ธารา บัวคำศรี

โรงไฟฟ้าขยะกลับมาฮอตฮิตใหม่ด้วยวาระแห่งชาติที่ต้องการกำจัดขยะล้นเมือง นำไปสู่การตั้งคำถามผิดๆ ว่า “ถ้าเราไม่ฝังกลบหรือเผาขยะ แล้วเราจะทำอย่างไร?” การที่ผู้ตัดสินใจนโยบายตั้งคำถามผิด ทำให้เรามีทางตันสองอย่าง โรงงานเผาขยะและหลุมฝังกลบ

นักธุรกิจด้านรีไซเคิลคนหนึ่งเน้นให้เห็นประเด็นนี้ว่า “ เราต้องถามประเทศเราร่ำรวยหรือยากจน? เป็นหนี้เป็นสินเขาหรือเปล่า? เราเอางบประมาณที่มีอยู่จำกัดไปซื้อเครื่องมือราคาแพง ๆ มาเผาสิ่งของเหลือใช้ที่มีค่า แล้วปล่อยมลพิษให้คนไทยสูดดม ทรัพยากรเราไม่พออยู่แล้วกลับนำไปเผา นี่เรียกว่าเผาเงินกันเล่น ๆ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวทางการจัดการปัญหาที่ไปพ้นจากเทคโนโลยีเผาขยะ

โดยทั่วไป เราวัดมลพิษในอากาศ อาหารและน้ำ ดินหรือฝุ่นเพื่อชี้ให้เห็นระดับการปนเปื้อน แต่การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพบนฐานข้อมูลเหล่านั้นมีความไม่แน่นอนอย่างมาก ต้องไม่ลืมว่าร่างกายแต่ละคนรับเอามลพิษผ่านช่องทางต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย ร่ายแต่ละคนก็ดูดซึม กระจาย เผาผลาญและขับถ่ายของเสียแตกต่างกัน ผลกระทบด้านสุขภาพอาจเกิดจากการรับเอาสารพิษปริมาณน้อย ๆ เข้าไป กว่าจะเกิดโรคก็ใช้เวลานาน การวัดความเข้มข้นของมลพิษจากตัวชี้วัดทางชีวภาพในร่างกายคน (เลือด ปัสสาวะหรือเนื้อเยื่อ) เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการบ่งชี้ถึงการรับเอามลพิษเข้าสู่ร่างกายแล้วก่อให้เกิดโรค ปัจจุบัน

หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังอิงอยู่กับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมแบบเดิมซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ด้วยเหตุนี้ การที่โรงงานเผาขยะที่ดำเนินการที่ภูเก็ต และหาดใหญ่ เป็นต้น ปล่อยไดออกซินหรือมลพิษชนิดอื่น ๆ ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กระทรวงวิทยาศาสตร์กำหนดไว้ ไม่ได้หมายความว่า “ปลอดภัย”

เราไม่ได้พูดถึงแต่เฉพาะไดออกซินอย่างเดียว ไดออกซิน เป็นหนึ่งในสารมลพิษจำนวนกว่าร้อยชนิดที่ปล่อยออกมาจากโรงงานเผาขยะ และมีหลายชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็งในคน และค่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ตัวชี้วัดที่สำคัญของผลกระทบด้านสุขภาพ รายงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากโรงงานเผาขยะทั่วโลกได้ระบุสถานะขององค์ความรู้ที่สำคัญไว้ ตัวอย่างเช่น 1) โรงงานเผาขยะทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ทำให้เกิดไดออกซินและโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ในดินและพืชผลทางการเกษตรได้ 2) ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงงานเผาขยะ มักจะได้รับสารพิษผ่านทางการหายใจหรือการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษในพื้นที่นั้น ๆ 3) การลดไดออกซินใน ไอเสียที่ปล่อยมาจากปล่องควัน ทำให้ไดออกซินสะสมอยู่ในกากของเสียและเถ้าเพิ่มมากขึ้น 4) มีโรงงานเผาขยะไม่กี่แห่งในโลกที่มีการตรวจสอบการปล่อยมลพิษอย่างต่อเนื่อง หรือมีการตรวจสอบในขณะที่ดำเนินการตามปกติ

ความพยายามในการแยกขยะก่อนนำเข้าสู่เตาเผา เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นและผูกขาดการจัดการขยะโดยกลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการจัดการขยะโดยชุมชน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากโรงงานเผาขยะควรที่จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและโปร่งใสโดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ในด้านเศรษฐกิจ จะเห็นว่า ที่ผ่านมางบประมาณแผ่นดินส่วนหนึ่งได้นำมาจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการเผาขยะ ขยะคือเชื้อเพลิงและบริษัทจำเป็นต้องได้กำไรจากธุรกิจของตน ปัจจุบัน เราใช้เงินภาษีของเราในการเผาขยะ และจะเป็นเช่นนี้ไปอีก 10-20 ปี เราจะต้องนำเข้าเตาเผาใหม่ซึ่งราคาแพงมาแทนตัวเดิม เราจำเป็นมีพื้นที่ฝังกลบที่ปลอดภัยสำหรับเถ้าที่เป็นพิษ และเราจำเป็นต้องรับภาระในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบ นี่คือส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายราคาแพงที่ซ่อนเร้นอยู่