“เราไม่ต้องการให้ Copenhagen ถูกจดจำว่าเป็น “Flopenhagen” (Flop = ล้มเหลว) แต่ให้จดจำว่าเป็น “Hopenhagen” (Hope = มีความหวัง)” เป็นคำกล่าวปิดของ Kumi Naidoo ในเวที side event วันแรกของ COP 15 เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก นาย Lars Lokke Rasmussen ให้เกิดข้อตกลงที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย (Fair, Ambitious and Binding: FAB) ทุกหนแห่งใน Copenhagen ไม่ว่าจะเป็นบนรถเมล์ รถไฟ ป้ายโฆษณา หรือในหนังสือพิมพ์ เราจะเห็นโฆษณา “Hopenhagen” ซึ่งก็กลายเป็นลูกเล่นตลอดช่วง 2 สัปดาห์ของการประชุมเลยทีเดียว
หลังจากการเดินรณรงค์แสดงพลังในวันที่ 12 ธันวาคม 2552 ซึ่งถือได้ว่าป็นการรวมพลังอย่างสันติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเดนมาร์ก แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่า แล้ว COP 15 และกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องจะมีผลกระทบสูงสุดทั้งทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมอย่างไรต่อคนในเดนมาร์ก
กลับมาที่คำว่า “Hopenhagen” อีกครั้ง คราวนี้ ป้ายโฆษณาตรงป้ายรถเมล์ซึ่งสนับสนุนโดย Coca Cola ก็มีคนเขียนตัวอักษร “S” เพิ่มไปข้างหน้า อ่านว่า “Shopenhagen”!!! (shop = จับจ่าย) ส่วนอีกป้ายหนึ่งสนับสนุนโดย Siemens มีลายมืออ่านว่า “Our climate, not your business!” (ภูมิอากาศของเรา ไม่ใช่ธุรกิจของคุณ!)
วนัน เพิ่มพิบูลย์ เพื่อน NGO ไทยเล่าให้ฟังว่า ขณะที่โดยสารรถเมล์ในวันที่ประท้วง แล้วคนขับบ่นให้ฟังว่า แย่มากในวันนั้น เพราะพวกชอบก่อความวุ่นวายทั่วโลก มารวมตัวกันอยู่ที่นี่ใน Copenhagen! เพื่อนไม่ได้ตอบอะไร แต่นึกในใจ ก็คนขับก็กำลังบ่นอยู่กับหนึ่งในคนจำนวนนั้นอยู่ด้วย!!
หลังจากที่ทาง UNFCCC จำกัดจำนวน NGO และภาคประชาสังคมที่จะเข้าไปใน Bella Centre คำว่า “Hopenhagen” ก็ดูจะกลายเป็น “Flopenhagen” ไปในบัดดล ผมก็เข้าไม่ได้ ต้องไปที่ Klima Forum ส่ง emails แล้วก็ปะทะสังสรรค์กับผู้คนที่มาร่วมกิจกรรม
ความคิดที่จะให้เกิดข้อตกลง Copenhagen (บนพื้นฐานของพิธีสารเกียวโต) แทนการมีพิธีสารเกียวโตต่อนั้น กลายเป็นอะไรที่ไม่เข้ารูปเข้ารอย จนนายกฯเดนมาร์กต้องตัดข้อเสนอดังกล่าวออกไปก่อนเริ่มการประชุม แม้แต่อดีตรองประธานาธิบดี Al Gore ก็ยังพูดว่า นี่มันไม่ใช่สิ่งที่โลกอยากได้ หรือ ต้องการเลย “ที่ โคเปนเฮเกนนี้ เราต้องได้ข้อตกลงทางการเมือง โดยประเทศหลัก ๆ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา จะต้องยอมรับและลงนามด้วย” Al Gore ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์เดนมาร์ก Politiken
ถ้าผู้นำประเทศเห็นว่าการได้ข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายมันไกลเกินกว่าที่จะเกิดขึ้นได้ที่โคเปนเฮเกน Al Gore เองก็คงไม่ต่างไปจากนักการเมืองคนอื่นๆที่มองหาช่องทางที่จะให้เกิดแรงต้านน้อยที่สุด มากกว่าที่จะยึดมั่นกับสิ่งที่วิทยาศาสตร์ได้บอกและประชาชนคนทั้งโลกต้องการ คำพูดของ Al Gore ที่โคเปนเฮเกนนับว่าน่าเกลียดน่าชังจริง ๆ
อ่านฉบับภาษาอังกฤษที่นี่
เขียนโดย ธารา บัวคำศรี
แปลและเรียบเรียง สุรัจนา กาญจนไพโรจน์