เรื่อง : ธารา บัวคำศรี
ชายหนุ่มอายุ 22 ปี คนหนึ่ง บ้านเดิมอยู่มะเขือแจ้ ฟากตะวันออกของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ต่อมาได้เป็นเขยบ้านศรีบัวบาน เขาขอร้องไม่ให้เปิดเผยชื่อจริง ผมจึงเรียกเขาว่า น้อยอ้าย (หมายถึง ลูกคนโตที่เคยบวชสามเณร) ด้วยวุฒิการศึกษา ม.6 จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดลำพูน เขาสมัครทำงานบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในเขตส่งออกของนิคมอุตสาหกรรม เมื่อเดือนตุลาคม 2533 จากลูกหลานชาวนา น้อยอ้ายแปรสภาพเป็นแรงงานอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่มาแรง “อิเล็กทรอนิกส์”
เขาทำงานในแผนกวัตถุดิบ ขั้นตอนเริ่มต้นการผลิตอลูมินาเซรามิคส์ให้เป็นฐานของแผ่นวงจรไฟฟ้า ส่งต่อให้โรงงานอื่นๆ ในนิคมฯ และส่งออกตามออเดอร์ของบริษัทญี่ปุ่น งานที่น้อยอ้ายทำอยู่เบื้องหลังป้ายชื่อ “เมดอินแจแปน”
ค่าจ้างวันละ 136 บาท ทำงานกะกลางวัน 10 วัน สลับกับงานกะกลางคืน 10 วัน หมุนเวียนกันไปโดยหยุด 1 วันทำโอทีสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 3 ชั่วโมง คือจังหวะชีวิตของน้อยอ้ายและเพื่อนคนงานอีก 5 คน ในแผนกเดียวกัน
นอกจากตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรทุกๆ 2 ชั่วโมง น้อยอ้ายต้องผสมสารต่างๆ คือ ผงอลูมินา กลีเซอรีน เซรามิซอล เซลูน่า น้ำบริสุทธิ์และแผ่นอลูนาเซรามิคส์(ที่เสียและนำมาบด) ลงในเครื่องผสม ส่วนผสมจะผ่านเครื่องอัดรีดเป็นแผ่น ผ่านตู้อบอุณหภูมิสูง เข้าเครื่องตัดและเครื่องม้วนก่อนส่งให้แผนกอื่นในโรงงาน เขาอธิบายสภาพการทำงาน “ทุกครั้งที่มีการผสม บรรยากาศในห้องทำงานจะมีฝุ่นเต็มไปหมด เครื่องจักรก็มีเสียงดังตลอดเวลา ถึงแม้โรงงานจะแจกผ้าปิดจมูกและอุดหู ก็เอาไม่อยู่”
น้อยอ้ายเล่าต่อว่าต้นปี 2538 เป็นต้นมา เครื่องผสมวัตถุดิบไม่ทำงาน จึงใช้พนักงานผสมเอง ตามเนื้อตามตัวจึงเต็มไปด้วยฝุ่นและรู้สึกระคายตามผิวหนัง ทว่า การเจ็บป่วยของเขาเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2537 แล้ว น้อยอ้ายมีอาการปวดหัว ปวดตามแขนขา บางครั้งชาตามปลายนิ้วมือทั้งสองข้าง เป็นๆ หายๆ และกินแต่ยาพาราเซตามอล เคยไปหาหมอที่คลินิกในเมืองหลายครั้ง แต่อาการยังเหมือนเดิม เขาพูดเปรยกับผม “สารพิษมีจริง อยากลาออก แต่ไม่รู้จะไปทำอะไรดี”
เด็กสาวอายุ 21 ปี คนหนึ่ง อยู่บ้านศรีบัวบาน ตั้งอยู่ด้านใต้ของนิคมอุตสาหกรรม ทำงานในบริษัทเดียวกับน้อยอ้าย พูดถึงสภาพการทำงานในแผนกพั๊นชิ่งและชินเนอริ่ง เธอบอกว่า เริ่มงานแปดโมงเช้าไปจนถึงห้าโมงเย็น ทำโอทีต่อ 5 ชั่วโมง ถ้างานมาก บริษัทจะให้ทำตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงเที่ยงคืน ได้กลับบ้านตอนตีหนึ่ง แผนกพั๊นชิ่งมีหน้าที่นำชิ้นงานที่เรียกว่ากรีนชีท มาปัดฝุ่น มือซ้ายถือชิ้นงาน มือขวาปัดฝุ่น แต่ละวันจะมีฝุ่นเกาะตามแขนขาเสื้อผ้า ส่วนแผนกชินนาริ่ง เธอทำงานที่เรียกว่า Red Check โดยนำแผ่นกรีนชีท ที่เผาแล้วมาตรวจรอยร้าวด้วยการแช่ลงในน้ำยาสีแดงที่มีส่วนผสมของโซดาไฟ ฟินอฟทาลีน และน้ำ
“น้ำยาร้อนมากและมีกลิ่นฉุน ถึงจะสวมถุงมือยาง มือก็ยังลอกแตก เวลาสูดกลิ่นน้ำยาเข้าไปมากๆ จะปวดหัว” เธอบอก เช่นเดียวกับน้อยอ้าย เธอทำงานได้ 1 ปี เริ่มมีอาการปวดหัวและอ่อนเพลียมือไม่มีแรง อาการปวดหัวรุนแรงมากต้องไปหาหมอในเมืองลำพูน หมอฉีดยาและให้ยามากิน แต่ไม่แจ้งว่าอาการป่วยเกิดจากอะไร จนกระทั่งน้อยอ้ายและเธอเดินทางไปตรวจร่างกายที่กรุงเทพฯ
“ทั้งสองคนเป็นโรคพิษอลูมินาเรื้อรังจากการทำงาน มีประวัติการสัมผัสอลูมิเนียมในงานผลิตและตรวจพบอลูมิเนียมในร่างกายเกินกว่าค่าที่ยอมรับได้” พญ. อรพรรณ เมธาดิลกกุล แห่งโรงพยาบาลราชวิถี ผู้วินิจฉัยอาการป่วยของคนทั้งสองให้คำตอบที่เข้าใจได้ทันทีเมื่อผมพยายามสืบเสาะเรื่องราว
คุณหมอให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ยุคนี้คืออุตสาหกรรมไฮเทค เกี่ยวข้องกับสารเคมีและปิโตรเคมี การเกิดโรคจะเร็วกว่าอุตสาหกรรมยุคก่อน โรคจากฝุ่นใช้เวลา 10 ปี แต่โลหะหนัก สัมผัสเพียง 2-3 ปี ก็เกิดโรคแล้ว ยิ่งสัมผัสมากยิ่งมีอาการเร็วมาก อุตสาหกรรมไฮเทคเหล่านี้ หลอกคนงานให้เข้าใจว่าสะอาด ให้ทำงานติดต่อกันนานๆ ให้มีความรับผิดชอบสูง ทำโอที คนงานอิเล็กทรอนิกส์ทำงานเบา ดังนั้น ช่วงแรกๆ บางคนทำถึงสองกะ จึงสัมผัสสารเคมีและตายเร็ว
การศึกษาในปี 2522 และ 2524 ในสหรัฐอเมริกา พบอาการหอบหืดในกลุ่มคนงานอิเล็กทรอนิกส์ สารที่ทำให้เกิดอาการนี้คือ โคโลโฟนี (Colophony) เป็นยางชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับเชื่อมโลหะ
คุณหมอสมชาย วงศ์เจริญยง แห่งโรงพยาบาลปาดังเบซาร์ เคยเขียนไว้ว่า ความสะอาดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นภาพพจน์ภายนอก ผู้บริหารส่วนใหญ่อยากให้มีเพราะเห็นว่าไม่ส่งกลิ่นเหม็นและเข้าใจว่าไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แต่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ใช้วัตถุดิบจำนวนมาก มีแก๊สหลายชนิด โลหะหนักกว่า 40 ชนิด กรด-ต่าง เรซินและอีพอกซี สารจำพวกโพลิเมอร์และสารทำละลายมากกว่า 50 ชนิด สารเหล่านี้ บ้างเป็นสารก่อมะเร็ง บ้างทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ แท้งลูก บ้างเป็นสารที่มีความรุนแรงในการทำลายเนื้อเยื่อและกระดูกสูงมาก บ้างเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ
ข้อมูลจากสถิติกองทุนเงินทดแทนของคนงานในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ช่วงปี 2523 – 2527 ย้ำสถานการณ์นี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คนงานในอุตสาหกรรมเซมิคคอนดักเตอร์มีอุบัติการณ์ความเจ็บป่วยโดยเฉพาะจากสารพิษสูงมากกว่าอุตสาหกรรมหนักอื่น ๆ เช่น ก่อสร้าง เหล็ก ปิโตรเคมี และอัตราความเจ็บป่วยเพิ่มอย่างสม่ำเสมอ
อุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์ไม่สะอาดและปลอดภัยเหมือนภาพพจน์ที่ประชาสัมพันธ์ไว้ โรบิน เบกเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการอาชีวอนามัยแรงงานของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ เธอเติบโตที่ซิลิกอนวัลเลย์ รับเชิญมาบรรยายในการประชุมว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัยในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เมืองปิตาลิงจายา มาเลเชีย เมื่อเดือนธันวาคม 2535 “จากการทำงานกับกลุ่มคนท้องถิ่น กลุ่มรณรงค์และสหภาพแรงงานในซิลิกอนวัลเล่ย์ เราพบว่า ในห้องคลีนรูมของโรงงานซึ่งมีระดับฝุ่นน้อยกว่า 100 เท่าของระดับฝุ่นในโรงพยาบาลทันสมัย ถูกออกแบบไว้เพื่อป้องกันความเสียหายของไมโครชิป โรงงานไม่เห็นความจำเป็นที่ป้องกันคนงานการสัมผัสสารเคมีนานาชนิดในกระบวนการผลิตเอาเสียเลย”
โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือมีจำนวน 16 โรงงาน ทั้งหมดเป็นของบรรษัทข้ามชาติในเขตส่งออกซึ่งมีเนื้อที่รวม 808 ไร่ ผลิตชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ภายใต้กระบวนการผลิตและขั้นตอนต่างๆ เช่น ดีเลย์-ไลน์ ฐานแผ่นวงจรไฟฟ้า ตัวกรองสัญญานความถี่ ตัวกำเนิดสัญญานเสียง ตัวต้านทางไฟฟ้าปรับค่าได้ ตัวเก็บประจุแบบเซรามิค ผลึกควอทช์ประกอบตัวไอซี เป็นต้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีคำถามถึงความปลอดภัยและการเจ็บป่วยล้มตายของคนงาน แต่ไร้คำตอบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการผลิตและวัตถุดิบถูกปกปิดเป็นความลับเนื่องจากการแข่งขันสูงและเทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การวิจัยด้านอาชีวอนามัยมีน้อย
ผมได้ยินมาว่า ในมาเลเซียซึ่งอุตสาหกรรมนี้เริ่มมาก่อนไทยตั้งแต่ปี 2510 คณะทำงานด้านแรงงานยังยอมรับว่า จนถึงบัดนี้ยังไม่มีการศึกษาวิจัยสุขภาพและความปลอดภัยที่เป็นอิสระทั้งหน่วยงานรัฐบาล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยหรือองค์กรอื่นๆ ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปทำการศึกษาในโรงงาน
เช่นเดียวกับไทย เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะทำงานศึกษาปัญหาและเสนอแนวทางยกระดับสุขภาพพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือในเดือนพฤษภาคม 2537 กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานไม่ยินยอมให้คณะทำงานทีมที่ศึกษาข้อมูลการป่วย – ตายและสาเหตุย้อนหลัง 3 ปี เข้าตรวจสอบ โดยอ้างว่าคณะทำงานไม่มีความเป็นกลาง
ฝุ่นควันสีขาวคลี่คลุมบรรยากาศเหนือโรงงาน ควันสีดำจากเตาเผาขยะลอยเป็นสาย “สาธารณชนต้องตรวจสอบเทคโนโลยี” ผมอ่านเจอประโยคนี้ที่ไหนสักแห่ง แต่เราจะเริ่มต้อนจากที่ไหนดี
อัลวิน ทอฟเลอร์ เขียน ”คลื่นลูกที่สาม” มองโลกในศตวรรษที่ 21 ในแง่ดีว่าจะไม่มีภาพของกรรมกรถูกดขี่และทำงานในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย “…โรงงาน โรงงานจงเจริญ ทุกวันนี้ แม้จะยังมีการก่อสร้างโรงงานใหม่ๆ กันต่อไป แต่อารยธรรมที่ทำให้โรงงานเป็นพระเจ้านั้นกำลังดับสลาย มีหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งกำลังเดินทางผ่านความมืดแห่งรัตติกาลเข้าสู่อารยธรรมคลื่นลูกที่สามที่เกิดใหม่ นับแต่นี้ไป…”
หนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่ทอฟเลอร์พูดถึงนั้นคงจะไม่ใช่คนหนุ่มสาวที่ขายแรงงานให้กับบรรษัทข้ามชาติในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อย่างแน่นอน