วันที่ 16 ธันวาคม 2552 ทางกลุ่ม Climate Justice Action และ Climate Justice Now วางแผนที่จะเดินขบวนเข้าไปในเวที COP 15 เพื่อประกาศ “People’s Assembly” (สมัชชาประชาชน) แต่ไม่สามารถฝ่าด่านและกำแพงของตำรวจตัวโตของเดนมาร์กเข้าไปได้ สถานีรถไฟตรง Bella Centre ถูกปิดลง พร้อมมีรั้วกั้นอย่างแน่นหนาบริเวณรอบๆศูนย์ประชุม

ตัวแทยภาคประชาชนไทยก็ไปร่วมขบวนด้วยบริเวณ Sundby ใกล้ๆกับศูนย์ประชุม ผมกับคุณศรีสุวรรณ ควรขจร นักเคลื่อนไหวอาวุโสของไทย จะตามไปร่วมด้วยตรงด้านหน้า ระหว่างทางผมเจอกับ Emmy อดีตผู้อำนวยการบริหาร Greenpeace Southeast Asia มาประชุมในนามของคณะเจรจาของอินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่งเดินออกมาจากศูนย์ประชุม เพื่อเตรียมตัวบินกลับบ้าน Emmy อธิบายบรรยากาศด้วย 2 คำ คือ “สับสนอลหม่าน” และ “แย่มาก”

“พอขบวนเรามาถึง Bella Centre ตำรวจก็ประกาศออกโทรโข่งเป็นภาษาอังกฤษและภาษายุโรปอื่นๆด้วยที่เราไม่เข้าใจ แล้วตำรวจก็ตัดสินใจที่จะตัดตอนขบวน ทั้งๆที่เราส่งสัญญาณบอกแล้วว่าเราจะไม่บุกเข้าไปใน Bella Centre เลย แต่จะยืนชุมนุมอยู่ด้านนอกเท่านั้น” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ซึ่งร่วมในขบวนด้วย เล่าให้ฟัง

“แต่ตำรวจก็ยังฉีดสเปรย์พริกไทยใส่กลุ่มผู้เกิดขบวน แล้วก็ทุบตีผู้เดินขบวน” เพ็ญโฉมกล่าวต่อ
crackdown
แต่เหตุการณ์ก็สงบลงตอนช่วงบ่ายต้นๆ เราพยายามโทรหากลุ่มคนไทยเพื่อดูว่าปลอดภัยหรือเปล่า แล้วก็ได้รับรู้ว่า เหล่านักเดินขบวนประมาณ 230 คนถูกจับไป

“คนไทยปลอดภัยหมด” คุณศรีสุวรรณบอก หลังจากทราบข่าวว่าคนไทยทั้งหมดเดินทางกลับที่พักชานเมืองโคเปนเฮเกนแล้ว

ในวันพฤหัสฯ กลุ่ม NGO และประชาสังคม ถูกจำกัดให้เข้าใน Bella Centre ไม่เกิน 1,000 คนเท่านั้น แล้วจะลดลงเหลือเพียง 90 คนในการประชุมวันสุดท้าย

เป็นเหตุให้กลุ่ม NGO 50 องค์กร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาฯ UNFCCC นาย Yvo de Boer และ ถึงประธาน COP 15 นาย Lars Lokke Rasmussen เพราะ Connie Hedegaard ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นประธานไปแล้ว

ข้อความในจดหมายมีว่า “เรารับไม่ได้ที่มีการจำกัดกลุ่มผู้สังเกตการณ์จากภาคประชาสังคมไม่ให้เข้าร่วมในเวทีการเจรจา และหวังว่าทางเลขาฯ UNFCCC จะตระหนักในเรื่องนี้และแก้ไขการทำงานในลักษณะที่ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยเช่นนี้ การเจรจาภายใต้กรอบ UNFCCC และ พิธีสารเกียวโต จะส่งผลอย่างมากและเพิ่มขึ้นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วไปในโลก การมีส่วนร่วมของคนเหล่านี้ในกระบวนการเจรจาจึงสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจาก Copenhagen นั้นมีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ” แล้วยังบอกเพิ่มว่า “การจำกัดจำนวนภาคประชาสังคมในการเข้าร่วมนี้ เป็นการบิดเบือนข้อกฎหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคสาธารณะในกระบวนการเจรจา หากเสียงของภาคประชาสังคมถูกจำกัดไว้เพียงชายขอบในตอนนี้ ก็จะต้องอยู่เพียงชายขอบต่อไปในอนาคตแน่ๆ”

อ่านฉบับภาษาอังกฤษที่นี่
เขียนโดย ธารา บัวคำศรี
แปลและเรียบเรียง สุรัจนา กาญจนไพโรจน์