คำกล่าวเปิดงาน Right to Clean Air – The Art Exhibition

คุณฉัตรชัย พรหมทัตตะเวที ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พ่อแม่พี่น้องจากตำบลมะเกลือเมืองนครสวรรค์ ท่านผู้มีเกียรติ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อมวลชนทุกท่าน

คำถามสองคำถามผุดขี้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เมื่อเราพูดถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กมากๆ ชนิดที่เรียกว่าตาเปล่ามองไม่เห็น คือ เราจะรู้และทำให้คนเข้าใจได้อย่างไร คำตอบก็คือ เราต้องเข้าไปสังเกตในระยะใกล้มากๆ ซึ่งมักทำได้โดยใช้เครื่องมือวัดที่ละเอียดมากๆ หรือไม่ เราก็ต้องออกไปไกลให้มากพอที่จะเห็นภาพรวมทั้งหมด จากชานเมืองมองเข้ามาในเมือง จากที่สูงมองลงมาในเมือง/ในเขตอุตสาหกรรม ในวันที่อากาศแย่ๆ เราจะเห็นฝุ่นควัน smog ซึ่งมี PM2.5 เป็นส่วนประกอบสำคัญ

ในยุคที่การสำรวจระยะไกลพัฒนาไปอย่างไร้เทียมทาน มนุษย์ได้มีโอกาสเห็นขอบเขต ความเข้มข้น การกระจายตัวของมลพิษทางอากาศจากภาพถ่ายดาวเทียมที่โคจรรอบโลก ข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ประมวลมาเป็นกราฟฟิกและก่อรูปมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายกลายมาเป็นกฏเกณฑ์ ข้อบังคับและกฏหมายเพื่อต่อกรกับวิกฤตมลพิษทางอากาศในประเทศต่างๆ

เราตอบคำถามแรกได้ไม่ยากนัก แต่คำถามอีกหนึ่งชุด มีความท้าทายอย่างยิ่ง กล่าวคือ เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจ ผลสะเทือนที่เกิดจากความมุ่งมั่นของผู้คนจำนวนมากเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่เราต้องการ ในที่นี้คือ อากาศที่ดี ได้อย่างไร

แม้ว่าข้อมูล หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วย PM2.5 จะชัดเจนเพิ่มมากขึ้น รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงผู้ก่อมลพิษเองจะตอบรับกับกระแส “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ค่อยจะเต็มใจนัก และสุดท้ายก็จะพูดว่า เราต้องเอาบรรยากาศการลงทุนเป็นตัวตั้ง เราแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน ยังไม่ต้องไปนึกถึงคนที่ต้องอาศัยในพื้นที่ที่ปนเปื้อนมลพิษและสูดหายใจเข้าไปทุกวัน สิ่งที่เป็นอยู่คือการปล่อยมลพิษที่ถูกกฎหมาย(legalized pollution)

Right to Clean Air – the Art Exhibition ครั้งนี้นำเสนอเรื่องราวผ่านงานศิลปะโดยคุณโจ้ เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล กรีนพีซขอขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับการอุทิศตนเพื่อเปิดให้เราได้ “สนทนากับสังคม” อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ขอบคุณหอศิลปะวัฒนธรรมแห่ง กทม. แรงงานแห่งความรักของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของกรีนพีซที่ทำงานกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้พวกเราตอบคำถามที่สองว่าด้วยการสร้างความเปลี่ยนแปลงชุดความคิดของผู้คนในสังคมอันท้าทายยิ่ง

มีคำกล่าวที่ว่า ตลอดห้วงระยะเวลาประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานในสังคมมิได้มาจากคำสั่ง/อำนาจของรัฐบาล และผลของการสู้รบ หากมาจากผู้คนทั้งหลายเปลี่ยนแปลงความคิดตนเอง บางครั้ง แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม

เราก็เชื่อมั่นเช่นนั้น