เรื่อง : ธารา บัวคำศรี
เวลาเทียงคืน ภายในโรงงานแห่งหนึ่ง คนงานหญิงกำลังประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เล็กจิ๋ว ในความเงียบ มีแต่เสียงกระหึ่มของเครื่องจักร
ทันใด เสียงกรีดร้องดังขึ้น “ผี…มีผีอยู่ในห้องน้ำ” คนงานหญิงคนหนึ่งเกิดชักดิ้นชักงอ ล้มตัวลงบนพื้น เพื่อนคนงานพากันแตกตื่น บางคนเข้ามาจับร่างที่สั่นเทา แขนขาของเธอปัดป้องไม่ให้ใครเข้ามาใกล้ หลายคนเข้ามาช่วยกันปลอบจนอาการดีขึ้นและนำตัวเธอออกไป หลังเที่ยงคืน ภายในโรงงานแห่งนั้น เงียบลงอีกครั้งหนึ่ง
ฟาติมะ ดาอุด อาจารย์ด้านมานุษยวิทยาสังคมของมหาวิทยาลัยแห่งมาเลย์ มีส่วนรับรู้เหตุการณ์นี้ เธอสมัครเข้าทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่เขตอุตสาหกรรมส่งออกซูไกเวย์ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อปี 2520 โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก
คนงานหญิงผู้นั้นอายุ 20 ปี ทำงานได้หนึ่งปีกว่า เธอกับเพื่อนไปหาหมอเพราะรู้สึกเครียดและอ่อนเพลีย หมอแนะนำให้เธอพัก 2-3 สัปดาห์ แต่ผู้จัดการโรงงานอนุญาตให้พักเพียง 2 วัน ตกเย็น ที่หอพักคนงาน เธอร่ำไห้ “ฉันไม่อยากอยู่ที่นี่ ไม่อยากทำงานในโรงงานอีกแล้ว ฉันอยากกลับบ้าน” คืนต่อมาเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นอีก ทำให้เธออิดโรย วันที่สาม เธอเข้าทำงานด้วยสีหน้าซีดเซียว ขณะที่อยู่ในห้องน้ำ เธอเกิดอาการคลุ้มคลั่ง
คือฉากแรกของบทความเรื่อง คนงานหญิงในโรงงานสมัยใหม่ – ผลกระทบของระบบจัดการโรงงานแบบญี่ปุ่นในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ โดย ยาโยริ มัตสุอิ นักข่าวหญิงแห่งอาซาฮีชิมบุน เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ผู้หญิงเอเชีย ตีพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษในปี 2534 เหตุการณ์เกิดมาเนิ่นนานแล้ว แต่สะท้อนให้เห็นภาพมืดมนของการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงปัจจุบัน
แมสฮิสทีเรียถูกนำใช้ในความหมายที่ผิด ภาวะเจ็บป่วยและกดดันในการทำงานของคนงานจึงถูกมองข้าม แท้ที่จริง แมสฮิสทีเรียเป็นอาการของโรคจากการทำงาน เกิดขึ้นภายใต้สายพานการผลิตทางอุตสาหกรรมในภูมิภาคต่าง ๆ
แมสฮิสทีเรียเคยเกิดขึ้นในอังกฤษในช่วงก่อตัวของระบบทุนนิยมเมื่อศตวรรษที่ 19 คนงานหญิงประสบกับอาการดังกล่าวซึ่งบางทีเรียกว่า อาการบ้าชั่วคราว ร่วมกับโรคอีนีเมียซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดต้นคอ เนื่องจากสถานที่ทำงานไม่มีระบบการถ่ายเทอากาศที่ดีและคนงานตกอยู่ในภาวะกดดัน ปัญหาการทำงานและสุขภาพที่เคยเกิดขึ้นในอังกฤษยังปรากฏให้เห็นเมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่น
ราวปี 2524 ในโรงงานผลิตรองเท้าแห่งหนึ่งภาคตะวันตกตอนกลางของสหรัฐอเมริกา คนงานหญิงมีอาการคล้ายกับคนงานในอังกฤษ โรงงานใช้กาวชุดใหม่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต คนงานหญิงสี่คนมีอาการหน้ามืดเป็นลม ต้องหยุดทำงาน วันต่อมา คนงานจำนวนมากมีอาการปวดหัว อาเจียน ตาพร่าเลือน ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก ได้มีการระบายอากาศออกนอกโรงงาน แต่ไอระเหยของสารเคมีอันตรายกระจายสู่กลุ่มคนงานที่ยืนอยู่บริเวณลานจอดรถ คนงานมากกว่า 48 คนล้มป่วยลง เจ้าหน้าที่จากองค์กรสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานเข้าตรวจสอบโรงงานแต่ไม่พบร่องรอยสารพิษ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น 20 ครั้ง ที่โรงงานแห่งอื่นในช่วงเวลานั้น
นักอนามัยอุตสาหกรรมเชื่อว่า คนงานหลายคนมีสัมผัสที่ไวต่อสารเคมีในปริมาณน้อย ระดับของมันต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดโดยองค์กรสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานมาก นักจิตวิทยา เชื่อว่า อาการนี้มาจากหลายสาเหตุ สภาพทางกายภาพและความเครียด ระบบระบายอากาศไม่ดี แสงสว่างไม่เพียงพอ ไอระเหยของสารเคมี การทำงานซ้ำซากจำเจ และความกดดันจากงานในสายพานการผลิต รวมถึงความรู้สึกไม่สบายใจ ดังนั้น สารเคมี หรือ อันตรายทางกายภาพมีส่วนทำให้เกิดอาการบ้าชั่วคราวแพร่หลายในหมู่คนงาน
อาการบ้าชั่วคราวเคยเกิดขึ้นกับคนงานหญิงมุสลิมในปีนัง มาเลเซีย คนงานจะมองเห็นวิญญานลึกลับขณะที่ส่องกล้องไมโครสโคป เธอจะล้มลงพื้น กรีดร้องว่าผีเข้าและมีอาการคลุ้มคลั่ง จากนั้นแมสฮิสทีเรียก็กระจายไปยังคนอื่นๆ บางครั้งโรงงานต้องปิดหลายวันเพื่อทำพิธีขับไล่วิญญานชั่วร้าย
คนงานหญิงส่วนใหญ่มาจากชนบท ทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย รายงานของผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรแรงงานสากลบอกว่า ที่ทำงานหรือที่พักผ่อนในโรงงานไม่มีบรรยากาศส่วนตัว แม้แต่ห้องน้ำผู้หญิงก็ไม่มีประตู สำหรับผู้หญิงมุสลิม เธอต้องมีพื้นที่ที่จัดไว้เป็นสัดส่วนในการทำละหมาด เมื่อมาอยู่รวมกันก็ไม่สามารถทำในสิ่งเหล่านี้ได้ ภาวะกดดันจึงเกิดขึ้น
ช่วงที่มาเลเซียและสิงคโปร์กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีรายงานการเกิดแมสฮิสทีเรียในหมู่คนงานหญิงชาวมาเลย์ในโรงงานสมัยใหม่ของบรรษัทข้ามชาติจากตะวันตกและญี่ปุ่นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ช่วงที่ฟาติมะ ดาอุด ทำการศึกษาวิจัย เธอพบว่า คนงานในโรงงาน 20 แห่ง เกิดอาการแมสฮิสทีเรีย
เหตุการณ์ที่โด่งดังเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ช่วงปี 2517-2518 บริษัทเยเนอรัลอิเลกตริกต้องปิดโรงงาน 3 วัน เพราะคนงานย้ายถิ่นจากมาเลเซียเกิดอาการแมสฮิสทีเรีย บริษัทได้นำหมอผีมาขับไล่วิญญานออกไปจากโรงงาน
ฝ่ายโรงงานเห็นว่าคนงานบางคนอาจมีปัญหาส่วนตัวและการปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองจึงเกิดอาการขึ้นแต่ฟาติมะวิเคราะห์ว่า คนงานหญิงรู้สึกตัวเองเหมือนหุ่นยนต์ วันแล้ววันเล่ากับงานที่ซ้ำซาก น่าเบื่อหน่าย นายจ้างสอดส่องดูการทำงานอยู่ตลอดเวลา ความอ่อนเพลียจากการทำงานเป็นเวลานานและงานกะกลางคืน กฎเกณฑ์อันเข้มงวด ไม่มีวันหยุด-วันลาป่วยพอเพียง สภาพที่พักอาศัยไม่ดี และรู้สึกโดดเดี่ยวไม่มีใครให้คำปรึกษา ภาวะเหล่านี้สะสมจนระเบิดออกเป็นแมสฮีสทีเรีย สะท้อนความแปลกแยกของคนงานในระบบสายพานการผลิต พวกเขาคือเป้าหมายของการกดขี่ขูดรีด การตั้งสหภาพแรงงานเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงไม่มีหนทางอื่นใดให้พวกเขาได้บอกเล่าความทุกข์ยาก
ถ้าแมสฮิสทีเรียเกิดจากการเร่งหรือบีบบังคับให้เชื่อฟังคำสั่งในโรงงาน และคือการต่อต้านการขูดรีดแรงงานในยุคทันสมัยในมาเลเซีย การเจ็บป่วยล้มตายของคนงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยนั้นล้วนเกิดจากสาเหตุที่ไม่แตกต่างกัน
วันนี้นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือมีอายุกว่าหนึ่งทศวรรษ เป็นเขตอุตสาหกรรมแห่งแรกและแห่งเดียวในภาคเหนือตอนบน หมู่บ้านที่ตั้งอยู่รอบนิคมอุตสาหกรรมเต็มไปด้วยหอพักคนงาน มีตลาด ร้านอาหาร ร้านค้า ร้านเหล้า ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด เมืองเล็กๆ เงียบสงบยังมีดิสโกเธค คาราโอเกะหล่อเลี้ยงชีวิตคนงานยามค่ำคืน คนงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า กรรมกรเสรี
แมสฮิสทีเรียไม่เกิดขึ้นที่ลำพูนเหมือนกรณีคนงานหญิงมุสลิมในมาเลเซีย เพราะเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน กรรมกรที่ลำพูนมีช่องทางระบายความกดดันจากการทำงาน คนที่อยู่ได้ก็อยู่ไป คนที่ป่วยในที่สุดก็ต้องออกจากงาน คนที่ตายไปก็ตายไปอย่างเงียบๆ นี่คือโรคลึกลับที่ลำพูน
โรคลึกลับที่ลำพูนคือร่างกายที่ทรุดโทรมและไร้ชีวิตของคนงาน คือองคาพยพของแม่น้ำ อากาศ และแผ่นดินที่สังเวยให้กับบรรยากาศการลงทุน คือชีวิตทั้งมวลของเหล่ากรรมกรในสายพานการผลิตที่เสี่ยงอันตรายโดยมีค่าจ้างรายวัน เงินล่วงเวลา เบี้ยขยัน เป็นสิ่งตอบแทน
คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านยางส้ม แถบอำเภอบ้านโฮ่ง ลำพูน พูดเรื่องนี้กับผมว่า “เด็กพวกนี้จบชั้น ป.6 หรือ ม.3 ทำงานนิคมได้เงินเดือนละ 6,000 – 7,000 บาท สารพิษในโรงงานมีจริง แต่เด็กไม่กลัวเพราะมัวเมาเงิน”
เงินทองหาง่าย เพียงแค่กรอกใบสมัครของโรงงานที่ประกาศรับพนักงานฝ่ายผลิต เพศหญิง อายุไม่เกิน 25 ปี จบชั้นมัธยม 3 และเธอผู้นั้นเข้าไปเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งของโรงงาน รายได้เฉลี่ยต่อเดือนพอที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น แต่เงินและชีวิตที่ดีต้องแลกกับสัญญานร้าย
คุยกับชาวบ้านในหมู่บ้านรอบนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือทุกครั้ง พวกเขาจะรู้สึกวิตกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ บางคนพูดชัดเจนว่า หอพักหลายแห่งเป็นแหล่งมั่วสุมทางเพศ คนงานหญิงชายหลายคู่อยู่ด้วยกันโดยพ่อแม่ไม่รู้
โรคลึกลับที่ลำพูนคืออาการป่วยไข้ภายใต้วิถีชีวิตที่ขึ้นต่ออุตสาหกรรม ไม่มีใครปฏิเสธว่า การแพร่ระบาดของโรคเอดส์เป็นไปอย่างรุนแรงและรวดเร็วในภาคเหนือและคนงานภาคอุตสาหกรรมอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ ทว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกลับมองข้ามโรคจากงานอุตสาหกรรมซึ่งมีปัญหาเฉพาะที่ต้องดูแลเอาใจใส่และยอมรับถึงปัญหา
โรคลึกลับที่ลำพูนเกี่ยวข้องกับมายาภาพที่ว่าอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของบรรษัทข้ามชาตินั้นสะอาดและปลอดภัย ความจริงแล้ว “หุบเขาซิลิกอน” จุดกำเนิดการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์เองก็ยังคงมีปัญหาสุขภาพของคนงานและสิ่งแวดล้อม