บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ Our silent killer, taking a toll on millions เผยแพร่ครั้งแรกที่สำนักข่าว Bangkok Post เมื่อ 8 ธันวาคม 2559
ในปี 2558 มาตรวัดทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็น 5 จังหวัด ที่มีมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ลำปาง กรุงเทพมหานคร และราชบุรี ตามลำดับ
ในเมืองที่สภาพการจราจรเป็นแบบกันชนถึงกันชนอย่างกรุงเทพฯ ความร้อนอันรุนแรง และเสียงที่กลืนกินทุกอย่าง ก็เพียงพอที่จะทำให้คุณเป็นไมเกรนได้ เส้นขอบฟ้าไร้เมฆหมอกเป็นทิวทัศน์ที่คอยอยู่ตอนรับให้คุณได้ชื่นชมเมืองที่วุ่นวายเมืองนี้ แต่ยังมีสิ่งที่คอยส่งผลต่อสุขภาพของคนนับล้าน ล่องลอยอยู่อย่างลับๆ เหนือกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ที่คล้ายกัน
มลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่สุดสำหรับเมืองใหญ่ๆในประเทศไทย งานวิจัยปี 2558 ฉบับหนึ่ง ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และมีธนาคารโลกเป็นผู้สนับสนุน แสดงให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ถึง 50,000 ราย ในประเทศต่อปี กลุ่มที่สุ่มเสี่ยงที่สุดคือเด็ก คนชรา และประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงงานที่ปล่อยมลพิษต่างๆ โดยมีสิ่งที่มองไม่เห็นและสารพิษอันตรายเป็นหัวใจหลัก นั่นก็คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5)
ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กกว่าความกว้างของเส้นผมมนุษย์ PM2.5 นั้น เป็นรูปแบบของมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุด PM2.5 ช่วยทำให้สารเคมีอันตรายชนิดต่างๆ สามารถแทรกซึมลึกเข้าไปในปอด และส่งต่อให้อวัยวะภายในอื่นๆ ก่อให้เกิดโรคหลายประเภท ที่รวมถึง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคทางระบบหายใจ ความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ และอาจถึงตายได้
มลพิษทางอากาศกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งโลก Unicef เผยว่ามลพิษทางอากาศมีส่วนทำให้เกิดการตายของเด็กประมาณ 60,000 คนต่อปี และงานวิจัยของธนาคารโลกได้ชี้ให้เห็นว่า อัตราการตายจากมลพิษทางอากาศของไทยได้เพิ่มขึ้นโดยคร่าวๆจาก 31,000 ราย ในปี 2533 ไปเป็น 48,000 ราย ในปี 2556 ในความเป็นจริง ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่าก๊าซโอโซนพื้นผิวและฝุ่นละอองคือมลพิษสองชนิดหลักที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อ สุขภาพอนามัยของคนในประเทศไทย
โชคไม่ดีนักที่ระดับ PM2.5 ในหลายส่วนของประเทศไทย มีปริมาณมากเกินจะยอมรับได้ ความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในบรรยากาศที่กำหนดเป็นมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทย คือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตัวเลขที่ไทยล้มเหลวที่จะควบคุมในหลายปีที่ผ่านมา ไม่นานมานี้ทางกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ตรวจสอบ และเผยอันดับเมืองต่างๆของไทยตามค่า PM2.5 อ้างอิงจากข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการจัดในรูปแบบนี้ และสิ่งที่เราพบได้เน้นให้เห็นถึงวิกฤตใกล้ตัว ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ซ้อนเร้นต่อสุขภาพของทุกคน
อ้างอิงจากข้อมูลเมื่อปี 2558 ปรากฏว่าจากทั้งหมด 29 จังหวัด ที่มีการติดตั้งการตรวจวัดทางอากาศ มีทั้งหมด 23 จังหวัด ที่มีค่าฝุ่นพิษ PM10 มากกว่าค่าเฉลี่ยประจำปี โดยระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปีนี้ มี 5 จังหวัด ที่มีค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นของ PM2.5 สูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ลำปาง กรุงเทพมหานคร และราชบุรี กล่าวคือ ค่ามลพิษใน 5 จังหวัดนั้นมีถึงระดับที่เป็นพิษ เป็นพิษอย่างมาก และระดับอันตรายตามที่องค์การอนามัยโลกได้จัดไว้ หากคุณต้องการจะรู้ว่าเรากำลังหายใจอะไรเข้าไปบ้างแบบนาทีต่อนาที มีเว็บไซท์ที่แสดงผลเป็นแผนภาพให้คุณ เพียงแค่พิมพ์ “Bangkok AQI”
แล้วทำไมรัฐบาลไทยถึงไม่ใช้ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพด้วย? หลายประเทศ เช่น จีนและอินเดียได้รวม PM2.5 เข้าไปในดัชนีคุณภาพอากาศแล้ว และความหนาแน่นของ PM2.5 ก็สำคัญต่อการบ่งชี้ปริมาณ รวมถึงสัญญาณเตือนหมอกควันและมลพิษของประเทศ ที่กรุงปักกิ่งมีการแนะนำให้ผู้พักอาศัยใส่หน้ากากและหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร ส่วนกรุงนิวเดลี ทางรัฐบาลถูกบังคับให้ปิดโรงเรียนชั่วคราว เนื่องจากปริมาณหมอกควันพิษขั้นรุนแรงที่ปกคลุมเมือง แต่ประเทศไทยกลับไม่มีการเตือนภัยหรือการวัดผลในแบบดังกล่าวเลย
จริงๆแล้วประเทศของเรามีเครื่องมือที่จะทำแบบนั้นได้ ถึงแม้ว่า สถานีเฝ้าระวังมลพิษจะสามารถวัดค่าความหนาแน่น PM2.5 ได้ แต่กลับไม่ได้มีมันอยู่ในดัชนีคุณภาพอากาศของไทย (AQI) ขณะที่ AQI นั้นสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับระดับมลพิษทางอากาศที่เป็นเวลาและเชื่อถือได้ มีเพียงแค่ PM10 (ฝุ่นละอองที่ใหญ่กว่า) ที่ถูกวัด ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญกับค่า PM2.5 มากกว่า PM10 เพื่อการคำนวนแนวโน้มผลกระทบต่อสุขภาพจากมลภาวะที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
เพราะฉะนั้น หาก PM2.5 สามารถช่วยให้เรามีความเข้าใจต่อมลพิษและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตมนุษย์เราได้ดีกว่า ทำไมฆาตกรเงียบนี้ถึงถูกซ่อนจากเอกสารทางการ? การเพิ่มขึ้นอย่างอิสระของโรงงานอุตสาหกรรม การจัดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้มีจำนวนมากขึ้นไปอีก การเพิ่มปริมาณรถยนต์สู่ถนนของเรา รวมถึงปัญหาค้างคาของประเทศอินโดนีเซียที่ส่งผลกับไทยและประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกลายเป็นปัญหามลพิษข้ามพรมแดน จะนำไปสู่ประเด็นมลภาวะที่แย่ลงในปีถัดจากนี้อย่างแน่นอน
รัฐบาลไทยจำเป็นจะต้องยกระดับ AQI ให้รวม PM2.5 เข้าไปด้วยอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้นควรมีมาตรการเฝ้าระวังมลพิษและกฎเกณฑ์ข้อปฏิบัติของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนเลิกใช้ถ่านหินด้วยเช่นกันเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน และควรมีการวัดการปล่อย PM2.5 และปรอทที่แหล่งกำเนิด และมาตรฐานปัจจุบันสำหรับสารพิษอื่นๆ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนตรัสออกไซด์ นอกเหนือไปจากการปล่อยฝุ่นละออง ควรมีการพิจารณาใหม่อีกครั้ง
การคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดในประเทศไทยนั้นไม่เพียงพอ และจะยังเป็นแบบนี้ต่อไปหากรัฐบาลยืดเยื้อ และเลือกที่จะยอมแลกเรื่องสาธารณสุขของประชาชนทุกครั้งที่มีขัดแย้งกับทางอุตสาหกรรม รัฐบาลไทยต้องถอยออกมาจากการมองโลกในวิสัยทัศน์แคบๆ และจัดการกับประเด็นปัญหาเหล่านี้จากมุมมองด้านสาธารณสุข รัฐบาลควรจะกระตุ้นให้ทางอุตสาหกรรมดำเนินงานภายใต้มาตรฐานที่ดีกว่านี้ ผ่านทางนวัตกรรมต่างๆ และเพื่อเบิกทางให้กับการป้องกันมลพิษอย่างยั่งยืน