ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก https://earthobservatory.nasa.gov/images/144510/2018-was-the-fourth-warmest-year-continuing-long-warming-trend

อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในปี พ.ศ.2561ร้อนที่สุดเป็นอันดับสี่นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2423 เป็นต้นมา จากผลการวิเคราะห์ที่เป็นอิสระโดยองค์การนาซาและองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ(NOAA).
นักวิทยาศาสตร์จาก Goddard Institute for Space Studies (GISS) ของนาซา ระบุว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในปี พ.ศ.2561 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 0.83 องศาเซลเซียส(1.5 องศาฟาเรนไฮท์) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในปี พ.ศ.2494 และ 2523 อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในปี พ.ศ.2561 ตามหลังปี พ.ศ. 2559, 2560, และ 2558. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงปีที่ร้อนที่สุดตามที่มีการบันทึกเก็บข้อมูลในยุคสมัยใหม่ และในจำนวนปีที่ร้อนที่สุด 19 ปี มีจำนวน 18 ปีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543
Gavin Schmidt ผู้อำนวยการ GISS กล่าวว่า “ปี พ.ศ.2561 เป็นปีที่ร้อนอย่างยิ่งอีกปีหนึ่งตามแนวโน้มระยะยาวของภาวะโลกร้อน” นับตั้งแต่ทศวรรษ 1880s อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส การเพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศเพิ่มมากขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์
แผนที่ด้านบนแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในปี พ.ศ.2561 ไม่ได้เป็นการแสดงอุณหภูมิสัมบูรณ์ แต่เป็นการแสดงว่าภูมิภาคใดร้อนขึ้นหรือเย็นลงเทียบกับค่าเฉลี่ยปีฐานระหว่างปี ค.ศ.1951-1980

ภาพแอนนิเมชั่นนี้แสดงวัฐจักรฤดูกาลของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิผิวโลกในทุกๆ เดือนนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1880 แต่ละเส้นแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนของโลกต่ำหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี ค.ศ.1980-2015 คอลัมน์ด้านขวาแสดงรายการแต่ละปีเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกทำสถิติใหม่ ค่าความแตกต่างในแต่ละฤดูกาลได้มาจากแบบจำลอง MERRA-2(the Modern-Era Retrospective analysis for Research and Applications, version 2) ที่ดำเนินการโดยสำนักงานแบบจำลองโลกของนาซา
พลวัตรของสภาพอากาศมักส่งผลต่ออุณหภูมิในระดับภูมิภาค ดังนั้น ทุกๆ ส่วนของโลกจะไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นของความร้อนในแบบเดียวกัน เช่น NOAA พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยรายปีในปี ค.ศ.2018 สำหรับพื้นที่ 48 รัฐของสหรัฐอเมริกานั้นร้อนขึ้นเป็นอันดับที่ 14
แนวโน้มของภาวะโลกร้อนจะมีมากที่สุดในเขตขั้วโลก โดยในปี พ.ศ.2561 เราได้เห็นการสูญเสียทะเลน้ำแข็งเพิ่มขึ้นอีก ภาวะโลกร้อนยังเร่งให้เกิดการสูญเสียมวลของพืดน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นยังนำไปสู่ฤดูกาลแห่งไฟที่ยาวนานขึ้นและเร่งให้เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วทบทวีขึ้น
Gavin Schmidt ผู้อำนวยการ GISS กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราสามารถรับรู้ถึงผลกระทบของแนวโน้มระยะยาวของภาวะโลกร้อนแล้ว ดังจะเห็นได้จาก อุทกภัยตามแนวชายฝั่ง คลื่นความร้อน การตกของฝนที่รุนแรงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ NOAA ใช้ข้อมูลดิบแบบเดียวกันกับที่ใช้โดยนาซา แต่เป็นช่วงปีฐานที่แตกต่างกันและมีการคาดการณ์ที่แตกต่างกันในเขตขั้วโลกและภูมิภาคที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ การวิเคราะห์ของ NOAA พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในปี พ.ศ.2561 เพิ่มขึ้น 0.79 องศาเซลเซียส(หรือ 1.42 องศาฟาเรนไฮต์) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงศตวรรษที่ 20

กราฟเส้นด้านบนแสดงการเบี่ยงเบนของอุณหภูมิรายปี ระหว่าง ค.ศ.1880 ถึง ค.ศ.2018 (โดยอ้างอิงค่าเฉลี่ยระหว่างปี ค.ศ.1951-1980) ที่บันทึกโดยนาซา NOAA กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น ทีมวิจัยของ Berkeley Earth และสำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างในแต่ละปี การบันทึกข้อมูลของ 5 สำนักนี้แสดงถึงการขึ้นลงของอุณหภูมิที่สอดคล้องกัน ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงภาวะโลกร้อนที่เร่งขึ้นในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาและระบุตรงกันว่าทศวรรษล่าสุดนั้นร้อนที่สุด
การวิเคราะห์ของนาซารวมเอาการวัดอุณหภูมิพื้นผิวโลกจากสถานีตรวจวัดอากาศ เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิผิวทะเลจากทุ่นในทะเลและเรือ ตลอดจนสถานวิจัยที่แอนตาร์กติกรวม 6,300 จุด ข้อมูลนำไปวิเคราะห์โดยใช้อัลกอริทึมที่พิจารณาความแตกต่างของสถานีตรวจวัดอุณหภูมิทั่วโลก ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมืองที่อาจส่งผลต่อข้อสรุปจากการวิเคราะห์ การคำนวณเหล่านี้ออกมาเป็นความแตกต่างของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกโดยเทียบปีฐาน ค.ศ.1951-1980
เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งและแนวปฏิบัติในการตรวจวัดของสถานีแต่ละแห่งเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา จึงมีความไม่แน่นอนในการแปรผลความแตกต่างของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกแบบปีต่อปี ด้วยเหตุนี้ นาซาประมาณว่า การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจะอยู่ที่ประมาณ 0.1 องศาฟาเรนไฮต์ ภายในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95
ชุดข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัยในรายละเอียดค้นหาเพิ่มเติมได้ ที่นี่
NASA Earth Observatory images by Joshua Stevens, based on data from the NASA Goddard Institute for Space Studies, and additional data from the NOAA National Centers for Environmental Information, Met Office Hadley Centre, Japanese Meteorological Agency, and Berkeley Earth. Story by Ellen Gray, NASA Earth Science News Team, and Michael Carlowicz.
แหล่งข้อมูลอ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม
- NASA Goddard Institute for Space Studies (2019) GISS Surface Temperature Analysis (GISTEMP). Accessed February 6, 2019.
- NOAA National Centers for Environmental Information (2019, February 6) Assessing the Global Climate in 2018. Accessed February 6, 2019.
- NOAA (2019, February 6) 2018 was fourth warmest year on record for the globe. Accessed February 6, 2019.
- NASA Earth Observatory (2015) World of Change: Global Temperatures.
- NASA Earth Observatory (2018, October 19) The New UN Climate Report in One Sentence.
- NASA Earth Observatory (2015, January 21) Why So Many Global Temperature Records?
- NASA Earth Observatory (2010, June 3) Global Warming.