ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก https://www.theguardian.com/sustainable-business/2016/sep/07/blockchain-fish-slavery-free-seafood-sustainable-technology
เทคโนโลยี Blockchain คือระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ นำมาทดลองใช้ต่อกรกับการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง

Blockchain เก็บข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีการนำมาใช้ทดลองในอุตสาหกรรมอาหารทะเล Photograph: Maria-Ines Fuenmayor/Provenance
เทคโนโลยีดิจิตอลใหม่ถูกนำมาใช้ติดตามปลาจากเรืออวนลากถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต นวัตกรรมที่จะสามารถช่วยยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการประมงผิดกฏหมาย
เทคโนโลยีที่เรียกว่า “บล็อกเชน(blockchain)” และใช้เป็นครั้งแรกกับระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ของ Bitcoin ซึ่งเป็นเงินสกุลดิจิตอลที่คาดว่าจะปฏิวัติวงการการเงิน อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมอาหาร โดยจะเข้ามาแทนที่งานเอกสารและวิธีการระบุตัวตน
Blockchain เป็นตัวบันทึกข้อมูลดิจิตอลที่ทุกคนเข้าถึงได้ ในกรณีนี้ มันจะบอกรายละเอียดแหล่งที่มาของปลาและให้ทุกคนเห็นว่าปลาถูกจับ เอามาแปรรูปและนำออกจำหน่ายได้อย่างไร เทคโนโลยีไม่ได้หยุดการทำประมงผิดกฎหมายด้วยตัวของมันเองแต่เปิดให้ใครก็ได้สามารถตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน
การที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลนั้นมีเรื่องฉาวโฉ่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการประมงผิดกฎหมาย นักรณรงค์จึงคาดหวังว่าเทคโนโลยีที่นำร่องโดยบริษัท Provenance แห่งสหราชอาณาจักรนี้จะช่วยผู้ค้าปลีก ผู้ผลิตและภัตตาคารต่างๆ พิสูจน์ถึงที่มาของปลาและอาหารทะเลได้
Steve Trent ผู้อำนวยการบริหารของ Environmental Justice Foundation (EJF) กล่าวว่า
“การสร้างกลไลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสตั้งแต่เครื่องประมงไปจนถึงอาหารทะเลในจานที่เรากินนั้นเป็นหัวใจสำคัญของการขจัดการประมงที่ไม่ยั่งยืนและผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงแพร่ระบาดในภาคการผลิตอาหารทะเล”

โปรแกรมบนสมาร์ทโฟนใช้ในการสแกนผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเพื่อเข้าถึงข้อมูลแหล่งที่มาและเส้นทางที่มาจนถึงซุปเปอร์มาเก็ต Photograph: Provenance
ปัจจุบัน การติดตามการซื้อขายอาหารทะเลเป็นการบันทึกด้วยกระดาษและเครื่องหมาย tag บนตัวปลา เทคโนโลยี “บล็อกเชน(blockchain)”นี้จะทำให้เราเห็นชาวประมงในพื้นที่ส่งข้อความ SMS เพื่อลงทะเบียนการจับปลาของตนลงใน blockchain การระบุข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปเป็นทอดๆ ในทุกๆ จุดตามผู้ที่ส่งสินค้าอาหารทะเลเหล่านั้น รวมถึงการแปรรูป การบรรจุกระป๋อง ข้อมูลจากแหล่งกำเนิดและห่วงโซ่อุปทาน (การเดินทางของสินค้าประมง) นั้นสามารถเข้าถึงและรับรองโดยผู้ซื้อสินค้าและผู้บริโภคในร้านค้าหรือภัตตาคารโดยใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นการแทนที่การสื่อสารข้อมูลแบบพิมพ์และฉลาก
เทคโนโลยีนี้ได้จุดประกายความสนใจในวงการอุตสาหกรรมอาหาร อย่างเช่น กลุ่ม the Co-op Food กำลังทำโครงการนำร่องผลิตภัณฑ์อาหารสดของตนกับบริษัท Provenance คาดว่าน่าจะมีการสรุปผลในปลายปีนี้
Jessi Baker ผู้ก่อตั้งบริษัท Provenance กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้เพิ่มเงินเข้าไปอีกไม่กี่สลึงในผลิตภัณฑ์(อาหารทะเล) และน่าจะเป็นการใช้ครั้งแรกกับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเกรดสูง หรือแม้กระทั่งไวน์และน้ำมันมะกอก ต้นทุนจะต้องลงไปถึงระดับไม่กี่สตางค์เพื่อให้ใช้ได้กับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
Jessi Baker กล่าวว่า “เราต้องการแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมาก เราต้องการช่วยสนับสนุนอาหารทะเลที่มาจากการประมงที่ยั่งยืนและรับรองสิ่งเหล่านี้ไปตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อขับเคลื่อนให้มีตลาดอาหารทะเลที่ปราศจากการใช้แรงงานบังคับ โครงการนำร่องนี้แสดงถึงห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่สลับซับซ้อนที่สามารถทำให้เกิดความโปร่งใสโดยใช้เทคโนโลยี blockchain”
บริษัทไทยยูเนี่ยน ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความยั่งยืน ได้ยินดีกับการนำร่องในผลิตภัณฑ์อาหารทะเลนี้ เทสโก หยุดการนำเอาผลิตภัณฑ์จอห์นเวสต์ของไทยยูเนียนขึ้นชั้นวาง ในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ไทยยูเนียนต้องรับประกันถึงการใช้ปลาทูน่าจากแหล่งที่มาที่ยั่งยืน
Dr Darian McBain ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนของไทยยูเนียนกล่าวว่า “การตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)ซึ่งเปิดให้เราพิสูจน์ว่าปลาของเรามีการจับอย่างถูกกฏหมายและยั่งยืนและมีสภาพการทำงานของแรงงานที่ปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทาน– มีความสำคัญอย่างยิ่งหากเราให้ความสนใจต่อผู้บริโภคถึงแหล่งที่มาของปลาทูน่า ความท้าทายต่อไปคือการสร้างความสามารถในการขยายผลเพื่อให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับสามารถดำเนินการข้ามพรมแดนและผู้มีอำนาจในการออกใบรับรอง และให้การศึกษากับผู้บริโภคว่ามันคุ้มค่าที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อปลาที่เรารู้ถึงแหล่งที่มาและวิธีการประมงโดยแรงงานถูกปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและได้รับค่าจ้างที่มีคุณค่า”
ส่วน Trent จาก EJF ตั้งข้อสังเกตว่า เทคโนโลยีนี้ไม่สามารถยุติการกดขี่ขูดรีดแรงงานในอุตสาหกรรมอากหารทะเลได้ ดังนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจและสนับสนุนกลไกลและปฏิบัติการอื่นๆ รวมถึงการบังคับใช้กฏหมายที่มีประสิทธิภาพ และการดำเนินการอย่างเข้มแข็ง เป็นธรรมและโปร่งใสในชั้นศาลเพื่อลงโทษผู้ที่ละเมิด”