ธารา บัวคำศรี เรียบเรียงจาก http://time.com/5473618/france-yellow-vests-climate-macron/
…คนทั่วโลกต้องการให้ผู้นำทั้งหลายแสดงภาวะผู้นำในคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เราต่างเผชิญผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ประธานาธิบดีมาครองนั้นพลาดที่ทึกทักไปว่า การกอบกู้วิกฤติสภาพภูมิอากาศนั้นต้องทำให้โลกกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง จริงๆ แล้ว มันคือการให้ประชาชนมาก่อนและทำให้สิทธิมนุษยชนนั้นยิ่งใหญ่ด้วย…
-คูมิ ไนดู : เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากล-
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครองเป็นจุดสนใจระดับโลกในขณะที่เขาเตรียมเวที “One Planet Summit” การประชุมสุดยอดที่ให้คำมั่นว่าจะทำให้โลกของเรากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง(Make Our Planet Great Again)โดยลงมือปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนึ่งปีผ่านไป สิ่งต่างๆ ดูเปลี่ยนแปลงไปมาก ฝรั่งเศสกำลังซวนเซจากการประท้วง อันเป็นของความพยายามโดย ปธน มาครองในการเพิ่มภาษีสิ่งแวดล้อมของน้ำมันเชื้อเพลิงอันเป็นส่วนหนึ่งของวาระการปฎิรูปทางเศรษฐกิจในภาพรวม
บทความ “การประท้วงการขึ้นภาษีน้ำมันของขบวนการเคลื่อนไหวเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสถูกตีความให้เป็นทางเลือกที่ผิดระหว่างการปกป้องสภาพภูมิอากาศและผู้คน” คูมิ ไนดู เลขาธิการคนปัจจุบันขององค์กรนิรโทษกรรมสากลและนักกิจกรรมปกป้องสิทธิมนุษยชน วิเคราะห์เหตุการณ์ลุกฮือที่ขยายวงกว้างไปสู่นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า การปกป้องดูแลวิถีชีวิตของผู้คน เอื้อให้คนทั้งหลายดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และการกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ แท้ที่จริงแล้วคือเรื่องเดียวกันและเป็นการต่อสู้เดียวกัน
คูมิมองว่า หากตีความความตกลงปารีส(Paris Agreement) ให้ลึกลงไป ความตกลงปารีสรับรู้ถึงความจำเป็นในการผนวกการปกป้องสิ่งแวดล้อมโดยการส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ว่าจะเป็น งาน มาตรฐานในการดำรงชีวิตและสุขภาพ
ประธานาธิบดีทรัมป์เหมือนกับผู้มีความกังขาเรื่องโลกร้อนหลายๆคน ที่ชอบวางกรอบวิวาทะว่าเราจำเป็นต้องเลือกระหว่างการแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อนกับการดูแลคนและการจ้างงาน สำหรับ คูมิ ไนดู ให้ความเห็นว่า มันจะเป็นความผิดพลาดของขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมหากไปอยู่ในเกมการเล่นของทรัมป์และไปตอบโต้ว่า เป็นเรื่องจำเป็นในการต่อกรกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะต้องให้คนเผชิญกับปัญหาความยากลำบากของชีวิตในระยะเฉพาะหน้าอันเนื่องมาจากมาตรการช่วงเปลี่ยนผ่าน
คูมิเสนอว่า รัฐบาลฝรั่งเศสต้องวางนโยบายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นำไปสู่การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม แทนที่จะทำให้ช่องว่างนั้นขยายกว้างออกไป รวมถึงนโยบายการอุดหนุนทางการเงินที่เอื้อให้ประชาชนหันไปสู่ทางเลือกพลังงานที่สะอาดแทนวิธีการลงโทษหากประชาชนล้มเหลวที่จะทำเช่นนั้น นั่นหมายถึงภาระรับผิดชอบจะต้องเป็นของบรรษัทอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล แทนที่จะเป็นภาระของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ
นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development – WSSD) ที่โยฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ ปี 2545 ทวิลักษณ์ของสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เผยโฉมหน้าอย่างชัดเจน แม้ว่าการประชุมสุดยอดของโลกจะประสบผลในแง่การเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันขึ้นจำนวนหนึ่งหากแต่ปราศจากรูปธรรมที่จับต้องได้ ที่สำคัญ เศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ก่อผลสะเทือนอย่างมากในทุกส่วนย่อยของสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจแบบขูดรีดยังคงแพร่กระจายไปทั่วโลก
ภายใต้วาทกรรม “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เรายังคงเห็นการแยกตัวระหว่างวิกฤตของระบบนิเวศและวิกฤตของความเป็นธรรม จนถึงปัจจุบัน เรายังเผชิญกับความท้าทายในการผนวกประเด็นสิ่งแวดล้อมและประเด็นการพัฒนาเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายไปพ้นจากทางสองแพร่งที่ต้องเลือกระหว่างการพัฒนาที่ก่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมหรือการมุ่งแต่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแต่ละเลยความเป็นธรรม