกว่า “พวกเขาไม่เพียงแต่เผาบ้าน แต่ยังทิ้งข้อความไว้ว่าพวกเขาทำอะไรลงไปด้วย”
เพื่อนบ้านของเธอในยูเรกาสปริงส์ องค์กรชุมชนและองค์กรชนพื้นเมืองอินเดียนแดงระดมเงินช่วยเหลือเธอได้หลายพันเหรียญเพื่อช่วยสร้างบ้านใหม่ เพื่อนร่วมงานในกรีนพีซร่วมบริจาคอีกมากกว่าหมื่นเหรียญ บ้านที่เธอสร้างขึ้นมีมูลค่าประมาณ 25,000 เหรียญ ส่วนห้องสมุดในบ้านที่รวบรวมหนังสือ รายงาน และบันทึกข้อมูลทางเทคนิคของกรีนพีซที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือที่รวบรวมไว้หลายสิบปีนั้นประมาณค่ามิได้
รายงานเรื่อง “เล่นกับไฟ” ออกเผยแพร่สู่สาธารณะชนอีก 2 เดือนหลังจากบ้านของแพทถูกเผา
การเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อหามาตรการและกลไกทางกฎหมายระดับโลกเพื่อกำจัดมลพิษตกค้างที่ดำเนินไปกว่าทศวรรษนับจากการประชุมสุดยอกสิ่งแวดล้อมโลกที่ริโอ เดอ จาเนโร ในที่สุดออกดอกออกผลเป็น “อนุสัญญาสต็อกโฮล์มเพื่อกำจัดมลพิษตกค้าง(Stockholm Convention)” และมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายหลังจากมากกว่า 50 ทั่วโลกให้สัตยาบัน การกำจัดสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงต่อคนและสิ่งแวดล้อมให้หมดไปคือภารกิจสำคัญของรัฐบาลทั่วโลก
วันนี้แพท คอสเนอร์ ในวัยเกือบเกษียณได้อำลากรีนพีซแล้ว เธอยังคงทำงานในฐานะ “นักวิทยาศาสตร์อาวุโส” ให้กับเครือข่ายภาคประชาชนทั่วโลก เธอบอกผมว่าอนาคตที่ปลอดมลพิษเป็นอนาคตที่ท้าทายและหนทางยังอีกยาวไกล…