ธารา บัวคำศรี /13 กรกฎาคม 2551
เจ้าหน้าที่รัฐ ณ กระทรวงพลังงานของไทยที่เตรียมพร้อมต้านศึกอาจจะไม่สนุกกับงานของพวกเขามากนักในขณะนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศกำลังอยู่ในเงื้อมมือของวิกฤตพลังงาน ทำให้พวกเขาต้องแบกรับความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง
ในห้วงแห่งความยากลำบากนี้ พวกเขาน่าจะทำได้ดีเพื่อรำลึกถึงผู้ทนทุกข์จากทางเลือกนโยบายพลังงานที่ผิดพลาด โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และชุมชนที่ต้องเผชิญกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีสาเหตุจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในอดีต
แน่นอนว่าเราไม่อาจตำหนิเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานแต่เพียงผู้เดียวในเรื่องหายนะทางพลังงาน หรือเรื่องการปล่อยคาร์บอนอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนทั่วโลก รัฐบาลที่รับหน้าที่ต่อเนื่องกันมา ซึ่งล้มเหลวในการแสดงความเป็นผู้นำที่จำเป็นต่อการกำหนดและดำเนินนโยบายพลังงาน เพื่อทำให้ประเทศไทยและประชาชนไทยมีอนาคตที่ดีขึ้น ต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนักที่สุด เนื่องจากนำพาประเทศถลำไปสู่เส้นทางที่ผิดพลาด เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยวางแผนเพิ่มการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรก และเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ที่อันตราย
ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นภัยคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ ทางเลือกด้านพลังงานของรัฐบาลไทยในอีกหลายปีที่กำลังจะมาถึงจะเป็นตัวตัดสินสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า ประชาชนชนไทยกำลังทุกข์ทรมานจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ผลผลิตด้านเกษตรกรรมที่ลดลง ภัยแล้งและน้ำท่วมรุนแรง และชุมชนในท้องถิ่นได้รับสารพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างช้าๆ ในตลอดเวลาที่ผ่านมา ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่ก่อมลพิษมากที่สุด ไม่ว่าเราจะทำให้มันสะอาดมากเพียงใด หรือพยายามฝังกลบคาร์บอนที่ปล่อยออกมามากเท่าไหร่ ถ่านหินก็ยังสกปรก มีพิษ ทำลายชุมชนในท้องถิ่น และ เร่งให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ยังคงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสกปรกเพิ่มขึ้น
ถึงเวลาที่ต้องปฏิวัติพลังงานและสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ก่อมลพิษร้ายแรงไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นวิธีการที่แน่นอนที่สุดในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตของไทย เนื่องจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ไม่มีวันหมดไป
หลายประเทศทั่วโลกกำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากนโยบายพลังงานที่กล้าหาญและมีวิสัยทัศน์เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน เยอรมนีเป็นผู้ผลิตพลังงานลมอันดับหนึ่งของโลก คาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตพลังงานจากลมได้ 25% ภายใน พ.ศ.2563 จีนเป็นประเทศที่การผลิตพลังงานเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยมีการคาดการณ์ที่ตรงกับความจริงว่า 15% ของพลังงานทั้งหมดในประเทศจะมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในพ.ศ. 2558 เยอรมนีและจีนทำเช่นนี้ได้เพราะรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศเข้าใจภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสาเหตุของมัน เมื่อรวมกับความท้าทายของการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน จึงดำเนินการนโยบายขั้นต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน
ปัจจุบัน ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากภายนอก และกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงของการผูกมัดตนเองเข้ากับพลังงานสกปรกที่ขาดความปลอดภัย ทั้งๆที่มีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดทั้งจากลมและแสงแดด ซึ่งลงทุนเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานของชุมชน และการลงทุนทางอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ
เราต้องการเห็นรัฐบาลเป็นผู้ปูทางพลังงานหมุนเวียนเพื่ออนาคต เราต้องการให้รัฐบาลใช้งบประมาณเพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและประสิทธิภาพพลังงานแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ ยกร่างกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนด้วยผลตอบแทนที่มั่นคงและสามารถคาดการณ์ได้ เพื่อรับประกันว่าผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะได้รับความสำคัญในการเข้าถึงสายส่งไฟฟ้าก่อน และการยกร่างให้มีมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานที่เข้มงวดและโครงการการจัดการด้านความต้องการไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียนสามารถแข่งขันได้ เพียงแต่รัฐบาลลดละเลิกการอุดหนุนถ่านหินและ นิวเคลียร์และแนะนำถึง หลักการผู้มลพิษต้องจ่าย ที่ผ่านมา พลังงานฟอสซิลและนิวเคลียร์นั้นได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่ราว 250 พันล้านเหรียญต่อปี เราควรเปลี่ยนแปลงการลงทุนดังกล่าวนั้นมาให้กับแหล่งพลังงานที่จะช่วยเรายุติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย
พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะลมและแสงแดด มีบทบาทนำในอนาคตพลังงานของโลก ไม่ใช่เรื่องอุปสรรคทางเทคนิคแต่เป็นอุปสรรคทางการเมืองที่ได้กีดขวางการเปลี่ยนแปลงนี้ ขึ้นอยู่รัฐบาลของเราที่จะใช้โอกาสเพื่อผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ดำเนินต่อไป ลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากภายนอก เพิ่มการจ้างงาน สร้างสังคมที่มั่นคงและมีส่วนสำคัญในการต้านสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายของโลก