
สินค้าโภคภัณฑ์ หรือ commodity product เป็นลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่มีความแตกต่างของสินค้า เช่น ข้าวที่เราส่งเป็นสินค้าออก ปิโตรเลียมและถ่านหินที่เรานำเข้า เป็นต้น
หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง อิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อระบบนิเวศทางทะเล/มหาสมุทรที่เราพึ่งพาอาศัย เราเข้าไปเปลี่ยนทรัพยากรทางทะเลจนกระทั่งถึงจุดวิกฤต มิใช่วิกฤตเพียงจุดใดจุดหนึ่งแต่ทั่วทั้งพิภพโลก
ผู้เขียนหนังสือสามคนคือ Stefano B. Longo, Rebecca Clausen และ Brett Clark เป็นนักสังคมวิทยาได้ทำการสำรวจบทบาทของมนุษย์ต่อวิกฤตดังกล่าว และหยิบยกพลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นใจกลางของความท้าทายทางนิเวศวิทยาและวิกฤตที่คืบคลานเข้ามานี้
ชื่อหนังสือเล่มนี้คล้ายๆกับทฤษฎีคลาสสิก “โศกนาฏกรรมของส่วนรวม-the tragedy of the commons” ที่เขียนโดย Garrett Hardin นักนิเวศวิทยา แต่ผู้เขียนทั้งสามไปไกลกว่า Hardin ที่เป็นการอธิบายแบบพื้นๆ เช่น ผลประโยชน์ส่วนตัวที่ไม่มีขีดจำกัดหรือเรื่องการเติบโตของประชากร
The Tragedy of Commodity แย้งว่า มันเป็นเพราะกระบวนการทำให้กลายเป็นสินค้า (commodification) ของทรัพยากรทางทะเลนั่นแหละที่นำไปสู่การหร่อยหรอลงของการประมงและการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง/บนฝั่งที่อ้างว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผู้เขียนยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากๆ – ประวัติศาสตร์พันปีของการทำประมงปลาทูน่าครีบฟ้า(Bluefin Tuna) ในแถบทะเลเมติเตอร์เรเนียน และการประมงปลาแซลมอนแปซิฟิก
Longo, Clausen และ Clark อธิบายว่า เทคโนโลยีการประมงแบบใหม่ การปรับเปลี่ยนเรือประมง และขนาดของห้องเย็น และการขยายตัวของตลาดอาหารทะเล ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางทะเลอย่างถอนรากถอนโคนและถาวรได้อย่างไร
การอธิบายของพวกเขาได้เน้นให้เห็นบทบาทของการจัดองค์กรที่มีความเฉพาะเจาะจงและของการผลิตทางสังคมที่มีส่วนสำคัญต่อความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางทะเลและเพิ่มแรงกดดันให้กับมหาสมุทร