ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปริมาณวัสดุเหลือใช้ที่ถูกทิ้งในประเทศอุตสาหกรรม[i] มีจำนวนมากจนเข้าขั้นวิกฤต ประชากรที่เพิ่มมากขึ้น[ii]การย้ายถิ่น ลัทธิบริโภคนิยมที่ขยายตัวไปทั่วโลก และการเกิดขึ้นอย่างมากมายของบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ประเภท ‘ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง’เหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุทั้งสิ้น หลุมฝังกลบซึ่งโดยทั่วไปไม่มีอะไรมากไปกว่ากองทิ้งไว้เฉย ๆ กำลังจะเต็ม และการคัดค้านของประชาชนที่ขยายวงกว้างมากขึ้น กลายเป็นข้อจำกัดของการก่อสร้างหลุมฝังกลบแห่งใหม่
เพื่อหาทางออกให้กับปัญหานี้ หลายประเทศหันไปพึ่งพาภาคเอกชน อ้าแขนรับแนวทางการจัดการโดยใช้เทคโนโลยี และถอยหลังกลับไปใช้เทคนิคดั้งเดิมคือการเผาขยะ อย่างไรก็ตาม โรงงานเผาขยะไม่ว่าจะสร้างที่ไหนก็ตาม มีข้อเสียอยู่หลายประการ ดังต่อไปนี้ :
- ก่อให้เกิดมลพิษ
- ทำลายสุขภาพของประชาชน
- สร้างภาระทางการเงินก้อนใหญ่ให้กับชุมชนเจ้าของพื้นที่
- ทำให้ชุมชนสูญเสียทรัพยากรทางการเงิน
- สูญเสียพลังงานและวัสดุ
- เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
- เป็นบ่อนทำลายการจัดการวัสดุเหลือใช้ในแนวทางที่เหมาะสมและแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดของเสีย
- เกิดปัญหาในประเทศอุตสาหกรรมเป็นผลให้โรงงานเผาขยะชะลอตัวลงหรือยุติไป
- ปลดปล่อยมลพิษอากาศเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้บ่อยครั้ง
- มีการจัดการเถ้าที่ไม่ถูกต้อง
- นำไปสู่ภาวะล้มละลายทางการเงิน เนื่องจากขาดแคลนของเสียที่นำมาเป็นเชื้อเพลิง
- เพิ่มค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้เสียภาษี
เป็นที่คาดหมายได้ว่า เทคโนโลยีการเผาขยะซึ่งถูกออกแบบเพื่อเผาวัสดุเหลือใช้ในประเทศอุตสาหกรรมจะมีประสิทธิภาพการทำงานต่ำกว่าเมื่อนำมาใช้ในประเทศกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะของวัสดุเหลือใช้มีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ประเทศกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยังมีหน่วยงานที่รับผิดชอบและโครงสร้างกฎหมายที่ใช้ควบคุมไม่เพียงพอ ขาดงบประมาณในการซื้อชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำรอง ขาดคนงานที่มีทักษะ และมีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงแรงงาน
มักมีข้อเสนอว่า โครงการก่อสร้างโรงงานเผาขยะซึ่งมาพร้อมกับโครงการรวมศูนย์การจัดการของเสียและแปรรูปให้เป็นเอกชน เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะรับมือกับปริมาณวัสดุเหลือใช้ที่กำลังเพิ่มขึ้น แต่โชคดีที่ยังมีทางเลือกอื่นอยู่ แท้จริงแล้ว ทางเลือกที่ไม่ใช้การเผานี้สามารถทำได้กว้างขวาง รองรับวัสดุเหลือใช้จากเมืองขนาดใหญ่ได้ และสามารถทำในประเทศกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรมโดยใช้ทรัพยากรเพียงน้อยนิดเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นทางเลือกเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายเพียงเศษเสี้ยวของค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้กับโรงงานเผาขยะ อีกทั้งยังมีการจ้างงานมากกว่า และก่อให้เกิดปัญหามลพิษน้อยมาก ในประเทศกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โครงการคัดแยกวัสดุเหลือใช้ที่จุดกำเนิดเพื่อการรีไซเคิลและการหมักทำปุ๋ย(ในที่ซึ่งมีการแยกวัสดุรีไซเคิลได้และวัสดุอินทรีย์จากบ้านเรือน)มีศักยภาพในการนำวัสดุเหลือใช้จากบ้านเรือนกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากถึงร้อยละ90 ซึ่งเป็นศักยภาพที่โรงงานเผาขยะไม่มีวันทำได้
นิยามของการเผาขยะ
การเผาขยะไม่ได้หมายถึงแค่การเผาระดับโรงงาน (Mass Burn)(โดยจะได้พลังงานกลับคืนมาหรือไม่ก็ตาม) และระบบการผลิตเชื้อเพลิงที่ได้จากขยะซึ่งพัฒนาเป็นอย่างดีในประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมแล้วเท่านั้น หากยังรวมถึงระบบที่ใช้ความร้อนจัดการกับวัสดุเหลือใช้ซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรอย่างสูญเปล่าและก่อมลพิษ โดยรวมถึงเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานมาจากการเผาไหม้ด้วยอากาศ (Combustion) Pyrolysisและการใช้ก๊าซเพื่อเผาไหม้ (Thermal Gasification)ทั้งระบบPyrolysis และระบบที่ใช้ก๊าซเพื่อเผาไหม้ มีลักษณะเดียวกับการเผาไหม้ด้วยอากาศ กล่าวคือทำให้เกิดสารไดอ็อกซีน ฟูรานและมลพิษคงทนอย่างอื่น ๆ
กล่าวโดยย่อแล้ว การเผาไหม้ด้วยอากาศ คือการเผาโดยใช้ออกซิเจนในอากาศ การเผาไหม้สารไฮโดรคาร์บอนทำให้เกิดความร้อน แสง น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ ขี้เถ้าเป็นส่วนผสมของสารซึ่งหลงเหลือจากการเผาไหม้รวมกับธาตุของแข็งใหม่ที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เทคโนโลยีการเผาไหม้ขยะแข็งที่พบกันมากที่สุดได้แก่
- โรงงานเผาขยะ (Mass Burn) ซึ่งเป็นการเผาไหม้ขยะโดยตรง โดยทั่วไปความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้จะถูกใช้เพื่อต้มน้ำให้เดือดเป็นไอเพื่อปั่นกังหันผลิตไฟฟ้า
- ระบบเชื้อเพลิงที่ได้จากขยะ (Refuse-derived fuel: RDF) จะประกอบด้วยขั้นตอนการบำบัดขยะรวมก่อนการเผาไหม้ กระบวนการก่อนการเผาไหม้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละโรงงาน แต่โดยปกติมักประกอบด้วยการหั่นและการคัดแยกโลหะหรือวัสดุซึ่งให้ค่าความร้อนต่ำออกไป จากนั้นจะนำวัสดุซึ่งคัดแยกแล้วมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในลักษณะเดียวกับโรงงานเผาขยะแบบที่หนึ่ง หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานแบบอื่น เช่น เตาเผาซีเมนต์
- Pyrolysis เป็นการใช้ความร้อนเพื่อย่อยสลายวัตถุโดยปราศจากออกซิเจนหรือมีออกซิเจนในปริมาณจำกัด ในโรงงานPyrolysisวัสดุจะถูกให้ความร้อนจนมีอุณหภูมิสูงถึงประมาณ 800-1400ฟาเรนไฮน์ (427-760เซลเซียส) การไม่ปล่อยออกซิเจนเข้าไปก็เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเผาไหม้ (combustion) อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้ออกซิเจนเข้าไปในระหว่างการเผาไหม้เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย การรวมตัวกับออกซิเจนในอากาศอาจเกิดขึ้นและส่งผลให้เกิดสารไดอ็อกซีนและสารประกอบอันตรายอย่างอื่น ๆ Pyrolysisทำให้เกิดผลลัพธ์สามอย่างคือ ก๊าซ น้ำมันเชื้อเพลิงและกากของแข็ง ซึ่งเรียกว่า “char” (ซึ่งมักประกอบด้วยโลหะหนัก)
- การใช้ก๊าซเพื่อเผาไหม้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีการPyrolysisเว้นแต่ว่าการใช้ความร้อนเพื่อเผาขยะแข็งทำขึ้นในระบบที่มีออกซิเจนหรืออากาศจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดก๊าซซึ่งเผาไหม้ได้ (combustible gas)ก๊าซชนิดนี้อาจใช้กับหม้อต้มหรือเครื่องปั่นไฟที่ใช้อากาศ สิ่งที่หลงเหลือจากระบวนการนี้จะเป็นทั้งของแข็งและของเหลวซึ่งอาจประกอบด้วยสารพิษในระดับสูง
คำว่า“วัสดุเหลือใช้” แทนสิ่งที่เรามักจะเรียกว่า “กากของเสีย” วัสดุเหลือใช้หมายถึงวัสดุซึ่งใช้แล้วและสามารถนำมาใช้ใหม่ รีไซเคิล ย่อยสลายหรือนำมาทิ้ง กากของเสียจะเป็นวัสดุซึ่งถูกทิ้งออกจากระบบการค้า (หรือสิ่งแวดล้อม) และกลายเป็นวัสดุหลงเหลือซึ่งสูญเสียคุณค่าไปเพราะถูกทำลายด้วยการเผา การกลบฝังหรือวิธีการอื่น
เชิงอรรถ
[i]บทความนี้ใช้คำว่าประเทศ “กำลังพัฒนาอุตสาหกรรม” หรือประเทศ “พัฒนาอุตสาหกรรมน้อยกว่า” แทนการใช้คำว่าประเทศ “กำลังพัฒนา” หรือประเทศ “ไม่พัฒนา” และใช้คำว่า“ซีกโลกใต้” ในความหมายเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอุตสาหกรรม
[ii] สหประชาชาติรายงานสถิติประชากรในเมืองของภูมิภาคกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก981 ล้านคนเมื่อปี 2523 เป็น 1.9พันล้านในปี 2543 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น2 เท่าภายในปี 2573