หิมะตกตลอดคืนวันพุธ ทุกอย่างขาวโพลนไปหมดในโคเปนเฮเกน ผมอยู่บนรถเมล์กับคุณอัมฤทธิ์ นักข่าวจาก TPBS ซึ่งเดินทางมาถึงตอนวันเสาร์ มาทำข่าวแล้วส่งข่าวกลับประเทศไทย

ที่ Klima Forum และ Oksnehallen สถานที่แห่งใหม่ที่กลุ่มประชาสังคมและ NGO มาชุมนุมกัน มีคนมหาศาลในคืนวันพฤหัสฯ ประกอบกับอากาศหนาวเหน็บจัด ผมเลยตัดสินใจกลับที่พัก

ค่ำวันนี้ เป็นช่วงที่เหล่าผู้นำประเทศได้มาถึงพร้อมหน้ากันแล้ว(ยกเว้น ปธน.โอบามา) และจะไปรับประทานอาหารค่ำ ซึ่งสมเด็จพระราชินีเดนมาร์กเป็นเจ้าภาพ ที่ Christainsborg Slot

ผมดูข่าว COP 15 จากช่องทีวีเดนมาร์กในหอพักนักกีฬาใน Gladsaxe แล้วก็ตื่นเต้นที่เห็นข่าวด่วนทันเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ Greenpeace ปลอมตัวเป็นผู้นำประเทศเข้าไปในงาน gala dinner ปูพรมแดงหรู ของสมเด็จพระราชินีเดนมาร์ก!!!! แล้วชูป้าย “Politicians talk, leaders act” (นักการเมืองดีแต่พูด แต่ผู้นำลงมือทำ)

มีการรายงานข่าวซ้ำหลายครั้งในช่องทีวีนี้ ได้ผลจริงๆ

แล้วผมก็ได้ดูการถ่ายทอดสด คำกล่าวของสมเด็จพระราชินีเดนมาร์กในงาน gala dinner นี้ “…เป็นความหวังของทุกคน เมื่อทุกท่านเดินทางออกจากโคเปนเฮเกนในวันพรุ่งนี้ เราก็น่าจะได้บรรลุข้อตกลงเชิงบวกที่ให้ค่ำมั่นสัญญาในการดำเนินการได้ ซึ่งจะเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการประชุม COP 15 นี้ ขอให้ทุกท่านโชคดี”

นอกจากข่าวเรื่องกิจกรรมของผู้นำประเทศในช่วงพรมแดงหรูแล้ว ก็ยังมีการพูดคุยสดทางทีวีด้วยที่พิธีกรตั้งกระทู้ให้ผู้ที่มาร่วมอภิปรายตอบ ซึ่งรวมถึง Kavin Rudd นายกฯออสเตรเลีย คุณ Buyelwa Sonjica รมว.สิ่งแวดล้อมอัฟริกาใต้ Mohamed Nasheed ประธานาธิบดีมัลดีฟว์ Felipe de Jesus Calderon Hinojosa ประธานาธิบดีเม็กซิโก และตัวแทนจากกลุ่ม EU รวมทั้งผู้เข้าร่วมในห้องส่งด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Kumi Naidoo ผู้อำนวยการบริหารของ Greenpeace International ซึ่งเรียกร้องข้อตกลงที่เป็นธรรม เข้มข้น และมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย

อีกคนหนึ่งที่พูดคือ Lumumba Stanislaus Di-Aiping หัวหน้านักเจรจาของ G 77 ซึ่งอ้างถึงจดหมายของ Nobel Laureate Archbishop Desmond Tutu ที่เขียนถึงผู้นำทุกคนว่า ไม่มีข้อตกลง ยังจะดีกว่าถ้าได้ข้อตกลงที่แย่ๆ “ตัวตั้งต้นของข้อตกลงนี้มันผิดเพี้ยนมาแล้ว” กล่าวปิดจบ

จากนั้น Mohamed Nasheed ก็รีบตอบว่า “ในกลุ่ม G 77 เอง เราต้องการข้อตกลงจากโคเปนเฮเกน แต่เราก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนั้นเลย เราต้องพยายามบรรลุข้อตกลงให้ได้ที่นี่ มีอุปสรรคและแรงต้านอย่างมากทีเดียว ซึ่งคร่ำครึและเป็นอุบายเก่าๆที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นมาแล้ว ตอนนี้เราประสบกับปัญหาใหม่ การเจรจาในครั้งนี้ไม่ได้สนใจหรือจริงจังกับผลที่จะเกิดขึ้นเลย”

พิธีกรเลยตั้งคำถามอีกว่า “น่าจะเป็นไปได้ที่จะพูดว่า จะไม่เกิดข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบที่โคเปนเฮเกนนี้ แล้วขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร” แล้วให้ Kavin Rudd ตอบ

ซึ่งน่าเกลียดมาก

“…มันเป็นเพียงส่วนหนึ่ง” Kavin Rudd ตอบ เมื่ออ้างถึงข้อเสนอจาก US และประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศที่จะให้ความช่วยเหลือกับประเทศยากจนในการจัดการและปรับตัวกับโลกร้อน “ไม่ว่าเราจะมีความคืบหน้าในการเจรจาขนาดไหน เราก็ต้องทำการบ้านอีกเยอะสำหรับการเจรจาในรอบต่อไปอยู่ดี ผมเชื่อว่า ภายใต้การเป็นประธานของ Felipe de Jesus Calderon Hinojosa เราน่าจะบรรลุข้อตกลงได้”

พิธีกรเลยหันไปถามประธานาธิบดีเม็กซิโก “ท่านคิดว่า อีกหนึ่งปีต่อจากนี้ ท่านจะจัดการประชุมแบบนี้ที่เม็กซิโกมั้ยครับ”

Calderon ตอบว่า “ผมหวังว่า มันจะต้องแตกต่างไปจากที่จัดขึ้นที่นี่”

พิธีกรยังคงถามต่อ “เหล่าผู้นำที่อยู่ในโคเปนเฮเกนขณะนี้ ควรจะพยายามให้ได้ข้อตกลงที่นี่ หรือควรจะรอให้ได้ที่เม็กซิโกในอีกหนึ่งปีข้างหน้า”

“เราต้องพยายามอย่างหนักในอีกวันหรือสองวันข้างหน้านี้ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงให้ได้ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราต้องทำก็คือต้องเริ่มกระบวนการเจรจาใหม่หลังจากโคเปนเฮเกนเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ นี่เป็นโลกใบเดียวที่เรามีอยู่ และเรามีเวลาเหลือไม่มากนัก” Calderon กล่าว

แล้วพิธีกรก็หันมาถามคุณ Buyelwa Sonjica รมว.สิ่งแวดล้อมของอัฟริกาใต้ “ตามความเห็นของกลุ่มอัฟริกัน คิดว่าเราควรสู้ให้ได้ข้อตกลงตอนนี้เลย หรือจะมาเจรจากันใหม่ที่เม็กซิโก”

“เราสามารถบรรลุข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายได้ที่นี่ที่โคเปนเฮเกน เพียงแต่ต้องอาศัยความเป็นผู้นำในการแก้ไขและนำไปสู่ผลที่ต้องการเท่านั้น” Buyelwa เน้น

คำถามเดียวกันนี้ ถามไปยังผู้แทนจาก EU ซึ่งก็ตอบว่า “เราต้องบรรลุข้อตกลงให้ได้เดี๋ยวนี้ และก็น่าจะทำให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายได้ภายในอีก 6 เดือนข้างหน้า ตอนนี้ใน EU เอง เราก็มีความคืบหน้าไปมากในเรื่องข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย แต่ถ้าเราไม่ได้ข้อตกลงที่นี่ตอนนี้ เราก็จะไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการเงิน เราจะต้องเริ่มดำเนินการเดี๋ยวนี้เลย มีเวลาเหลือไม่มากนัก”

คำตอบสุดท้ายโดย Mohamed Nasheed “เหล่าผู้นำของโลกมีศักยภาพที่จะทำให้เกิดข้อตกลงขึ้นได้ที่โคเปนเฮเกนนี้ ซึ่งน่าจะยังคงเกิดขึ้นได้ในวันพรุ่งนี้ เราไม่สามารถคาดหวังถึงข้อตกลงในเม็กซิโก เพราะมันจะต่อเนื่องไปเรื่อยๆ”

ผมว่ามันเป็นการพูดคุยที่ไร้พลังจริงๆ ผมเห็นด้วยกับข้อความใน email ที่ส่งต่อๆกันว่า

“ประเทศอุตสาหกรรมได้ทำให้การเจรจาเรื่องโลกร้อนประสบกับความล้มเหลวจากการที่ไม่ยอมรับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซอย่างเข้มข้นและไม่ยอมให้การสนับสนุนด้านการเงินอย่างเพียงพอกับการดำเนินการลดและการปรับตัวกับประเทศกำลังพัฒนา

ความโกรธจากความเป็นผู้นำที่ล้มเหลวได้ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเลื่อนการประชุมออกไปหลายครั้ง และได้สร้างความแตกแยกในกลุ่มประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากโลกร้อน ซึ่งได้ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของคนในประเทศ และในหมู่ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต ซึ่งต้องการให้ประเทศอุตสาหกรรมดำเนินการลดแต่ก็กลับกลัวว่าตนเองจะถูกบังคับให้มีเป้าหมายต้องดำเนินการลดการปล่อยไปด้วย

เหล่าผู้นำของโลกที่มาถึงโคเปนเฮเกน โดยเฉพาะ Obama, Merkel, Sarkozy และ Brown จะต้องควบคุมสถานการณ์นี้ให้ได้ จะต้องทำให้เราบรรลุข้อตกลงที่เป็นธรรม เข้มข้น และมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายให้ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงมหันตภัยจากโลกร้อน”

อ่านฉบับภาษาอังกฤษที่นี่
เขียนโดย ธารา บัวคำศรี
แปลและเรียบเรียง สุรัจนา กาญจนไพโรจน์