ตลอดช่วงปี 2558 นี้ มีสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมายหลายหลากประเด็น ซึ่งแต่ละประเด็นปัญหานั้นล้วนเกิดขึ้นต่อเนื่องมายาวนาน และยังคงส่งผลต่อไปในอนาคตหากยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและเหมาะสม ก่อนจะผ่านพ้นปี 2558 นี้ไป ลองมาย้อนดูสักนิดว่ามีประเด็นข่าวสิ่งแวดล้อมใดเกิดขึ้นบ้าง รวมถึงคดีความด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศของเรายังขาดการดำเนินการอย่างเป็นธรรมและเอื้อต่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

การประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและขาดการควบคุม (IUU Fishing) และการค้ามนุษย์ในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล : สองด้านของเหรียญเดียวกัน

หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติการประมง  ในเดือนมกราคม 2558 ต่อมาในวันที่ 21 เมษายน คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเตือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเรื่องการขาดมาตรการที่เพียงพอในการต่อสู้การประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและขาดการควบคุม (IUU Fishing) และให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา กองประมงต่างประเทศ กรมประมง ระบุว่าจำเป็นต้องปลดใบเหลืองก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าสินค้าประมงไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงถึงปีละ 242,691 ล้านบาท (ส่งออกไปสหภาพยุโรปราว 32,000 ล้านบาท)  ต่อมา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ในวันที่ 28 เมษายน 2558 เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นกับนายกรัฐมนตรีและมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการ ในขณะที่ เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานปกป้องทะเลไทย เรียกร้องต่อรัฐบาลให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อฟื้นฟูทะเลไทยโดยยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง ยุติการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนและลดจำนวนเรืออวนลากลงครึ่งหนึ่งจากการวิจัยของกรมประมงและ FAO และเสนอรัฐบาลตั้งแต่ปี 2547

มาตรการ IUU ที่คุมเข้มทำให้ภาคประมงพาณิชย์ท้วงว่าจะทำให้ อุตสาหกรรมประมงล่มทั้งระบบและอาหารทะเลอาจขาดแคลน แต่สมาพันธ์สมาคมชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยยืนยันว่าหากเลิกการประมงทำลายล้าง จะยิ่งมีอาหารสัตว์น้ำคุณภาพมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น ราคาที่ถูกลง สัตว์น้ำโตเต็มวัยจะเพิ่มขึ้น และเปิดโครงการ “ปันน้ำใจ จากชาวประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภค ในภาวะสัตว์น้ำขาดตลาด” เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสัตว์น้ำที่สะอาดปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม

มาตราการปลดใบเหลืองอียูและการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นของอุตสาหกรรมประมงยังถูกวิพากษ์จากภาควิชาการและสมาคมประมงไทยหลายกลุ่มว่าเป็นการแก้ปัญหาผิวเผินและขาดความยั่งยืน

การเตือนเรื่อง IUU fishing ของสหภาพยุโรปตามมาด้วยคำแถลงว่าด้วยการเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี  2558 ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาในวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 ที่ระบุว่าประเทศไทยยังคงอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยออกแถลงการณ์ตอบรับว่าเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง แต่ยอมรับถึงความท้าทายเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในเรือประมง ผู้บริหารธุรกิจกุ้งของอุตสาหกรรมอาหารทะเลยักษ์ใหญ่อย่างไทยยูเนียนยังแสดงความเห็นส่วนตัวว่าเป็นสถานการณ์ที่อันตรายต่อธุรกิจส่งออกสินค้าประมง ในเดือนตุลาคม กรีนพีซรณรงค์ระดับโลก Not Just Tuna เพื่อเรียกร้องให้ไทยยูเนียนในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีแผนงานรายละเอียดและกรอบเวลาที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการทำลายล้างทะเลและการค้ามนุษย์ในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลรวมถึงการดูแลสอดส่องความโปร่งใสทั้งหมดและการตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของอาหารทะเลจากมหาสมุทรสู่จาน

สหภาพยุโรปเลื่อนการตัดสินใจว่าจะห้ามนำเข้าสินค้าประมงของไทยหรือไม่ออกไปเป็นเดือนธันวาคม 2558 และต่อมาเป็นเดือนมกราคม 2559 หลังจากภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลรายใหญ่ออกมาโต้รายงานข่าวของสำนักข่าวเอพีเรื่องการใช้แรงงานผ่านกระบวนการค้ามนุษย์ในสายพานการผลิตกุ้งแช่แข็งส่งออก

ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา สนช. ได้ผ่าน พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและสมาคมรักษ์ทะเลไทยได้วิพากษ์ว่า การออกพระราชกำหนด(พรก.) นี้มุ่งแก้ไขเพื่อให้ปลดใบเหลืองอียูและรักษาตลาดของอุตสาหกรรมอาหารทะเลรายใหญ่ แต่ไม่คำนึงถึงการจัดการฟื้นฟูทรัพยากรทะเล นอกจากส่งประเด็นแก้ไขเพิ่มเติมไปยังกรมประมงแล้วจะมีการขับเคลื่อนนี้ต่อไป

การต่อกรกับการประมงผิดกฎหมาย การฟื้นฟูทะเลไทยจากการประมงเกินขนาดและภาวะคุกคามอื่นๆ ตลอดจนการสร้างความเป็นธรรมต่อแรงงานประมง เป็นประเด็นท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปในปี 2559

จากถ่านหินถึงความตกลงปารีส (Paris Agreement)

ทันทีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2558-2579(PDP2015) แม้มีเสียงตอบรับเชิงบวกจากภาคธุรกิจพลังงาน แต่ภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตว่าแผน PDP2015 ยังคงหมกเม็ดและไม่ตอบโจทย์โดยเฉพาะกำลังผลิตสำรองที่ล้นเกินความจำเป็นและการผลักดันถ่านหิน

ในช่วงเดือนมีนาคม 2558 หลังจากการเดินเท้าพบคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)หยิบยกความไม่ชอบธรรมของกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินคลองรั้ว เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินได้นอนคว่ำบาตรประท้วงการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อรายงาน EIA ฉบับดังกล่าวของ คชก. หน้าสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ท้ายที่สุด คชก. แจ้งมีมติไม่ผ่านรายงาน

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินยกระดับการต่อสู้โดยการแบกเป้ปกป้องอันดามันจากถ่านหินและประท้วงอดอาหารหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาและหน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 การเจรจาระหว่างเครือข่ายฯ และรัฐบาลมีข้อสรุปว่าให้ชะลอกระบวนการพิจารณารายงาน EHIA และ EIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วและตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อหาทางออกตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ยังยืนยันประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จนถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมามีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีโดยนายกรัฐมนตรี

กระบวนการประชาพิจารณ์โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ได้เผยด้านอัปลักษณ์อีกครั้งในกรณีเวที ค.3 ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา โดยมีการใช้กำลังทหารปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ และเครือข่ายประชาชนส่งจดหมายเปิดผนึกนำเสนอทางออก

การต่อสู้ของชุมชนที่กระบี่ เทพา(สงขลา) แม่เมาะ(ลำปาง) ระยอง บำเหน็จณรงค์(ชัยภูมิ) เขาหินซ้อน(ฉะเชิงเทรา) และพื้นที่อื่นๆ ที่อาจจะตามมาในอนาคต เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อยุติยุคถ่านหินในระดับสากล สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การใช้ถ่านหินของจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2553 โรงไฟฟ้าถ่านหินในสหรัฐอเมริกาทะยอยปลดระวาง 200 แห่งจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของสหรัฐอเมริกาลดลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี สถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาแห่งยุโรปและธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรปยกร่างนโยบายเพื่อจำกัดการให้เงินกู้แก่โรงไฟฟ้าถ่านหิน บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศไม่มีนโยบายให้เงินกู้โครงการถ่านหินในอินเดีย และฝรั่งเศสยุติบทบาทของหน่วยงานสินเชื่อเพื่อการส่งออกในการสนับสนุนถ่านหิน

ที่ประชุมสมัชชารัฐภาคีฯ ครั้งที่ 21 (COP21) ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส รับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 เพื่อเป็นกฎกติกาใช้บังคับกับทุกรัฐภาคี สำหรับการดำเนินงานจากปี 2563 เป็นต้นไป ความตกลงปารีสมีเป้าหมายหลักเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้น้อยกว่า 2 องศาเซลเซียสเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และมุ่งมั่นความพยายามในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส กลุ่มองค์กรที่ทำงานรณรงค์มีปฏิกิริยาที่ผสมปนเปกันต่อความตกลงปารีส ในขณะที่นิตยสารอีโคโนมิสต์หยิบยกว่า “จุดจบยุคฟอสซิลใกล้จะมาถึงแล้ว

ถึงแม้ว่าข้อตกลงปารีสจะทำให้อุตสาหกรรมถ่านหินถูกมองดั่งนักค้าทาส และทบวงพลังงานระหว่างประเทศเองจะยอมรับว่ายุคทองของถ่านหินในจีนกำลังจะหมดลง แต่อินเดียและหลายประเทศในอาเซียนกำลังเป็นที่หมายปองของอุตสาหกรรมถ่านหิน

การต่อสู้เพื่อยุติยุคถ่านหินในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังต้องดำเนินต่อไป

วิกฤตหมอกควันพิษข้ามพรมแดนปี 2558 : ต้นปีภาคเหนือ ปลายปีภาคใต้

หมอกควันพิษจากแหล่งกำเนิดต่างๆ โดยเฉพาะการเผาในที่โล่งจะเข้าปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือทุกๆ ต้นปี โดยเป็นส่วนหนึ่งวิกฤตหมอกควันพิษข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในวันที่ 18 มีนาคม 2558 กรมควบคุมมลพิษรายงานระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอนในหมอกควันพิษในภาคเหนือตอนบนทุกจังหวัดมีค่าเกินกว่าระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันภาครัฐได้ระดมสรรพกำลังรวมถึงความช่วยเหลือจากกองทัพอากาศสิงคโปร์เพื่อบรรเทาผลกระทบ

การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการทำลายมายาคติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อมูลว่าหมอกควันเกิดจากชาวบ้านหาของป่า อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไม่เกี่ยวข้องกับการเผาไร่ข้าวโพด บริษัทอาหารสัตว์ไม่ต้องรับผิดชอบปัญหาหมอกควันพิษข้ามพรมแดน และ CSR ของบริษัทนำไปสู่การเกษตรที่ยั่งยืน เผยให้เห็นโฉมหน้าของสาเหตุที่แท้จริงและความเชื่อมโยงจาก “หมอกควันพิษ” ถึง “อาหารที่เรากิน”และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของปัญหาหมอกควันพิษในภาคเหนือของไทยที่ภาคเอกชนนำโดย หอการค้าเชียงใหม่เสนอต่อสาธารณชนว่าการเผาพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 5 ล้านไร่ในภาคเหนือส่งผลให้เกิดหมอกควันพิษทุกปี และถามหาภาระรับผิดจากผู้ประกอบการรายใหญ่

ช่วงเดือนตุลาคม 2558 หมอกควันพิษหนาทึบจากจุดเกิดไฟนับหมื่นบนเกาะสุมาตราและกะลิมันตันของอินโดนีเซียแผ่เข้าปกคลุมพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทยได้รับการบันทึกว่าเป็นวิกฤตหมอกควันพิษข้ามพรมแดนที่มีผลกระทบรุนแรงในรอบ 17 ปี โดยเฉพาะอำเภอหาดใหญ่ สงขลา ในวันที่ 6 ตุลาคม ชาวสงขลาทำการยื่นจดหมายผ่านสถานกงสุลอินโดนีเซียไปยังรัฐบาลอินโดนีเซียให้ลงมือแก้ปัญหา เพราะสร้างผลกระทบ มีคนเจ็บป่วยจำนวนมากโดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ

สองทศวรรษของการทำลายล้างป่าพรุ และระบบนิเวศป่าไม้โดยภาคอุตสาหกรรมปลูกไม้เชิงเดี่ยวได้ทำให้หลายส่วนของอินโดนีเซียกลายเป็นไม้ขีดไฟขนาดยักษ์ และรัฐบาลอินโดนีเซียเองก็ล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาเพื่อยุติการทำลายป่าไม้และพื้นที่ป่าพรุ การวิเคราะห์ของกรีนพีซระบุว่าในปี 2558 นี้ จุดเกิดไฟเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าพรุ แม้ว่าอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันหรือเยื่อกระดาษจะมีคำมั่นเพื่อยุติการทำลายป่าไม้และพื้นที่ป่าพรุ ตลอดจนนโยบายป้องกันการเกิดไฟป่าพรุที่เข้มงวด ทว่าจุดเกิดไฟจำนวนมากเกิดขึ้นภายในพื้นที่สัมปทานป่าไม้ของบริษัทที่มีนโยบายยุติการทำลายป่า

ความตกลงอาเซียนว่าด้วยหมอกควันพิษข้ามพรมแดนหรือกฎหมายที่เข้มงวดในระดับประเทศ เช่น กฎหมายของสิงคโปร์  ก็ไม่ได้รับรองว่าปัญหาจะไม่เกิดซ้ำขึ้นอีก จนกว่าอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกรณีของประเทศไทยจะดำเนินนโยบายว่าด้วยความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานของตน(zero burning) หรืออุตสาหกรรมสวนป่าเชิงเดี่ยวในอินโดนีเซียจะยุติการทำลายพื้นที่ป่าไม้ดั้งเดิมและเริ่มต้นการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้และป่าพรุ

ครม. ตีกลับ ร่าง พรบ ความปลอดภัยทางชีวภาพ

ประเด็นใหญ่ในช่วงปลายปีนั้นหนีไม่พ้นเรื่องจีเอ็มโอ การเคลื่อนไหวคัดค้านพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพของภาคประชาชนและผู้ประกอบการเกษตรและอาหาร 125 องค์กร การเคลื่อนไหวของประชาชนและองค์กรท้องถิ่นใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ การรณรงค์ในสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มนักวิชาการด้านการเกษตร กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ และสภาเกษตรกรแห่งชาติที่ได้แสดงออกเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายร่วมกันอย่างเข้มแข็งจนกระทั่งนายกรัฐมนตรีประกาศยุติการผลักดัน พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพโดยมีมติให้ส่งเรื่องกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาในมุมที่มีข้อทักท้วงเพิ่มเติมให้รอบคอบ ภาคประชาสังคมได้จับตาเรื่องการร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว

คดีสิ่งแวดล้อมในรอบปี 2558

กระบวนการทางศาลรวมถึงการจัดตั้งศาลปกครองเปิดให้มีการนําคดีหรือขอพิพาททางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลเพื่อให้เกิดการแก้ไขเยียวความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และสามารถใช้มาตรการป้องกันไม่ให้มีการทําลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กฎหมายก็เป็นเครื่องมือของรัฐและฝ่ายอุตสาหกรมเพื่อกดทับการต่อสู้ของชุมชน ดังจะเห็นได้จาก คดีสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ส่วนคดีสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนชีพจรของ “ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม” และ “การปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ” ในรอบปี 2558 พอรวบรวมได้ดังนี้

  • ต้นปี 2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องกรณีมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน ยื่นฟ้องนายกฯ-ครม.-ปตท. และผู้เกี่ยวข้อง คดีแบ่งแยกระบบท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ให้กลับมาเป็นของรัฐ
  • หลังต่อสู้กันมายาวนานถึง 13 ปี ต่อคดีที่ตำรวจยื่นฟ้องกลุ่มแกนนำชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปลายปี 2545 วันที่ 21 ตุลาคม 2558 ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องทุกข้อหา
  • ศาลฎีกายกฟ้องคดีจ้างวานฆ่า ‘เจริญ วัดอักษร’ ผู้นำชุมชนโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกระบุ “ประชาชนคาดหวังจะได้รับความคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมได้ยากเต็มที  ความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนจนถึงการใช้ดุลยพินิจของตุลาการทุกระดับต้องได้รับการปฏิรูปโดยเร่งด่วนให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้”
  • ศาลฎีกาพิพากษารอลงอาญา 2 ปี “ชาวบ้านบ่อนอก” แล่นเรือประมงขวางเจ้าหน้าที่ บ.กัล์ฟฯ สำรวจทะเล คัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในปี 2544
  • บริษัทเหมืองทอง “ทุ่งคำ” ฟ้องร้องดำเนินคดีกับเยาวชนนักข่าวพลเมืองที่มีอายุเพียง 15 ปี ในคดีอาญาฐานหมิ่นประมาท เนื่องมาจากการเสนอข่าวเกี่ยวกับการออกค่ายของกลุ่มเยาวชนฮักบ้านเกิดเจ้าของตอน “นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว” ออกอากาศในช่วงข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2558 ซึ่งบริษัทฯ ระบุว่ามีเนื้อหาที่เป็นเท็จใส่ร้ายให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย ส่วนไทยพีบีเอสออกแถลงการณ์ให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทบทวนการยื่นฟ้องหมิ่นประมาทเยาวชนนักข่าวพลเมืองให้เหลือเพียงเฉพาะส่วนการฟ้องร้องไทยพีบีเอสเท่านั้น
  • มูลนิธิบูรณะนิเวศและเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 7 จังหวัด ฟ้องเพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยกเว้นให้การสร้างโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยไม่ต้องทำรายงาน EIA  ชี้ประกาศกระทรวงฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • ศาลปกครองสูงสุดรับคำฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรี (คำสั่งที่ คส.8/2557) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ถือเป็นคดีแรกของประเทศลุ่มน้ำโขงที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่มีผลกระทบข้ามพรมแดนต่อศาลปกครอง ต่อมาในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ศาลพิพากษาให้ยกคำฟ้องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ราย ได้เปิดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นถึง 3 ครั้ง และเผยแพร่ข้อมูลไว้บนเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงถือว่าได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ได้ละเลยแต่อย่างใด

ขอขอบคุณ: ข้อมูลอ้างอิงจากการรวบรวมข่าวจากสำนักข่าวไทยและต่างประเทศ