หมอกควันพิษหนาทึบจากจุดเกิดไฟนับพันบนเกาะสุมาตราและกะลิมันตันของอินโดนีเซียเป็นบททดสอบความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลอินโดนีเซีย ในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาเพื่อยุติการทำลายป่าไม้และพื้นที่ป่าพรุ การวิเคราะห์โดยหน่วยแผนที่ของกรีนพีซระบุว่าในปี 2558 นี้ จุดเกิดไฟร้อยละ 40 ที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าพรุ ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงเดือน เมษายน 2557 จุดเกิดไฟบนเกาะสุมาตราร้อยละ 75 อยู่ในพื้นที่ป่าพรุ

กรีนพีซเห็นว่า การปกป้องคุ้มครองพื้นที่ป่าพรุและระบบนิเวศป่าไม้คือทางออกระยะยาวเพียงทางเดียวที่มนุษยชาติมีอยู่เพื่อยุติการเกิดไฟและลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาพอนามัยและหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในสภาพที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำขังตามธรรมชาติ พื้นที่ป่าพรุนั้นยากที่จะเกิดการลุกไหม้ ป่าฝนเขตร้อนที่ยังมิได้ถูกรบกวนนั้นเสมือนเป็นดังฉนวนกันไฟ แต่สองทศวรรษของการทำลายล้างป่าพรุ และระบบนิเวศป่าไม้โดยภาคอุตสาหกรรมปลูกไม้เชิงเดี่ยวได้ทำให้หลายส่วนของอินโดนีเซียกลายเป็นไม้ขีดไฟขนาดยักษ์

ดินป่าพรุคือแหล่งกักเก็บคาร์บอนปริมาณมหาศาล เมื่อป่าพรุถูกโค่นถางลงและดึงน้ำออกเพื่อเปลี่ยนให้เป็นสวนพืชเชิงเดี่ยว ขนาดใหญ่ ป่าพรุจะเสื่อมสภาพลงและคาร์บอนที่กักเก็บไว้จะหลุดออกสู่บรรยากาศเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากดินป่าพรุติดไฟ มันจะครุกรุ่นอยู่ใต้ดินซึ่งยากที่จะดับลงได้ ปฏิกิริยาเผาไหม้ในอุณภูมิต่ำในดินของป่าพรุปล่อยควันไฟต่อกิโลกรัมของวัสดุที่ถูกเผาไหม้มากกว่าสามเท่าของควัน ไฟจากพื้นที่ป่าที่มีการเผาไหม้ในอุณหภูมิสูง 

ไฟและหมอกควันพิษนี้เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพอนามัยของคนนับล้าน หมอกควันพิษจากพื้นที่เกิดไฟคร่าชีวิตผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราว 110,000 คนในแต่ละปี ส่วนใหญ่มาจากการเกิดโรคหัวใจและโรคปอดและทำให้เด็กทารกเกิดใหม่มีร่างกายอ่อนแอลง1

ผลกระทบจากหมอกควันพิษมีผลกระทบที่ร้ายแรงมากขึ้นในช่วงปีที่มีปรากฎการณ์เอลนีโญ อย่างเช่นในปี 2558 นี้ ซึ่งการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียประมาณว่าเป็นปรากฎการณ์เอลนีโญที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี อันเนื่องมาจากภัยแล้งยาวนานในอินโดนีเซีย

การเกิดไฟป่าพรุและพื้นที่ป่าของอินโดนีเซียในแต่ละปีนั้นคือวิกฤตที่มนุษย์สร้างขึ้นและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวอินโดนีเซียและประเทศเพื่อนบ้านอย่างกว้างขวางรวมถึงเร่งเร้าวิกฤตสภาพภูมิอากาศภายใต้กรอบกฎหมายที่นำมาบังคับใช้อย่างหละหลวมและไร้ประสิทธิภาพ บริษัทอุตสาหกรรมสวนป่าและผู้มีบทบาทสำคัญอื่นๆ เช่น เหมืองถ่านหิน เป็นต้น ขยายกิจการทำลายป่าของตนออกไปโดยไม่สนใจอะไรไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ออกไปหมดและการดึงน้ำออกจากป่าพรุและพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นเชื้อไฟอย่างดีการที่รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลแผนที่การจัดการป่าไม้ทั่วทั้งอินโดนีเซียให้สาธารณชนได้รับทราบ ทำให้มีอุปสรรคมากขึ้นว่าในการรู้ข้อมูลว่าใครอยู่เบื้องหลังความรับผิดชอบของการเกิดไฟป่าพรุ หรือการทำลายป่าพรุที่นำไปสู่การเกิดไฟและหมอกควันพิษดังกล่าว

การทำลายพื้นที่ป่าพรุยังคงดำเนินไปแม้ว่าผู้ค้าขายและผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ของอินโดนีเซียไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมันหรือเยื่อกระดาษ มีคำมั่นสัญญาที่จะยุติการ ทำลายป่าไม้และพื้นที่ป่าพรุรวมถึงมีนโยบาย ป้องกันการเกิดไฟป่าพรุที่เข้มงวด แต่จริงๆ แล้วจุดเกิดไฟจำนวนมากเกิดขึ้นภายในพื้นที่สัมปทานป่าไม้ของบริษัทที่มีนโยบายยุติการทำลายป่า เป็นสิ่งที่เตือนว่ามรดกที่เกิดขึ้นจากการแผ้วถางทำลายพื้นที่ป่าไม้และป่าพรุของภาคอุตสาหกรรมสวนป่าเชิงเดี่ยวนั้นใช้เวลาหลายปีในการฟื้นฟู

ถึงที่สุดแล้ว การเกิดไฟเหล่านี้ยังคงมีอยู่จนกว่าอุตสาหกรรมสวนป่าเชิงเดี่ยวจะยุติการ ทำลายพื้นที่ป่าไม้ดั้งเดิมและเริ่มต้นการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้และป่าพรุ ผู้ค้าขายสินค้าโภคภัณฑ์และลูกค้าต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ห้ามการค้าขาย และดำเนินธุรกรรมกับบริษัทที่ยังเดินหน้าทำลายป่าไม้และพื้นที่ป่าพรุ และกำจัดแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่การทำลายป่า บริษัทที่ทำการค้าและผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ของอินโดนีเซียต้องสนับสนุนแนวนโยบายเพื่อฟื้นฟูและปกป้องป่าไม้และพื้นที่ป่าพรุ รวมถึงหยุดไฟก่อนที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลอินโดนีเซียต้องสนับสนุนการริเริ่มนี้โดยจัดพิมพ์เผยแพร่แผนที่สัมปทานป่าไม้เพื่อทำให้บริษัทอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบและทำการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมสวนป่าเชิงเดี่ยวเพื่อยุติการทำลายระบบนิเวศป่าไม้และป่าพรุ อันอุดมสมบูรณ์ของอินโดนีเซีย

ในระดับอาเซียน สิงคโปร์ได้ผ่านกฎหมายหมอกควันพิษข้ามพรมแดน (The Transboundary Haze Pollution Act) ในปี 2557 ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลสิงคโปร์มีอำนาจในการเอาผิดกับบริษัทอุตสาหกรรม สวนป่าเชิงเดี่ยว (และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อ งอื่นๆ) ที่พบว่ามีส่วน เกี่ยวข้องในการเผาทำลายป่าไม้และป่าพรุและนำไปสู่มลพิษทางอากาศอัน รุนแรงในสิงคโปร์ ในขณะที่ อินโดนีเซียเองได้ให้สัตยาบันต่อข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยหมอกควันพิษข้าม พรมแดน(ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution)มีคำมั่นที่ทำงานร่วมกับประเทศเพื่อบ้านในการจัดการกับหมอกควันพิษ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ดร.เนอร์ มาริปาติน ผู้อำนวยการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและการป่าไม้ ได้บอกกับหนังสือพิมพ์ The Straits Times ว่า อินโดนีเซียว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลพื้นที่สัมปทานป่าไม้ใดๆ แม้กระทั่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันโดยอ้างว่าเป็นกลยุทธในการจัดการดับไฟในพื้นที่ที่ เกิด การไม่เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ยิ่งทำให้บริษัทอุตสาหกรรมสวนป่าเชิงเดี่ยวปัดความรับผิดชอบต่อการ เกิดไฟและหมอกควันพิษ ข้ามพรมแดน

ที่สำคัญบริษัทอุตสาหกรรมสวนป่าเชิงเดี่ยวเหล่านี้มีฐานอยู่ในสิงคโปร์และมาเลเซียรัฐบาลของทั้งสองประเทศจำต้องลงมือปฏิบัติการเพื่อให้บริษัทอุตสาหกรรมเหล่านั้นมีภาระรับผิดกับการมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบของหมอกควันพิษข้ามพรมแดนซึ่งกำลังส่งผลกระทบในวงกว้างไปยังหลายประเทศในขณะนี้


1. อ้างอิงจาก Johnston, F., Henderson, S., Chen, Y., Randerson, J., Marlier, M., DeFries, R., Kinney, P., Bowman D&Brauer, M. 2012. Estimated global mortality attributable to smoke from landscape fires. Environmental Health Perspectives 120: 695-701.