ธารา บัวคำศรี

ในขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น โลกร้อนเป็นเรื่องจริง และวิกฤตสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วเป็นสถานการณ์ท้าทายสุดๆ ของสังคม ผมอยากพาผู้อ่านทั้งหลายมองข้าม shot จากดีเบตเรื่องกระเช้าขึ้นภูกระดึง ผมคิดว่า เราทั้งหลายต้องมองยาวออกไปอีกนิดถึงเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

ถ้าเรามองระบบธรรมชาติในฐานะ “ระบบสนับสนุนค้ำจุนชีวิต(Life-Supporting System)” เช่นเดียวกับร่างกายของเราที่มีหัวใจและอวัยวะต่างๆ ที่ทำงานสอดประสานกันให้เรามีชีวิตอยู่ได้ เราก็ไม่ควรมานั่งเถียงเรื่องการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงเพราะเห็นชัดว่ามันจะทำลายระบบสนับสนุนค้ำจุนชีวิตและหัวใจของเราเอง

ในยุคที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น โลกร้อนเป็นเรื่องจริง และวิกฤตสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วเป็นสถานการณ์ท้าทายสุดๆ ของสังคม เรามีพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เรียกว่า Climate Change Hotspot ซึ่งเป็นบริเวณที่อุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนเปลี่ยนแปลงอย่างมากจนอาจทำให้ระบบนิเวศในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม Climate Change Hotspot เป็นบริเวณที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการติดตามการเปลี่ยนแปลงและศึกษาวิจัยผลกระทบ การปรับตัวและความอ่อนไหวของระบบนิเวศในพื้นที่เหล่านั้น

ประเทศไทยมีพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากระจายอยู่ในบริเวณต่างๆ ทั่วประเทศ การประมวลจากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ(Climate Model) UK89 มี 32 แห่งอยู่ในพื้นที่วิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยหนึ่งในนั้นคืออุทยานแห่งชาติภูกระดึง

จากการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการกระจายของพื้นที่ป่าโดยใช้ Global Climate Models ทั้ง UK89, UKMO, และ GISS และ Holdridge Life Zone Classification(การกระจายตัวของป่าพิจารณาจากภูมิอากาศ) ซึ่งเป็นการศึกษาครั้งแรกและครั้งเดียวของประเทศไทยพบว่า ภายใต้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในชั้นบรรยากาศ ป่าในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพป่าที่แห้งแล้งขึ้นในแทบทุกพื้นที่

รายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมใน http://www.greenpeace.org/seasia/th/Global/seasia/report/2009/6/climate-change-thailand.pdf

xt0IJnTC

ระบบนิเวศป่าภูกระดึงคือระบบนิเวศที่สนับสนุนค้ำจุนชีวิต เราไม่ควรเถียงแล้วว่าจะสร้างหรือไม่สร้างกระเช้าขึ้นภู เพราะมันไม่จำเป็น สิ่งที่จำเป็นคือ เราจะปกป้องรักษาขุนเขารูปหัวใจนี้ให้ทนทานและมีศักยภาพในการฟื้นคืนจากผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว(ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้หากเราไม่ทำอะไรเลย) ไว้ได้อย่างไร