ทุกๆ ปี ก่อนการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties) Germanwatch (ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันและปกป้องวิถีการดำรงชีวิตในระดับโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 โดยทำหน้าที่จับตา(Observing) วิเคราะห์ (Analysing) และปฏิบัติการ(Acting) สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองของประเทศซีกโลกเหนือและผลพวงของมันที่เกิดขึ้นทั่ว พร้อมๆ ไปกับสถานการณ์ของผู้คนที่ได้รับผลกระทบในซีกโลกใต้ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นโลกร้อน ความมั่นคงทางอาหารและกรอบการปกป้องสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม) จะทำการสำรวจดัชนีวัดขีดความสามารถในการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ(The Climate Change Performance Index Result) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ดัชนีวัดขีดความสามารถในการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ(The Climate Change Performance Index) หรือดัชนี CCPI เป็นเครื่องมือที่ออกแบบขึ้นเพื่อทำให้ความโปร่งใสตรวจสอบได้ของการเมืองว่าด้วยโลกร้อนขยายกว้างมากขึ้น โดยมุ่งสร้างแรงกดดันทางการเมืองและสังคมต่อประเทศต่างๆ ที่จนถึงปัจจุบันยังล้มเหลวที่จะลงมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนหยิบยกให้เห็นถึงประเทศที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายปกป้องสภาพภูมิอากาศ ดัชนี CCPI เป็นการเปรียบเทียบในเชิงสัมพัทธ์

เกณฑ์ที่ใช้เป็นตัววัดมาตรฐานนั้นได้ประเมินและเปรียบเทียบขีดความสามารถของ 58 ประเทศทั่วโลกที่รวมกันแล้วคิดเป็นร้อยละ 90 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ดัชนี CCPI จะเป็นดัชนีที่พิจารณาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ประสิทธิภาพพลังงานและการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก และรวมถึงนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

ในปี 2558 นี้ประเทศไทยได้คะแนน 48.16 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 49 ของดัชนีของประเทศต่างๆ 61 ประเทศทั่วโลก ดัชนีของประเทศไทยดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

  1. การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงานภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015)เป็นข้อมูลเพียงด้านเดียว วัตถุประสงค์ในแผน คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจการไฟฟ้าและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยระบุว่า แผน PDP2015 จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ โดยจะลดลงร้อยละ 36.9 ตลอดระยะเวลา 22 ปีของแผน แต่นั่นเป็นเพียงข้อมูลแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดไม่ได้ลดลง ในความเป็นจริงแล้วมันจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.98 ในปี 2579 (เปรียบเทียบกับปี 2556)
  2. การผลักดันให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่จำนวน  9 โรง (กำลังการผลิตรวม 7,365 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรง(กำลังการผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์) การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและเขื่อนขนาดใหญ่ผลิตไฟฟ้าจากประเทศเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและกัมพูชา(กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 11,016 เมกะวัตต์) ภายใต้แผน PDP2015 จะส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยจากภาคพลังงานและภาคการขนส่งร้อยละ 7-20 ภายในปี 2563 ตามแผนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions หรือNAMAs) ที่ได้ยื่นต่อเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  (UNFCCC) เมื่อเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมา
  3. ความไม่ชัดเจนของแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการประเมินผลกระทบของโครงการพลังงานในกรณีที่โครงการตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีแผนที่จะนำเข้าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเขื่อนพลังน้ำที่ตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมาร์ และ กัมพูชา ซึ่งเป็นการหลบเลี่ยงต่อกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและการตรวจสอบจากสาธารณชน รวมถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้านมลพิษจากโรงไฟฟ้าในแต่ละประเทศโดยมีสิทธิที่จะแสดงความเห็น ซึ่งโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อคนไทยไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางอากาศเป็นผลกระทบที่ไม่จำกัดขอบเขต โครงการเหล่านี้ควรจะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมในประเทศไทย
  4. มีความลักลั่นในประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Thailand’s Intended Nationally Determined Contribution) ที่ระบุว่า “ประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ.2573 ระดับของการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงกลไกการสนับสนุนทางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเงิน และการเสริมสร้างศักยภาพภาพที่เพิ่มขึ้นและเพียงพอภายใต้กรอบข้อตกลงใหม่ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกล่าวคือ ในปี 2557 รัฐบาลได้เห็นชอบต่อแผนการจัดการขยะโดยระบุว่ามีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนในการจัดการขยะและส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากขยะโดยแผนการจัดการขยะนี้จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการลดมลพิษ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากโรงเผาขยะผลิตไฟฟ้าเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ยังเป็นแหล่งกำเนิดหลักของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญที่ทำให้เกิดโลกร้อนที่นำไปสู่วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ความเข้มข้นของการปล่อยนั้นมากกว่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน US EPA ระบุว่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงเผาขยะมีค่า 3,000 ปอนด์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (หรือ 1.36 กิโลกรัมต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง)ในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ในราว 2,250 ปอนด์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (1.02 กิโลกรัมต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) ดังนั้น การผลักดันให้มีโรงไฟฟ้าขยะของกระทรวงพลังงานนั้นขัดแย้งกับแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP2015 ที่ตั้งเป้าจะลดการปล่อยจาก 0.507 กิโลกรัมต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2556 เป็น 0.318 กิโลกรัมต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2579
แม้ว่าประเทศไทยจะมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของทั่วโลก แต่นั่นไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างในการลงมือทำเพื่อกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยืนกรานที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลท่ามกลางกระแสคัดค้านจากชุมชน และในฐานะที่ประเทศไทยต้องต่อกรกับผลกระทบที่ร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์อย่างสอดคล้องต้องกันบนรากฐานของการมีส่วนร่วม ความเป็นธรรมและรับประกันสิทธิการเข้าถึงและการจัดการทรัพยากรของชุมชน และเมื่อนั้นความสามารถอันโดดเด่นในการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยจะเผยโฉมออกมา