พอเครื่องบินลงเรียบร้อยที่สนามบิน Kastrup ของกรุงโคเปนเฮเกน มีโอกาสเข้าเว็บไซต์ของ Greenpeace แล้วก็พบว่านาฬิกานับถอยหลังสู่การประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน (Countdown to Copenhagen) นั้น เหลือเวลาอีก 24 ชั่วโมงพอดี ก่อนที่การประชุมครั้งประวัติศาสตร์ของโลกจะเริ่มขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมหันตภัยจากโลกร้อน

สิ่งแรกที่สังเกตเห็นตอนออกจากสนามบินคือ แผ่นป้าย Billboard โฆษณาที่มีผู้นำของโลกที่แก่แล้วพูดว่า “เราเสียใจมาก เราน่าจะได้ทำอะไรเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายจากมหันตภัยโลกร้อน … แต่เราก็ไม่ได้ทำ”

barack-obama
ผมก็ได้แต่หวังว่า เหล่าผู้นำของโลกที่อยู่ในป้ายโฆษณานี้ ไม่ว่าจะเป็น Lula ของบราซิล Tusk ของโปแลนด์ Brown ของอังกฤษ Merkel ของเยอรมนี Sarkozy ของฝรั่งเศส ~Zapatero ของสเปน Medvedev ของรัสเซีย Harper ของแคนาดา และ Rudd ของออสเตรเลีย จะมองเห็นและเข้าใจนัยยะของป้ายโฆษณาชิ้นนี้ของ Greenpeace ว่าเป็นการเตือนและเร่งให้สำนึกถึงความรับผิดชอบของผู้นำเหล่านี้ต่อคนรุ่นต่อไปและตัดสินใจในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อให้โลกเราได้ข้อตกลงที่เป็นธรรม มีเป้าหมายสูง และมีผลบังคับทางกฎหมาย หรือที่เรียกว่า FAB (Fair, Ambitious and Binding) สำหรับการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

คนนับหมื่นเดินทางมาร่วมประชุมที่โคเปนเฮเกน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันสั้นๆ ว่า การประชุม COP 15 ซึ่งเป็นการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 15 โรงแรมและที่พักต่างๆเต็มหมด แม้กระทั้ง หอพักนักเรียน หรือห้องใต้ถุนก็ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นที่พักเพื่อต้อนรับคนนับหมื่นเหล่านี้ แล้วก็นับว่าโชคดีทีเดียว ผมได้ที่พักที่หอพักนักเรียนซึ่งผมต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คนจากองค์กร Friend of the Earth เยอรมนี

ในวันแรกที่ Bella Centre สถานที่จัดประชุมในครั้งนี้ ผมต้องตะลึงกับคิวผู้เข้าร่วมประชุมที่ยาวเหยียดเป็นกิโล เพื่อรอลงทะเบียนท่ามกลางอากาศที่หนาวจับจิต มีทั้งเหล่านักเจรจา นักข่าว จาก 192 ประเทศทั่วโลก ยังไม่นับรวมกลุ่ม NGO และกลุ่มภาคประชาสังคมที่มาจากทั่วทุกหัวระแหงของโลกแต่คิวที่ยาวเหยียดนี้ ก็มีข้อดีอยู่ คือทำให้หลายกลุ่มสามารถเล่นแคมเปญต่างๆกับคนที่กำลังรอคิวอยู่ได้ ซึ่งก็รวมถึงซุ้มกาแฟของ Greenpeace ที่มีนักกิจกรรมมาคอยให้บริการการแฟร้อนๆ กับผู้ที่อยู่ในคิวพร้อมทั้งเรียกร้องข้อตกลงที่ FAB ด้วย อีกทั้งยังมีจอฉายขนาดใหญ่ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง Greenpeace และองค์กรสมาชิกของ tcktcktck ตั้งอยู่ใต้รถไฟลอยฟ้า (metro) ซึ่งก็ตรงกับทางเข้าที่ประชุมพอดีฉาย VDO Clips ต่างๆ ทั้ง climate defender camp ของป่าสุมาตรา บริเวณที่ราบ Kampar ของอินโดนีเซีย และผลกระทบจากโลกร้อนในแถบแปซิฟิก เป็นต้น

ตรงทางเข้าที่ประชุม กลุ่มต่างๆก็มีข้อเรียกร้องกันไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชายหญิงในชุดแดงๆ แต่งเป็นตัวแทนทวงหนี้ด้านโลกร้อน (climate debt agent) ยืนถือป้ายที่อ่านว่า “rich countries – pay your climate debt!” แปลไทยก็คือ “ประเทศร่ำรวยทั้งหลาย จงจ่ายหนี้โลกร้อนมาซะดีๆ! นอกจากนี้ ก็มีใบปลิวรณรงค์ให้มาทานมังสะวิรัติกัน จะช่วยโลกใบนี้ได้ “Be Veg, Go Green, Save the Planet” และยังมีชายหญิงแต่งตัวในชุดจิงโจ้พร้อมด้วยข้อความประณาม “ถ่านหินของออสเตรเลีย” ว่าเป็นอาชญากรของโลก และก็มีกาแฟฟรีไว้คอยให้บริการตรงทางเข้าด้วย

เดินทางไกลมาถึงโคเปนเฮเกน  ถือเป็นครั้งแรกของผมที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดโลกร้อนครั้งนี้ ผมไม่สามารถเข้าลงทะเบียนในวันแรกได้ เพราะต้องรอให้ชื่อผมปรากฏอยู่ในรายชื่อผู้เข้าร่วมจาก Global Campaign for Climate Action(GCCA),ก่อน แต่ผมก็รู้สึกตะลึงทีเดียวเมือมองเห็นศูนย์ประชุม Bella Centre จากชานชาลารถไฟ ที่มีกังหันลมตั้งอยู่ด้านหลัง ไกลออกไปสูดขอบฟ้า เห็นโรงไฟฟ้าที่กำลังปล่อยควันออกมา แล้วก็มีแคมป์ Climate Rescue Camp ของ Greenpeace ตั้งอยู่ด้านข้างของ Bella Centre ผมก็นึกหวังให้เราได้ข้อตกลงที่ FAB จริงๆ ไม่งั้น การประชุมที่โคเปนเฮเกนนี้ คงเป็นเพียงแค่ปาหี่หรือการแก้ปัญหาที่ถูกผลักดันโดยภาคอุตสาหกรรม และเป็นอีกหนึ่ง talk show ทางการเมืองเท่านั้นเอง

นาฬิกานับถอยหลังสู่โคเปนเฮเกนในเว็บไซต์ของ UNFCCC ตอนนี้ เป็นเลขศูนย์ทั้งหมด การเจรจาเริ่มขึ้นแล้วท่ามกลางอากาศที่ขมุกขมัวของกรุงโคเปนเฮเกน …

อ่านฉบับภาษาอังกฤษที่นี่
เขียนโดย ธารา บัวคำศรี
แปลและเรียบเรียง สุรัจนา กาญจนไพโรจน์