ที่มา http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/2559/blog/58415/

ปี 2559 เป็นอีกห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านดีและด้านร้ายของสิ่งแวดล้อมไทย ก่อนจะผ่านพ้นปี 2559 นี้ เรามาย้อนดูสักนิดว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นในช่วงปีนี้มีอะไรบ้าง

ปฏิรูปการประมงคืบหน้าแต่ท้าทาย

หลังจากมาตราการปลดใบเหลืองอียูของรัฐบาลนับตั้งแต่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเตือนอย่างเป็นทางการเรื่องการขาดมาตรการที่เพียงพอในการต่อสู้การประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและขาดการควบคุม (IUU Fishing) ในเดือนเมษายน 2558 มีการวิเคราะห์คาดการณ์มาโดยตลอดว่าผลการตัดสินใจจะเป็นไปในทิศทางใด ในเดือนเมษายน 2559 หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่คณะทำงานของรัฐบาลไทยจะทำการบรรยายสรุปความคืบหน้าของการแก้ปัญหา IUU Fishing ต่อคณะผู้แทนของสหภาพยุโรป คสช.ใช้มาตรา 44 เด้งอธิบดีกรมประมงพ้นจากตำแหน่ง ความคืบหน้านี้รวมถึงการติดตั้ง VMS บนเรือประมงได้ร้อยละ 67.5 การขึ้นทะเบียนเรือประมงพาณิชย์อย่างถูกต้อง 11,217 ลำ การจัดตั้งศูนย์ PIPO 28 แห่ง ตลอดจนการเจรจาและ/หรือลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องแรงงานและการประมงกับ 13 ประเทศ และการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง 35,000 คน เป็นต้น

ขณะที่การฟื้นฟูทะเลไทยจากการประมงเกินขนาดและภาวะคุกคามอื่นๆ ยังเป็นประเด็นท้าทายตลอดทั้งปี 2559 ในเดือนมกราคม เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านเรียกร้องต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้รัฐบาลยกเลิกการจำกัดพื้นที่ทำประมงห่างจากชายฝั่งไม่เกินสามไมล์ทะเลตามมาตรา 34 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 (มีความว่า ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง” พื้นที่ที่ห่างจากชายฝั่งออกไปเกิน 3 ไมล์ทะเล) โดยระบุว่ามีประชาชน 50,000 ครัวเรือนหรือร้อยละ 80 ของผู้ทำอาชีพประมงเป็นชาวประมงพื้นบ้านที่ถูกขีดเส้นให้หาปลาในระยะ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ซึ่งที่จริงควรจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ การกันคนให้ทำประมงใกล้พื้นที่ชายฝั่งเท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้อนุรักษ์ชายฝั่งเลย ต่อมาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พิจารณาว่าการยกเลิกมาตรา 34 เพียงมาตราเดียวอาจจะส่งผลกระทบในภาพรวมของ พรก.การประมง พ.ศ. 2558 และให้กรมประมงยกเลิกประกาศของกรมประมงที่กำหนดการอนุญาตเครื่องมือประมงที่ต้องใช้สำหรับประมงพื้นบ้าน ซึ่งโดยนัยแล้วมาตรา 34 ก็ไม่ได้ใช้ ชาวประมงพื้นบ้านสามารถออกไปหาปลานอกเขต 3 ไมล์ทะเลโดยปกติ และให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดูเรื่องการแก้ไขมาตรา 34

ในเดือนมิถุนายน 2559 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report 2559) ระบุว่า ประเทศไทยได้รับการปรับสถานะขึ้นเป็นเทียร์ 2 วอท์ช ลิสท์ (Tier 2 Watch List) จากที่เคยถูกจัดอยู่ในระดับเทียร์ 3 ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งสะท้อนความจริงจังของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับ โดยคาดการณ์ว่าจะเป็นปัจจัยแวดล้อมสำคัญในการหลุดพ้นใบเหลือง IUU Fishing

แต่ท่ามกลางความพยายามปลดใบเหลือง IUU นี้เอง สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทยซึ่งเป็นการรวมตัวของ 8 สมาคมประมง(สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, สมาคมกุ้งไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป, สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย, สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย, สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย) ได้ออกมางัดข้อกัน ฝ่ายอุตสาหกรรมปลาทูน่า เสนอ ส.ส. อียู สั่งยกเลิกเรืออวนลาก -เรือปั่นไฟ ลดโรงงานปลาป่นลงครึ่งหนึ่ง อ้างเหตุผลป้องทะเลไทย หวั่นประมงพื้นบ้าน 2 ล้านครัวเรือนไม่มีปลาจับ ขณะประมงพาณิชย์ฉุน จี้รีดภาษีนำเข้าวัตถุดิบปลาทูน่าร้อยละ 10 นำไปตั้งกองทุน

แม้ว่าจะมีกระแสข่าวว่าสหภาพยุโรปต่อใบเหลืองประมงของไทยออกไป 6 เดือน ความพอใจของคณะกรรมาธิการยุโรปต่อการแก้ปัญหา และความพยายามขยายบทบาทของไทยในเรื่องนโยบายประมงร่วมในอาเซียน รวมถึงมีการวิเคราะห์ว่าใบเหลือง IUU fishing ของไทยจะถูกปลดออกในที่สุด แต่จนถึงวันสุดท้ายของปี 2559  คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปก็ยังไม่ประกาศถึงการตัดสินใจในเรื่องนี้แต่อย่างใด

มวลชนยังยืนเด่นต้านทานอำนาจถ่านหิน

ภายหลังที่รัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินหน้าผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากประชาชน และถึงขั้นมีการขู่เอาชีวิตกลุ่มผู้เห็นต่าง ในเดือนมกราคม 2559  เครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS : Persekutuan rakyat mempertahankan hak masyarakat dan sumber daya alam untuk kedamaian) ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ องค์กรทางศาสนา ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษาและชาวบ้านจากพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา อ.จะนะ อ.นาทวี อ.สะเดา จ.สงขลา และอ.หนองจิก อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เครือข่าย PERMATAMAS เน้นทำงานวิชาการว่าด้วยผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีจุดยืนที่ชัดเจนในการยับยั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างถึงที่สุด

วันที่ 25 มกราคม 2559 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ยื่นหนังสือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ค้านผลประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 โรงไฟฟ้าถ่านหินในโครงการเหมืองโปแตซอาเซียน ระบุมีการบิดเบือนข้อมูล ก่อนเข้ายื่นหนังสือ บริษัทบางจากปิโตรเลียมฯ ในฐานะผู้ถือหุ้น

ช่วงต้นปี 2559 บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ พยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ ที่เขาหินซ้อน ฉะเชิงเทรา แต่ฝันต้องสลายเมื่อรายงาน EHIA ไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เป็นครั้งที่สาม เครือข่ายชุมชนประกาศลุยค้านจนกว่ายกเลิกโครงการ

ในขณะที่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินเปิดฉากเคลื่อนไหวในต้นปี 2559 โดยรวมตัวกันประท้วงที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียกร้องต่อความพยายามแก้ไขถ้อยคำในประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ฉบับใหม่ซึ่งเอื้อให้กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ การดำเนินงานของคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2558 มาถึงจุดแตกหักในเดือนกันยายน 2559 เมื่อคณะกรรมการภาคประชาชนยื่นลาออกหลังพบพิรุธในกระบวนการทำงานที่ขาดความชอบธรรม การละเลยคำมั่นที่รัฐบาลให้ไว้เพื่อผลักดันให้กระบี่เดินหน้าพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยตามศักยภาพที่มีภายในเวลา 3 ปี ในที่สุด เดือนธันวาคม 2559 ภาคประชาชนในนามเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินได้ออกมานั่ง “ภาวนา” หน้าทำเนียบเพื่อเรียกร้องให้ “ยุติ” มิใช่ “ชะลอ” โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 เวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.1) ขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะป่วน เจอชาวบ้านรุมปิดล้อม-ต่อต้าน ต้องยุติกลางคัน ระบุกระบวนการ ค.1 ไม่เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย ต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชี้แจงว่าโครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ประกวดราคาได้โรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 655 เมกะวัตต์ สูงกว่ากำลังผลิตเดิมในการจัดทำรายงาน EHIA ครั้งแรกซึ่งมีกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ โดยอ้างว่าสามารถควบคุมมลสารได้ดีขึ้นภายใต้งบประมาณเท่าเดิม อนึ่ง กฟผ.ได้ลงนามสัญญางานซื้อและจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะฯ กับกิจการค้าร่วมบริษัท อัลสตอม เพาเวอร์ ซิสเต็ม ประเทศฝรั่งเศส บริษัท อัลสตอม (ประเทศไทย) จำกัด และมารูเบนิ คอร์ปอเรชั่น ที่ชนะการประกวดราคาตั้งแต่ 9 มีนาคม 2558 แล้ว

สมัชชาแม่น้ำค้านทางเลียบบนเจ้าพระยา 14,000 ล้าน

ความเคลื่อนไหวที่ดำเนินสืบเนื่องมาตลอดปี 2559 คือการรวมตัวของประชาชนในนามสมัชชาแม่น้ำเพื่อคัดค้านโครงการทางเลียบบนเจ้าพระยา 14,000 ล้าน ที่ได้ประโยชน์ไม่คุ้มเสีย เครือข่ายของสมัชชาแม่น้ำ (RA : The River Assembly) ประกอบด้วยมากกว่า 40 องค์กร (และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น)14 ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา บุคคลทั่วไปอีกร่วม 200 รายชื่อ  และอีกกว่า 20,000 พลังเสียงที่ร่วมลงชื่อรณรงค์ใน change.org ด้วยเจตนาบริสุทธิ์เพื่อประโยชน์สาธารณะของลุ่มน้ำ เรียกร้องให้ยุติโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมนี้ อ่านเพิ่มเติม ที่นี่

สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสภาพอากาศของโลกในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2559 ว่าสภาวะอากาศที่รุนแรงและสภาพภูมิอากาศของโลกได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญท่ีเกิดข้ึนรุนแรงในปี 2558-2559 ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบอย่างหนักต่อภาคการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ประชากรมากกว่า 60 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้ ในประเทศไทย ประชาชนต้องเผชิญสภาพอากาศร้อนสุดๆ ภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาแสดงให้เห็นคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมประเทศไทยในเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดถึง 44.4 องศา ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 56 ปี

การประชุมภาคีอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 22 ที่เมืองมาร์ราเกซ ประเทศโมรอคโค ระหว่างวันที่ 7-18 พฤศจิกายน 2559 ย้ำชัดเจนว่าการจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤติโลกร้อนเป็นภารกิจร่วมกันของทุกคนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การให้สัตยาบันของประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ที่ตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 จากระดับการปล่อยปกติ(ดำเนินการในช่วงปี 2563 – 2573) แม้จะไม่ใช่เรื่องยากตามแผนพลังงานทางเลือก แผนเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน และแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้า ความท้าทายคือ การทบทวนและเสนอเป้าหมายใหม่ของการลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปี 2563 และต้องทำทุกๆ 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ในความตกลงปารีสโดยจะต้องมีเป้าหมายที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าและความพยายามสูงที่สุดในการลดก๊าซ ดังนั้น หากมีโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สูงเพิ่มขึ้นในเวลานี้โดยขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ จะส่งผลและเป็นภาระสำหรับการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซในอนาคต

หมอกควันพิษข้ามพรมแดนยังวิกฤต

สถานการณ์ฝุ่นละอองที่รายงานโดยกรมควบคุมมลพิษตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ผ่านมา เป็นการรายงานการวัดความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ความเข้มข้นพุ่งทะลุค่ามาตรฐาน(120 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.) เป็นช่วงๆ มาจนถึงเดือนเมษายนเชียงรายเจอหนักสุด ค่าความเข้มข้นสูงสุดของ PM10 ขึ้นเป็นสองเท่ากว่าค่ามาตรฐาน

วิสัยทัศน์ “ภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี 2563” ที่มีดัชนีชี้วัด 3 ประการ (ร้อยละของดัชนีคุณภาพอากาศ(คำนวณจาก PM10 และ/หรือ PM2.5)ดีขึ้น จำนวนวันที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีและเกณฑ์พอใช้เพิ่มขึ้น(คำนวณจาก PM10 และ/หรือ PM2.5) และผลกระทบต่อสุขภาพจากหมอกควันพิษลดลง) ยังต้องการความมุ่งมั่นในการปฏิบัติการให้เป็นจริง หมอกควันข้ามพรมแดนยังเป็นวิกฤตเรื้อรังต่อไปตราบเท่าที่ไม่มีการแก้ปัญหาที่รากเหง้า

รุมทึ้งแม่น้ำโขง

แม้จะมีข่าวดีที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธ์ุใหม่ 163 สายพันธุ์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แต่ทีมสำรวจของ WWF ซึ่งดำเนินการสำรวจเหล่าโลมาได้ยืนยันถึงจำนวนโลมาที่มีอยู่ในปัจจุบันในหาดโอจือเตียล (O Cheuteal) ทางตอนใต้ของลาวและทางตอนเหนือของกัมพูชาว่ามีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 50 ในปี 2559 โลมากลุ่มนี้ลดลงจนเหลือเพียง 3 ตัวจากช่วงต้นปี 2559 ที่มี 6 ตัว จึงมีความหวังเหลือเพียงน้อยนิด ที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้กลับมาดังเดิม เพราะโลมาที่มีเพียงเท่านี้คงไม่สามารถอยู่รอดได้ (สืบสายพันธุ์ต่อไปได้)

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงมีบทบาทสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงของประชาชนเรียกร้องการพัฒนาที่ยั่งยืนบนรากฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกป้องแม่น้ำโขง ทั้งในเรื่องการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศและชุมชนในลุ่มน้ำ เช่นเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2559 เครือข่ายออกแถลงการณ์คัดค้านมติ ครม.ไฟเขียว ‘จีน’ ระเบิดเกาะแก่ง เปิดทางเดินเรือพาณิชย์ 500 ตัน ระบุโครงการนี้จะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างกว้างขวางรวมถึงการทำลายแก่ง แหล่งพืชพรรณบนแก่ง ริมฝั่งน้ำ และหาดแม่น้ำโขง และเกิดการพังทลายของชายฝั่ง และทำลายการเดินเรือของประชาชนริมฝั่งโขงทั้งไทยและลาว

ปลดล็อกโรงไฟฟ้าขยะ เปิดกล่องหายนะ

คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3, 4 และ 9/2559 เป็นผลให้ภาคประชาสังคมและประชาชนในหลายพื้นที่ออกมาคัดค้านแทบจะทันที ล่าสุดที่อำเภอท่าศาลา นครศรีธรรมราช ก่อนหน้าคำสั่ง คสช. เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งผลให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทุกกำลังการผลิตไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) จากเดิมกรณีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ต้องจัดทำรายงาน EIA โดยให้ดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) แทน คำสั่งซึ่งมีผลปลดล็อคโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง หรือ ‘โรงไฟฟ้าขยะ’ ก็คือ คำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ในการยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการพลังงานและขยะ พูดง่ายๆ ว่า จากนี้ไป สามารถตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ที่ผังเมืองไม่อนุญาตได้ทันที

พฤศจิกายน 2559 กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ตรวจสอบเอกสารคำสั่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ที่ สข 0033 (3) /2853ลงวันที่ 25 พ.ย. 59 พบว่า พนักงานเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอากาศที่ระบายจากปล่องเตาเผาขยะมูลฝอยบริษัทจีเดค จำกัดเมื่อวันที่ 21 – 28 พฤษภาคม 2559 ก่อนจะนำไปตรวจวิเคราะห์และพบว่าค่า “ไดออกซิน” สูงเกินค่ามาตรฐานกว่า 50 เท่า ต่อมาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาใช้อำนาจสั่งปิดเตาเผาโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะหาดใหญ่ชั่วคราว พร้อมสั่งดำเนินการปรับปรุงให้เรียบร้อยภายใน 13 ม.ค. 2560

มูลนิธิบูรณะนิเวศระบุ การผลักดันโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้นประมาณ 50 แห่งทั่วประเทศ เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และรัฐบาลควรทบทวนนโยบายดังกล่าว รวมทั้งยกเลิกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยกเว้นให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทุกขนาดกำลังการผลิตไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)

คดีสิ่งแวดล้อมในรอบปี 2559

คดีสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนชีพจรของ “ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม” และ “การปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ” ในรอบปี 2559 พอรวบรวมได้ดังนี้

– 24 มีนาคม 2559 คดีแพ่งกรณีชาวบ้านหนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเอกชนที่นำกากของเสียอุตสาหกรรมมาลักลอบทิ้งและก่อให้เกิดการปนเปื้อนมลพิษในน้ำใต้ดินและสิ่งแวดล้อม

– 20 มิถุนายน 2559 คดีปกครองกรณีเกษตรกรฟ้องเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์ฯ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

– 20 กันยายน 2559 คดีปกครองกรณีชุมชนฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตโครงการท่าเรือและโกดังขนถ่ายสินค้าริมแม่น้ำบางปะกง อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

– 29 กันยายน 2559 คดีปกครองกรณีเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมใช้สิทธิขอเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องแจ้งการขุดดินถมดินโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี

– สิงหาคม 2559 ศาลแพ่งพิพากษาให้ บริษัทพีทีที โกบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 และนายบวร วงศ์สินอุดม ประธานกรรมการบริษัทพีทีทีฯ จำเลยที่ 2 ร่วมกันจ่ายชดใช้ให้โจทก์จำนวน 223 ราย ซึ่งมีพยานหลักฐานชัดเจนว่าได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบรั่วในทะเลอ่าวไทย จ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2556 จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้จริง

– 4 พฤศจิกายน 2559 คดีปกครองกรณีฟ้องเพิกถอนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2559 เรื่องยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองฯ

– 16 พฤศจิกายน 2559 ศาลอาญา พิพากษายกฟ้องคดีเหมืองทองทุ่งคำ ฟ้องหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมฯ รายการนักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ชี้คดีไม่มีมูล จำเลยนำเสนอผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามข้อเท็จจริง ติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่เกินขอบเขตวิสัยที่ประชาชนพึงกระทำได้

– 14 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดปทุมธานี สั่งจำคุกแกนนำคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะเชียงรากใหญ่ 2 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อน

– 28 ธันวาคม 2559 ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดีเหมืองทองคำวังสะพุง เนื่องจาก รัฐมนตรีอุตสาหกรรมไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่กฏหมายกำหนด

กระบวนการทางศาลรวมถึงการจัดตั้งศาลปกครองเปิดให้มีการนําคดีหรือข้อพิพาททางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลเพื่อให้เกิดการแก้ไขเยียวความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และสามารถใช้มาตรการป้องกันไม่ให้มีการทําลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันในรอบปี 2559 นี้ กฎหมายก็ยังคงเป็นเครื่องมือของรัฐและฝ่ายอุตสาหกรรมเพื่อกดทับการต่อสู้และปากเสียงของชุมชน