เรื่อง : ธารา บัวคำศรี
จนกระทั่งต้นฤดูฝนปี 2539 ผมจึงได้มายืนอยู่เหนือแอ่งแม่เมาะ คำพูดของนักข่าวที่เป็นเพื่อนร่วมทางวนเวียนอยู่ในห้วงคำนึง “เท่าที่รู้กัน ข่าวสารพิษจากเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะครึกโครมออกมาในปี 2535 จริงๆ ปัญหามีมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร จนกระทั่งหมอคนหนึ่งบอกว่าเกิดจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์”
มองจากมุมสูง พื้นผิวโลกที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าของผมดูคล้ายหลุมอุกกาบาตมหึมาวางตัวอยู่ในแอ่งภูเขาสลับซับซ้อน นี่คือเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ บาดแผลแห่งโลกที่มนุษย์ขุดเจาะหาแหล่งฟอสซิลเพื่อผลิตไฟฟ้า
ดอยแม่มาน ผาก้าน ผาคัน ห้วยน้ำเงิน ดอยหนอก ผาตูบ ดอยกอ ห้วยเดื่อ ขอนห่ม ผาหอน หนองม้าและผาหิ้ง เทือกเขาชรา 14 ลูก เลือนรางในม่านฝุ่นแขวนลอยสีขาวบาง ปล่องสูง 80 เมตร 3 ปล่องของโรงไฟฟ้าลิกไนต์ที่ขอบเหมืองด้านตะวันตกพ่นควันสีเทาจางเป็นระยะลอยหายไปกับท้องฟ้าหม่น
“แม่เมาะเป็นอำเภอเล็กๆ ของลำปางมี 5 ตำบล ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 7,000-8,000 คน เป็นเมืองน่าอยู่ เทือกเขาหินปูนสวยงาม แต่โชคร้ายที่มีลิกไนต์อยู่ด้วย” คนพูดถึงความงามของถิ่นเกิด แต่ฟอสซิลใต้ผืนโลกกลับเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเขาโดยสิ้นเชิง
ลิกไนต์จากแอ่งแม่เมาะถูกขุดขึ้นมาใช้อย่างจริงจังในปี 2549 ในโรงบ่มใบยาสูบ โรงปูน โรงไฟฟ้าวัดเลียบและสามเสน เป็นเชื้อเพลิงของโรงจักรแม่เมาะเพื่อผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้เมืองลำปาง โรงปุ๋ยเคมีแม่เมาะและงานก่อสร้างที่เขื่อนภูมิพล โรงจักรแม่เมาะปิดกิจกรรมในปี 2512 พร้อมกับการเริ่มกิจการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ.
กฟผ. ดำเนินการขยายเหมืองแม่เมาะเพื่อผลิตถ่านลิกไนต์ป้อนโรงไฟฟ้าที่สร้างใหม่และเปิดดำเนินการในปี 2521 การสำรวจพบลิกไนต์ราว 1,468 ล้านตัน ขุดมาใช้ประโยชน์ได้ราว 1,468 ล้านตัน ใช้ในเชิงพาณิชย์ 628 ล้านตัน พอเป็นพลังงานสำหรับหน่วยผลิต 19 หน่วย แต่ทำเลที่ตั้งของแอ่งแม่เมาะไม่เหมาะสมในการขยายกำลังการผลิตได้ถึงขนาดนั้น
“การผลิตไฟฟ้าที่แม่เมาะ เขาใช้ถ่านหินบดละเอียดเป็นผงพ่นเข้าเตา ต้มน้ำให้เป็นไอเพื่อปั่นกังหันไฟฟ้า ถ่านหินที่พ่นออกมาก็เป็นซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่น ผมไม่แน่ใจว่าประสิทธิภาพของเครื่องดักฝุ่นของโรงไฟฟ้าเป็นไปตามที่ กฟผ. คุยไว้หรือเปล่า” เพื่อนนักข่าวตั้งคำถาม
ในบันทึกของผม
“วันที่ 1-2 ตุลาคม 2535 เครื่องดักจับฝุ่นของโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 2 เกิดขัดข้องเนื่องจากเครื่องเก็บเถ้าอุดตัน ต้องระบายฝุ่นและขี้เถ้าออกมามากกว่าปกติ ประจวบกับสภาพอากาศปิดเนื่องจากความกดอากาศสูงและการผกผันของชั้นอุณหภูมิ ทำให้ฝุ่นและควันของโรงไฟฟ้าไม่สามารถแพร่กระจายได้ดีเท่าที่ควร ทิศทางลมพัดจากโรงไฟฟ้าไปยังหมู่บ้านสบป้าดซึ่งตั้งอยู่ด้านใต้ด้วยความเร็วต่ำ เวลานั้นเอง ชาวบ้านสบป้าดล้มป่วยด้วยโรคทางเดินทางหายใจเป็นจำนวนมาก มีอาการแสบจมูก แสบคอ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หายใจฝืด หายใจติดขัดเกิดขึ้นพร้อมกัน ต้นไม้ใบหญ้าไหม้เกรียมเหมือนถูกเผา ชาวบ้านรู้สึกว่ามีกลุ่มควันหนาแน่นและเหม็นกลิ่นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เดือนเมษายนอีกสองปีถัดมา ฝนตกติดต่อกันที่แม่เมาะทำให้อากาศปิด ฝุ่นและควันจากโรงไฟฟ้าฟุ้งกระจายลงหมู่บ้านสบป้าดและแม่จาง ชาวบ้านต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก”
ปัญหามิได้มีเพียงมลพิษจากการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น การทำเหมืองแบบเปิด ฝุ่นถ่านหินจะกระจาย ก่อให้เกิดการระคายเคืองมากกว่าฝุ่นธรรมดา ทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว ความชื้นในอากาศต่ำ ฝุ่นจึงกระจายได้มากขึ้น
“จากปี 2521 เป็นต้นมา ปริมาณถ่านหินที่ขุดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผลกระทบที่มีต่อคนแม่เมาะที่อยู่ใกล้เหมืองคงจะมีมากขึ้น แต่ไม่รู้ว่าฝุ่นฟุ้งกระจายไปไกลแค่ไหน” ผมนึกถึงคำพูดของคุณศรีสะเกษ สมาน คนทำงานพัฒนาชนบทที่ลำปาง บอกว่า “ขี้เถ้าถ่านหินจะลำเลียงสายพานมาใส่รถบรรทุกแล้วไปทิ้ง คนที่ทำงานอยู่ตรงสายพานนี้เป็นโรคกระดูก โรคข้อกันมาก หลายคนเป็นโรคหืดหอบ สายพานตรงนี้แทบไม่มีคนทำ ถ้ามีก็มาจากภาคอิสาน”
การศึกษาสภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจของคนในอำเภอแม่เมาะเทียบกับคนจังหวัดลำปางของคณะแพทย์กลุ่มหนึ่งโดยเก็บข้อมูลย้อนหลังผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจทุกชนิดที่มารับการบริการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแม่เมาะ สถานีอนามัยตำบล กองการแพทย์และอนามัยของ กฟผ. ช่วงเดือนตุลาคม 2531 ถึงเดือนกันยายน 2533 พบว่าจำนวนครั้งของการป่วยของคนอำเภอแม่เมาะมีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดลำปางประมาณ 3 เท่า การเกิดโรคทางเดินหายใจส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุ 0-14 ปี และกลุ่มวัยแรงงานที่ทำงานในเหมือง ลักษณะการกระจายโรค กระจายอยู่ทางทิศเหนือและตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ สัมพันธ์กับทิศทางลมจากใต้ไปเหนือตามแนวช่องเขาในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม
การศึกษานี้ตรงกับสมมุติฐานที่ว่า ชุมชนบริเวณใกล้เหมืองถ่านหิน อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากการขนส่ง การเปิดหน้าดิน การสันดาปในตัวเองโดยมีลมเป็นปัจจัยของการฟุ้งกระจาย และบริเวณที่ไกลจากโรงไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบเนื่องจากฝุ่นและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกจากปล่องโดยมีลมเป็นปัจจัยของการฟุ้งกระจาย
คณะผู้ศึกษายังได้ตั้งข้อสังเกตถึงระดับของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มีผลต่อมนุษย์ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ระดับที่น่าจะมีผลต่อมนุษย์น้อยคือต่ำกว่า 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง รายงานการตรวจอากาศของ กฟผ. แม่เมาะปี 2531 ในเขตปฏิบัติงานต่าง ๆ ล้วนแต่มีค่าสูงกว่ามาตรฐานทั้งสิ้น
“การวัดระดับคุณภาพอากาศที่ดำเนินการอยู่เป็นการวัดคุณภาพอากาศหลังจากที่มีการฟุ้งกระจายของฝุ่นและก๊าซต่าง ๆ ในบรรยากาศ หลังจากที่ปล่อยออกจากปล่องหรือจากเหมือง ค่าเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปแล้วแต่อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ทิศทางลม การควบคุมจึงทำได้ยากและไม่ทราบว่าฝุ่นและก๊าซที่ระดับเท่าไรที่จะไม่มีผลต่อมนุษย์ น่าจะวัดที่ปากปล่องว่าจะปล่อยออกมาไม่เกินระดับเท่าใด หรือควบคุมที่บ่อเหมืองว่าจะให้มีการฟุ้งกระจายเท่าไร” ข้อเสนอจากการศึกษานี้แสดงถึงความห่วงใยต่อสุขภาพของคนแม่เมาะ แต่หลังจากนั้น นายแพทย์ไชยอนันต์ ทยาวิวัฒน์ ผู้ทำการศึกษาก็ไม่ได้เป็นผู้อำนายการของโรงพยาบาลแม่เมาะอีกแล้ว
สิ่งที่คนแม่เมาะเผชิญอยู่ ศรีสะเกษ สมาน เล่าว่า “วิธีการแก้ปัญหาของ กฟผ. ไม่ตรงจุด เมื่อเกิดเรื่องก็เข้าไปทำสาธารณูปโภค ทำถนน ต่อประปา เอาเงินค่ารักษาพยาบาลให้ แต่ว่ามันไม่หายป่วย ชาวบ้านขอร้องบอกว่า ไม่ต้องจ่ายเงิน เราไม่อยากได้เงินคุณ อยากให้คุณยอมรับว่าพวกเราป่วย สัตว์เลี้ยงเราเป็นโรค ต้นไม้เราเสียหายจากมลพิษ”
ผมเดินทางเข้าไปหมู่บ้านสบป้าดหลังจากมีข่าวว่าจะมีการอพยพโยกย้ายหมู่บ้านหลายแห่งออกไปจากพื้นที่ ไถ่ถามชาวบ้าน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาไม่อยากย้ายไปไหน มีคนไม่กี่คนที่ต้องการย้ายออกไป ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า ข่าวการประท้วงที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับนั้น ชาวบ้านขอเจรจาให้ กฟผ. ลดการผลิตลง
การแก้ปัญหามลพิษและอ้างความจำเป็นต้องขยายเหมืองถ่านหินโดยการอพยพชุมชนไม่ใช่เรื่องง่ายดายเหมือนในอดีต คำพูดของแม่อุ๊ยที่หาข้าวปลามาเลี้ยงผมและเพื่อนนักข่าวยืนยันชัดเจนว่า กฟผ. ต้องแก้ปัญหามลพิษ นี่คือความรับผิดชอบที่แท้จริง ไม่ใช่การอพยพโยกย้ายชุมชนเพื่อหนีปัญหา
ในฐานะคนแปลกหน้าผู้มาเยือน ท่าทีของชาวบ้านสบป้าดระมัดระวังที่จะพูดเรื่องผู้ป่วยจากมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เสียชีวิตไปแล้ว พวกเขาบอกว่า ปัญหาไม่รุนแรงเหมือนปี 2535 และ 2537 คนในหมู่บ้านทักทายเราด้วยสายตาประหลาดใจแล้วเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม รอบยิ้มต่อชะตากรรมที่อาจแปรเปลี่ยน เมื่อเราพ้นออกมาจากเขตหมู่บ้าน ความมืดเริ่มห่มคลุมเทือกเขาชราที่ทะมึนอยู่เบื้องหลัง ในความมืดเราเห็นแสงไฟและกลุ่มหมอกควันทะมึนจากโรงไฟฟ้า ผมอยากรู้เหลือเกินว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกบ้างในวันข้างหน้า…