ในขณะที่ตอนบนของประเทศมีความกดอากาศสูงแผ่ปกคลุมทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงทุบสถิติ ภาคใต้ของไทยกำลังรับมือกับพายุหมุนเขตร้อนลูกแรกแห่งปี พ.ศ.2562ที่มีนามว่า “ปาบึก (Pabuk)”

ปาบึก เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ ปลายเดือนธันวาคม 2561 ต่อมากลายเป็นพายุดีเปรสชั่น และวันที่ 1 มกราคม 2562 กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นปรับความรุนแรงของพายุดีเปรสชันเขตร้อนเป็นพายุโซนร้อนและใช้ชื่อว่า ปาบึก (Pabuk) การปรับดังกล่าวทำให้ปาบึก กลายเป็นพายุลูกแรกของฤดูกาล 2562 ถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวเป็นพายุโซนร้อนได้เร็วที่สุดในแอ่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ

วันที่ 3 มกราคม เวลา 17:00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยออกประกาศเกี่ยวกับพายุโซนร้อน ปาบึก ฉบับที่ 13 โดยคาดว่าพายุโซนร้อนปาบึกจะเคลื่อนตัวลงสู่อ่าวไทยในวันที่ 3 มกราคม และจะส่งผลกระทบกับภาคใต้ในวันที่ 3–5 มกราคม และคาดว่าพายุจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่ง บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในช่วงค่ำของวันที่ 4 มกราคมนี้

นอกเหนือจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา แบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังได้ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่พายุปาบึกจะมีความเร็วลมเพิ่มขึ้นเป็น 90-95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่าพายุโซนร้อนแฮเรียตที่เข้าแหลมตะลุมพุกในปี 2505 ที่มีความเร็วลม 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งความเร็วลมดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคได้

จากฐานข้อมูลที่ได้บันทึกไว้ในรอบ 68 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2494-2561)ในประเทศไทย ไม่เคยมีพายุหมุนเขตร้อน (cyclone) เคลื่อนผ่านประเทศไทยในเดือนมกราคม พายุโซนร้อนปาบึก (Pabuk) ได้สร้างประวัติการณ์

พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนผ่านไทยมีความถี่ลดลง แต่พายุหมุนในระดับที่รุนแรงกว่าเพิ่มจำนวนขึ้น

จากฐานข้อมูลที่ได้บันทึกไว้ในรอบ 64 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2494-2557) พบว่าความถี่ของพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยการลดลงของกิจกรรมของพายุหมุนเขตร้อนในภาพรวมดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อปริมาณ ฝนและภาวะแห้งแล้งในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย 2559 มีข้อสังเกตว่า เมื่อพิจารณาในรายละเอียด จำนวนพายุหมุนเขตร้อนในระดับที่รุนแรงกว่าพายุดีเปรสชั่นเขตร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมดในรอบทุกๆ 10 ปี กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทยต่อเหตุการณ์สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศทั้งจากเหตุการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งสลับกับการเกิดภาวะความแห้งแล้งที่ยาวนานขึ้น

กราฟแสดงความถี่ของพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยระหว่างปี ค.ศ.1951-2014 (พ.ศ.2494 – 2557) กรอบภาพเล็กแสดงจํานวนพายุหมุนเขตร้อนที่มีขนาดสูงกว่าพายุดีเปรสชั่นเขตร้อนทั้งหมด ในคาบเวลาทุกๆ 10 ปี (ค.ศ.1951-1960 1961-1970 1971-1980 1981-1990 1991-2000 และ 2001-2010 (ที่มา:https://www.trf.or.th/div3download/files/TARC2.pdf, หน้า 35)

ตารางแสดงพายุหมุนเขตร้อนท่ีมีระดับความเร็วลมสูงกว่าพายุดีเปรสชั่นเขตร้อน ท่ีเคลื่อนตัวผ่านและขึ้นฝั่งในประเทศไทยระหวางปี ค.ศ.1951 – 2010 (พ.ศ.2494 – 2553)  (ท่ีมา :https://www.trf.or.th/div3download/files/TARC2.pdf, หน้า  36)

การรับมือกับภัยพิบัติท่ามกลางสภาวะสุดขีดของลมฟ้าอากาศ

ปัจจุบัน เรามีเครื่องมือทันสมัยในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อรับมือจากภัยพิบัติตลอดจนปฏิบัติการกู้ภัยและความช่วยเหลือ ทางการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหลายทั้งปวง

ในกรณีของการรับมือเพื่อลดผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก อย่างน้อยเกือบทุก จังหวัดทางภาคใต้มีการตั้งจุดอพยพหลายร้อยจุดเพื่อรองรับผู้คนจากพื้นที่เสี่ยงจากคลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) โรงเรียนหลายแห่งปิดการเรียนการสอน หน่วยงานด้านพลังงานเตรียมแผนสำรองเพื่อมิให้การบริการด้านพลังงานและไฟฟ้าต้องหยุดชะงัก การปรับเปลี่ยนบริการของเรือโดยสารและสายการบิน การประกาศปิดพื้นที่ท่องเที่ยว และการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤตขึ้น ฯลฯ

แต่กระบวนการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันและความไม่เสมอภาคกันในมิติต่างๆ ส่งผลให้ความล่อแหลมและการเปิดรับกับสิ่งที่เป็นอันตราย (Hazard) ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะสุดขีดของลมฟ้าอากาศมีลักษณะที่แตกต่างกันในหลายบริบท โดยกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในด้านต่างๆ เป็นกลุ่มที่มีความล่อแหลมสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ภัยพิบัติจากสภาวะสุดขีดของลมฟ้าอากาศยังเพิ่มความรุนแรงให้กับแรงกดดันอื่นๆ ซึ่งส่งผลทางลบต่อการดำรงชีวิตด้านต่างๆ ของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบที่ยากจน

ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้มีพื้นที่ปลอดภัยแก่ผู้คน การพัฒนาเศรษฐกิจแบบกระจายศูนย์ ยั่งยืน เป็นธรรม ยืดหยุ่นและฟื้นตัวจากแรงกดดันภายนอก และเอื้อให้มนุษย์ผูกพันกับธรรมชาติโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ เครื่องมือเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติจากสภาวะสุดขีดของลมฟ้าอากาศที่ยอดเยี่ยมที่สุด