ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นกรอบข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP21) ซึ่งจัดขึ้นปลายปี พ.ศ. 2558 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้ผ่านมา 2 ปีแล้ว ในวาระที่การประชุมรัฐภาคีสมัยที่ 23 (COP23) กำลังมีขึ้น ณ กรุงบอนน์ สาธารณรัฐเยอรมนีในช่วงสองสัปดาห์นี้ มีประเด็นที่เป็นข้อสังเกต 4 ประการถึงความคืบหน้าของการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายร่วมกันขั้นพื้นฐานของความตกลงปารีส เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส(เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม) และ พยายามป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่เป็นหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
1. จนถึงปัจจุบันการจัดทำข้อเสนอหรือเจตจำนงการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก(Nationally Determinded Contribution(NDC) ของแต่ละประเทศทั่วโลกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมกันแล้วเป็นเพียง 1 ใน 3 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องลด เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส รายงาน Emissions Gap Report 2017 ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ(UNEP) มีข้อเสนอชัดเจนว่าจะต้องมี NDC ที่มีมุ่งมั่นและเข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่
ที่มา : Emissions Gap Report 2017
จากแผนภาพ เราจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 42 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีภายในปี ค.ศ. 2030(พ.ศ.2573) เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ในขณะที่ ข้อเสนอการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด(NDC) แบบมีการสนับสนุนภายนอก(Condition NDC)และไม่มีการสนับสนุนภายนอก(Uncondition NDC) นั้นนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกได้ 11 และ 13.5 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี ค.ศ. 2030(พ.ศ.2573) ตามลำดับ
หากจะต้องทำให้สอดคล้องกับเป้าหมายป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราจะต้องลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 36 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีภายในปี ค.ศ. 2030(พ.ศ.2573) ในขณะที่ ข้อเสนอการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด(Nationally Determinded Contribution) แบบมีการสนับสนุนภายนอกและไม่มีการสนับสนุนภายนอกนั้นนำไปสู่การลด ก๊าซเรือนกระจกได้ 16 และ 19 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี ค.ศ. 2030(พ.ศ.2573) ตามลำดับ
2. การยุติถ่านหิน(Coal phaseout) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในการอุดช่องว่าง(bridging gap)การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ขณะนี้ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ดำเนินการอยู่ราว 6,683 แห่ง คิดเป็นกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมด 1,964 กิกะวัตต์ หากจะต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดนี้จนสิ้นสุดอายุการใช้งาน จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 190 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในรายงาน A Stress Test for Coal in Europe under the Paris Agreement – Scientific Goal Posts for A Coordinated Phased-Out and Divestment ของกลุ่ม Climate Analytics ที่จัดทำขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 ระบุว่า การปิดตัวของโรงไฟฟ้าถ่านหินลงเกือบทั้งหมดในสหภาพยุโรปในช่วงอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้าถือเป็นความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐาน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มีความจำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ประชาคมโลกให้คำมั่นภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานให้ไปพ้นจากถ่านหินจะช่วยหลีกเลี่ยงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอันมหาศาล การยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นทำให้ถูกลงจากต้นทุนที่ลดลงอย่างรวดเร็วและอย่างมากของพลังงานหมุนเวียน แม้ว่าพลังงานลมและแสงอาทิตย์จะมีความท้าทายในตัวของมันเอง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการพึ่งพาสภาพอากาศ แต่ทางเลือกต่างๆ เช่น ระบบจัดเก็บพลังงานไฟฟ้า การพัฒนาระบบสายส่งและระบบการกระจายศูนย์นั้นสามารถรองรับและจัดการกับความท้าทาย ในขณะเดียวกัน พลังงานหมุนเวียนนั้นมีประโยชน์จากการเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่มีวันหมดและขยายขนาดได้ซึ่งเอื้อให้เกิดแบบจำลองธุรกิจใหม่และนำไปสู่การจ้างงาน รวมถึงในพื้นที่ที่จะมีการปิดตัวลงของโรงไฟฟ้าถ่านหิน
3. “หยุดขุดเจาะและเก็บปิโตรเลียมไว้ใต้ดิน” คือ นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทรงพลังมากที่สุดและเรียบง่ายที่สุด บทความ Global Warming’s Terrifying New Math ของกลุ่ม Carbon Tracker Initiative ระบุว่า แหล่งสำรองถ่านหิน น้ำมันและก๊าซตามรายงานของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลของโลกนั้นมีปริมาณคาร์บอนมากกว่าห้าเท่าเกินกว่าที่ จะนำมาเผาไหม้ได้หากเราจะต้องป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และถ้าอุตสาหกรรมพลังงานขุดเอาเชื้อเพลิงจากแหล่งสำรองขึ้นมาใช้ทั้งหมดตามปริมาณที่อ้างเอาไว้ โลกของเราก็จะร้อนจากเดิมขึ้นเป็นอีก 5 เท่า เพื่อให้มีโอกาสสองในสามของการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เราสามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศได้อีก 800 กิกะตัน และโอกาสครึ่งต่อครึ่งที่จะบรรลุเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราสามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียงราวๆ 353 กิกะตัน แต่ทว่า รายงานของ Oil Change International ซึ่งใช้ข้อมูลจาก Rystad บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานของนอร์เวย์ ชี้ให้เห็นว่า เหมืองถ่านหิน บ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนั้นเทียบเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ 942 กิกะตัน ตัวเลขดังกล่าวนี้นำไปสู่การรณรงค์ “การตัดทอนการลงทุน(divestment)” จากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยมหาวิทยาลัย กลุ่มองค์กรต่างๆ และกลายเป็นกระแสที่แพร่หลายและกว้างขวาง นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเก็บแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลไว้ใต้ดิน
ในสหรัฐอเมริกา เหมืองถ่านหิน หลุมก๊าซและน้ำมันที่มีอยู่คิดเป็นการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 86,000 ล้านตัน หรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส แต่หากอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐอเมริกาเดินหน้าต่อและพัฒนาบ่อน้ำมันและพื้นที่ขุดเจาะโดยใช้กระบวนการขุดเจาะน้ำมันและแก๊สโดยการฉีดน้ำ ทราย และสารเคมีด้วยกำลังอัดแรงสูงเข้าไปที่ชั้นหินลึกใต้ดิน ทำให้ชั้นหินปล่อยน้ำมันและแก๊สในชั้นหินออกมา(ที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing หรือ fracking) ทั้งหมดตามแผนการที่วางเอาไว้ ก็จะเพิ่มการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณ 51,000 ล้านตัน และหากเราปล่อยให้เกิดขึ้น สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศเดียวที่มีสัดส่วนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศเกือบร้อยละ 40 ของปริมาณทั้งหมด(ปริมาณมากที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส)
4. การรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่สุดด้านสาธารณสุขโลกแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นข้อสรุปในรายงานวิจัย “The Lancet Countdown: tracking progress on health and climate change” ซึ่งเป็นงานวิจัยพหุสาขาวิชาในระดับนานาชาติโดยเป็นความร่วมร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก รายงานวิจัยนี้ทำการติดตามผลกระทบสุขภาพของอันตรายจากสภาพอากาศสุดขั้ว การฟื้นคืนจากผลกระทบและการปรับตัวด้านสุขภาพ ตลอดจนผลประโยชน์ร่วมในด้านสุขภาพจากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ที่มา : The Lancet Countdown: tracking progress on health and climate change
เมื่อพิจารณาถึงมิติด้านสุขภาพ ผลกระทบและภัยคุกคามจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเห็นได้อย่างชัดเจน ณ วันนี้ ปฏิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รับประกันถึงความมั่นคงและความเป็นธรรมสำหรับทุกคนไม่อาจเกิดขึ้นโดยลำพังหรือโดยผู้คนเพียงหยิบมือ ปฏิบัติการนี้ต้องการทุกคน จากสามัญชนไปจนถึงนายกเทศมนตรี จากผู้อำนวยการบริหารของบริษัทไปจนถึงผู้คนที่อยู่แนวหน้าของภัยพิบัติจากโลกร้อน และผู้นำรัฐบาลทั่วโลกที่สร้างภาวะผู้นำร่วมและยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง
หมายเหตุ : Nationally Determinded Contribution(NDC) เป็นหัวใจสำคัญของความตกลงปารีส(Paris Agreement) ที่ตกลงกันเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยแต่ละประเทศจะจัดทำข้อเสนอหรือร่างเจตจำนงการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกลง เป้าหมายการลดจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับตามความเหมาะสมของประเทศ สำหรับ NDC ของประเทศไทยคือ แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายหลังปี พ.ศ. 2563 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap) ซึ่งกำหนดเป้าหมายจะลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 จากกรณีที่ดำเนินไปตามปกติ(Business As Usual) ภายในปี 2030
คุณทำอะไรได้บ้าง?
-
ร่วมลงชื่อเพื่อให้ผู้ก่อมลพิษมีภาระรับผิดและสร้างความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ
-
ร่วมกดดันให้กลุ่มผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ออกไปจากการเจรจาโลกร้อนในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-
เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวยุติยุคถ่านหิน
-
คุณมีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ร่วมเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษนำค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM 2.5) มาคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ(Air Quality Index) http://act.gp/2qGd0j6
ธารา บัวคำศรี เป็นผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้