หัวค่ำวันศุกร์หนาวจัดมาก หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมถ่ายภาพ “Climate Shame” ผมก็ออกจาก Oksnehallen Hall ในเขต Copenhagen’s Vesterbro ซึ่งเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งของ NGO, ภาคประชาสังคมและกลุ่มผู้สังเกตการณ์ที่ทางกระทรวงการต่างประเทศของเดนมาร์กได้จัดไว้ให้ใหม่เพราะมีการจำกัดจำนวนคนที่จะเข้าไปใน Bella Centre ที่นี่มีทีวีถ่ายทอดสดความเคลื่อนไหวต่างๆ จาก Bella Centre มาด้วย
ผมเดินจากจัตุรัสเมืองไปยังย่านถนนคนเดิน Konges Nytorv และมาหยุดที่ “สถานที่หนึ่งร้อยแห่งที่ควรจดจำก่อนมันจะสูญหายไป” เป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่จัดโดยองค์กร CO+Life และ Care เดนมาร์ก เป็นการแสดงภาพสถานที่หนึ่งร้อยแห่งบนโลกที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญหายไปภายในช่วงรุ่นลูกรุ่นหลานของเราเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกระทำของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านหลังของนิทรรศการกลางแจ้งนี้เป็นป้ายโฆษณาใหญ่บนตึกขององค์กร European Environmental Agency ซึ่งเขียนว่า “เปลี่ยนแปลงแนวโน้มในอนาคต!”(Bend the Trend!)
กราฟบนป้ายโฆษณาแสดงถึงการประชุมสุดยอดที่โคเปนเฮเกนซึ่งเป็นครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เส้นกราฟแสดงการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ถึง 2593 และตรงช่วงกลางกราฟมีการทำเครื่องหมายและเขียนว่า “COP 15 วันนี้” แล้วก็มีลูกศรชี้ขึ้น แสดงถึงผลจาก “การไม่ทำอะไรเลย” ซึ่งจะทำให้เราไปสู่หายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลูกศรชี้ลง ซึ่งแสดงถึง “ดำเนินการลดการปล่อยอย่างเข้มข้นร่วมกัน” ซึ่งจะทำให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่มากไปกว่าสององศา และเป็นระดับที่ปลอดภัยที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าจะช่วยให้เรารอดพ้นจากอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมจึงใช้คำว่า “เปลี่ยนแปลงแนวโน้มในอนาคต” และผมก็เริ่มไม่แน่ใจว่าผลจากการเจรจาในวันสุดท้ายจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ผมนึกถึงอีเมล์ล่าสุดจากทีมการเมืองของ Greenpeace International ที่ว่า
“…การประชุมสุดยอดโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนอยู่ในกำหนดการเป็นเวลาสองปีแล้ว ในขณะที่เหล่าผู้นำของประเทศที่ร่ำรวยที่มารวมตัวกันที่นี่ด้วยความคิดและกระเป๋าเงินที่ว่างเปล่า โดยที่ประเทศกำลังพัฒนาได้ร่วมเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซโดยเร็ว เหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้แล้วที่จะทำเรื่องนี้ให้ถูกต้อง
มันไม่เป็นธรรม ที่จะคาดหวังให้ประเทศยากจนแบกรับภาระที่ก่อขึ้นและไม่ได้รับความสนใจจากประเทศอุตสาหกรรม
มันไม่เข้มข้น หากประเทศที่ร่ำรวยจะปฏิเสธไม่ยอมลดการปล่อยตามที่วิทยาศาสตร์และความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์เรียกร้อง
มันไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย หากข้อตกลงที่ได้ประกอบไปด้วยความหวัง ความผัน และความปรารถนา แทนที่จะเป็นพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
เวลาเกือบจะหมดลงแล้ว วันนี้จะถูกจดจำว่าเป็นวันที่ประเทศที่ร่ำรวยสร้างความก้าวหน้าให้เกิดขึ้นในการจัดการกับมหันตภัยโลกร้อน หรือจะเป็นวันที่ถูกบันทึกลงไปในประวัติศาสตร์ว่าเป็นวันที่กำหนดความตายของคนนับล้านล้านคน…”
ภาพถ่ายจากนิทรรศการที่ผมเห็นภาพหนึ่งคือ ตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงมาก ใช่แล้ว กรุงเทพฯ ที่ที่ผมอาศัยอยู่ก็เป็นอีกหนึ่งในอีกร้อย ๆ แห่งที่ควรค่าแก่การจดจำก่อนที่จะสูญหายไป!!! ภาพถ่ายนี้ชื่อว่า “the Sinking City of Angles” จริงๆ แล้วภาพถ่ายไม่ใช่กรุงเทพฯ หรอก น่าจะเป็น “สมุทรสาคร” หรือ “สมุทรสงคราม” จังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ มากกว่า
ใต้ภาพถ่ายเขียนว่า
“กรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งของวัดหลายร้อยแห่ง มีคลองเล็กคลองน้อย มีของขายหาบเร่ตามถนนหนทาง ตึกสูงระฟ้านับพัน มีรถไฟฟ้าในเขตเมือง และมีสนามบินที่ทันสมัยมาก กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ในเขตร้อน เป็นที่ที่วัฒนธรรมตะวันออกผสมผสานกับวัฒนธรรมตะวันตก…”
“…ตั้งอยู่บน “ที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่” แห่งหนึ่งของเอเชีย และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียงสองเมตร กรุงเทพฯ ประสบกับปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุม ประกอบกับเมืองมีการทรุดตัวลงเนื่องจากดินที่อ่อนยวบ การพัฒนาเมืองอย่างหนักหน่วง และการสูบน้ำใต้ดินมาใช้อย่างมาก บางคนประมาณการว่าเมืองทั้งเมืองมีการทรุดตัวลงถึง 5 ซม. ต่อปี…”
“ด้วยสภาพที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้เมืองหลวงของประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงมากจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น พายุรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจะกัดเซาะบริเวณชายฝั่งและจะก่อให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง การรุกล้ำของน้ำเค็มก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อปริมาณน้ำดื่ม…”
“หากไม่มีการดำเนินการอะไรเลย พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ ก็จะจมอยู่ใต้น้ำก่อนสิ้นศตวรรษนี้”
จบคำอธิบายความ
ผมรู้สึกขนลุกซู่ แล้วก็ถามกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีก “ผมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร” ผลลัพธ์จากการเจรจาที่ Bella Centre น่าผิดหวังอย่างมาก ผมรู้สึกเศร้าในหัวใจ สิ่งที่จากโคเปนเฮเกนคือความรู้สึกโกรธ แน่นอน ผมรู้สึกภูมิใจว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของวันแห่งประวัติศาสตร์ แต่มาถึงตอนนี้แล้วมันคงไม่เพียงพอที่จะ “เปลี่ยนแปลงแนวโน้มในอนาคต” หรือ “บรรลุข้อตกลง” ได้
ผมเห็นด้วยกับประธานาธิบดีของมัลดีฟว์ที่พูดว่า “เราไม่สามารถต่อรองกับธรรมชาติได้หรอก” แต่ผมก็ยังเชื่อว่า เมื่อเรามาถึงโค้งสุดท้ายของความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมหรือวิกฤติโลกร้อนแล้ว มนุษย์เราก็ย่อมจะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้
ผมปวารณาตัวเองว่าจะดำเนินชีวิตในเชิงบวกให้มากขึ้นเมื่อผมกลับไปประเทศไทย ไม่เพียงแต่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้า Greenpeace คนหนึ่งที่หัวใจความเป็นนักกิจกรรมของผมยึดมั่นอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น แต่จะทำในฐานะที่เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เป็นพ่อของลูกสองคนและในฐานะสามีด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นที่ที่ “การดำเนินการเรื่องโลกร้อน การแก้ปัญหา และความเป็นธรรมด้านโลกร้อน” เริ่มต้นขึ้นนั่นเอง
อ่านฉบับภาษาอังกฤษที่นี่
เขียนโดย ธารา บัวคำศรี
แปลและเรียบเรียง สุรัจนา กาญจนไพโรจน์