พาดหัวข่าว “ปล่อย 15 แกนนำ พลังงานเล็งถอย” “รื้อแผนพีดีพีรับเทรนด์โลก” บนหน้าหน้าหนังสือพิมพ์ เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ศาลจังหวัดสงขลาอนุญาตให้ประกันตัวเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลังจากถูกจับกุมจากการเดินเท้าอย่างสงบ #เทใจให้เทพา นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมือง สงขลา
อีกครั้งหนึ่ง การคัดค้านถ่านหินของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแสงสว่างส่อง ตรงไปยัง “ภาระรับผิดและตรวจสอบได้(accountability)” ของการวางแผนภาคการผลิตไฟฟ้า และท้าทายกระบวนการวางแผนผลิตไฟฟ้าที่เป็นปัญหาถึงขั้นวิกฤต
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(Power Development Plan) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า แผนพีดีพี เป็นแผนแม่บทเพื่อการลงทุนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศ โดยกำหนดว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าแบบใดขึ้นบ้าง เป็นจำนวนเท่าไร ที่ไหนและเมื่อไร แผนพีดีพีมีนัยยะที่ครอบคลุมกว้างขวาง ไม่เพียงแต่จะกำหนดอนาคตของการผลิตไฟฟ้า ภูมิทัศน์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ หากยังส่งผลต่อประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอีกด้วย ด้วยเหตุที่เลือกที่จะสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่ก่อมลพิษ สร้างความขัดแย้ง มีต้นทุนและความเสี่ยงสูง
มี 3 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย แผนพีดีพีฉบับใหม่ที่จะมีขึ้นและแนวโ้น้มการผลิตไฟฟ้าของโลก
1) แม้ว่ารัฐบาลจะรื้อแผนพีดีพีรับแนวโน้มโลก แต่การผลักดันถ่านหินที่กระบี่และเทพายังมีอยู่ต่อไป
คณะทำงานจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า นำเสนอเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า
- ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2579 (ปลายแผนพีดีพี2015) ลดลงกว่า 2 หมื่นล้านหน่วย
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประเมินว่า GDP เฉลี่ย ช่วงปี 2560-2579 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.78 ลดลงจากสมมุติฐานในแผนพีดีพี2015 ที่คาดว่า GDP จะเติบโต ร้อยละ 4-5
- ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ที่ 54,771 เมกะวัตต์ในปี 2579 (ปลายแผนพีดีพี2015) ลดลงประมาณ 4,500 เมกะวัตต์
- การเติบโตของผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Isolated Power Supply) ทั้งประชาชนและเอกชนโดยเฉพาะ โซลาร์รูฟท็อปเพิ่มจาก 3,300 เมกะวัตต์หรือ 24,000 ล้านหน่วยในปี 2560 เป็น 5,277 เมกะวัตต์หรือ 44,412 ล้านหน่วยในปี 2579
- คาดว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ 3 โครงการคือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 1.2 ล้านคัน และโครงการรถไฟความเร็วสูง รวมกันจะทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3,033 เมกะวัตต์หรือ 9,872 ล้านหน่วยในปี 2579 แต่ไม่ได้ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้า ของประเทศสูงขึ้นมากนัก เพราะมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
อย่างไรก็ตาม กระบวนการปรับปรุงแผนพีดีพีฉบับใหม่ ยังคงนำเอาประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้า ในภาคใต้ที่ล่าช้า ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจังหวัดสงขลา มาพิจารณาด้วย โดยอ้างว่าเพื่อวางแผนการสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคตให้สอดรับกับความต้องการ ใช้ไฟฟ้าตามแผนพีดีพีฉบับใหม่ต่อไป ในภาพแสดงถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภายใต้แผนพีดีพี 2015 (2558-2579) ส่วนที่ไฮไลท์เป็นสีแดงคือโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จากการคัดค้าน/ไม่ยอมรับของชุมชน
2) การผลิตไฟฟ้าของไทยจะเข้า “แนวโน้มโลก” ไม่เกินปี 2563 เป็นจุดผลิกผันจากถ่านหินสกปรก สู่ระบบ พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด
การวิเคราะห์ของ Bloomberg New Energy Finance ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยไฟฟ้าปรับเฉลี่ยที่ ผลิตได้จากระบบโซล่าร์เซลล์ (ในระดับ utility scale) จะเท่ากับหรือถูกกว่าถ่านหินไม่เกินปี 2563 Bloomberg ระบุว่าในช่วง 25 ปีข้างหน้า ในจำนวนมูลค่าการลงทุนใหม่ในภาคพลังงานของไทยประมาณ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 48 จะเป็นการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์และลม แผนที่ที่ตีพิมพ์ล่าสุดโดย Bloomberg ชี้ให้เห็นว่าต้นทุนของเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย จะลดลงอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2583
จุดผลิกผันไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดของประเทศไทยนั้นขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการวางแผนพีดีพีนั้นเปิดกว้างเพียงใด แนวทางการจัดทำแผนพีดีพีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการสร้างแบบจำลอง การพินิจอนาคต (Scenario)ในแบบเดียวโดยอาจเพิ่มความเป็นไปได้อีกสองทางคือการเติบโต ทางเศรษฐกิจ “สูง” และ “ตำ่” โดยที่ไม่มีการพิจารณาความไม่แน่นอนหรือปัจจัยความเสี่ยงอย่างอื่นเลย การปฏิรูปกระบวนการวางแผนไฟฟ้าแบบ Integrated resource planning ที่ผลักดันโดยสาธารณชนมาโดยตลอดจำต้องนำตัวแปรหรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มาผสมผสานให้มีแบบจำลองการพินิจอนาคต (Scenario) หลากหลายแบบให้มากที่สุด จากนั้นต้องมีกระบวนการสาธารณะเพื่อให้สังคมเลือกแผนที่มีต้นทุนต่ำสุดภายใต้ระดับความเสี่ยงต่างๆ ที่พอรับได้
แม้ว่าข้อเรียกร้องของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเน้นไปยังกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพรายโครงการ แต่ถ้าหากประชาสังคมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในกระบวนการพิจารณาและจัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าซึ่งนำไปสู่การกำหนดอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นธรรมอย่างแท้จริง เชื่อเหลือเกินว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งกระทำโดยรัฐก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงและหาทางออกที่ดีร่วมกันได้
3) โบกมือลาถ่านหิน เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส
มีการโบกมือลาถ่านหินทั่วโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นี่คือแนวโน้มโลกในภาคการผลิตไฟฟ้า ในบางประเทศ ธุรกิจถ่านหินกลายเป็นสินทรัพย์ที่กลายเป็นภาระผูกพัน (Stranded Assets) และแน่นอน การต่อสู้ที่เทพา กระบี่และพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นในสูญญากาศ มีผู้คนทั่วโลกที่ร่วมต่อสู้ ยืนหยัดเพื่อยุติถ่านหินมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ข้อมูลที่รวบรวมโดย Global Coal Plant Tracker เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เมื่อวัดจากกำลังผลิตติดตั้ง (หน่วยเมกะวัตต์)น้อยกว่า ดังนั้น แทนที่จะมองความมั่นคงทางพลังงาน ในมุมมองที่คับแคบว่าเราจำเป็นจะต้องแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านโดยสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้มากขึ้น นี่คือโอกาสที่จะโบกมือลาถ่านหินสกปรก และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเต็มร้อยซึ่งยั่งยืนและเป็นธรรม ผลประโยชน์ร่วมกัน (co-benefits) ทั้งสังคมคือการออกแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มุ่งไปสู่อนาคตข้างหน้าอย่างมีอารยะ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมถึงเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยกซึ่งมุ่งมั่นที่จะลดความรุนแรงทุกรูปแบบ พร้อมทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางสังคมก็จะอยู่ไม่ไกล