การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสหรือโควิด-19 เป็นประเด็นพูดคุยบนโลกออนโลน์อีกครั้งหลังจากที่ดาวเทียมตรวจสอบมลพิษของนาซาหรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (The National Aeronautics and Space Administration:NASA) และอีซาหรือองค์การอวกาศแห่งยุโรป(European Space Agency:ESA) ตรวจพบการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เหนือจีนแผ่นดินใหญ่ ในภาพรวมอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 36

นอกจากการลดลงของมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เป็นคู่หูของฝุ่นพิษ PM2.5 แล้ว การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในจีนก็ลดลงด้วย ศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด ออกมาระบุว่า มาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้ผลิตผล(Output)ทางอุตสาหกรรมทั้งหมดของจีนลดลงร้อยละ 15-40 รวมถึงการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน(โดยเฉพาะในมณฑลกวางตุ้งที่มีอัตราการผลิตต่ำสุด) การผลิตเหล็กและการเดินทางโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ

ผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่ลดลงทำให้การใช้ไฟฟ้าลดลงผลคือปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนหายไปมากกว่า 1 ใน  4 ในช่วง 2 สัปดาห์ที่มีการควบคุมการระบาดของไวรัสในจีน

กราฟแสดงแนวโน้มของการใช้ถ่านหินรายวันในโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นของบริษัทใหญ่ 6 แห่งในจีนเทียบก่อนและหลังจากเทศกาลตรุษจีน ระหว่างปี พ.ศ.2557-2563 เส้นสีแดงแสดงถึงแนวโน้มการใช้ที่ลดลงหลังเทศกาลตรุษจีนอันเนื่องมาจากมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัส

แต่มลพิษทางอากาศยังเพิ่มสูงที่กรุงปักกิ่งในช่วงเวลาเดียวกัน

แม้คุณภาพอากาศหลายพื้นที่ในจีนแผ่นดินใหญ่ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ที่ปักกิ่ง แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่มีผลต่อคุณภาพอากาศของปักกิ่งคืออุตสาหกรรมเหล็กและการทำความร้อนในบ้านเรือน โรงถลุงเหล็กรอบๆ ปักกิ่งยังคงทำการผลิตอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีวัตถุดิบรอป้อนเข้าสู่การผลิตสะสมมากขึ้นทุบสถิติ นอกจากนี้ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ยังเป็นช่วยทำให้มีการไหลเวียนของกระแสลมจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศรอบๆ เข้ามาในตัวเมือง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ลองจินตนาการดูว่า หากไม่มีมาตรการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัส มลพิษทางอากาศของปักกิ่งจะเลวร้ายยิ่งกว่าที่เป็นอยู่

รู้จักไนโตรเจนไดออกไซด์

ไนโตรเจนไดออกไซด์คือสารมลพิษทางอากาศหลัก(creteria pollutants) ที่ประเทศทั่วโลกทำการติดตามตรวจสอบ เป็นหนึ่งในสารตั้งต้น(precursor)ของ PM2.5 โดยเป็นก๊าซสีน้ำตาลแดงที่เกิดจากกระบวนการสันดาปของเครื่องยนต์ รวมถึงกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลสารประกอบหลัก 2 ชนิดที่ปล่อยออกจากกระบวนการดังกล่าวคือ ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) และไนตริกออกไซด์(NO) โดยทั่วไป สารมลพิษสองชนิดนี้เรียกรวมกันว่า ออกไซด์ของไนโตรเจน(NOx)

กรีนพีซใช้ข้อมูลจากเครื่องมือวัด TROPOMI บนดาวเทียม Sentinel 5P ขององค์การอวกาศแห่งยุโรป(The European Space Agency) เพื่อระบุจุดที่มีการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ข้อมูลที่เที่ยงตรงและมีรายละเอียดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศนี้ ทำให้เราเห็นภาพตัวการสำคัญที่ทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายและทำลายสุขภาพประชาชน

ผลกระทบสุขภาพ

ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน(NOx) เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจและความเสียหายต่อปอดหากรับเข้าไปแบบเฉียบพลัน และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรังหากรับเข้าไปในระยะยาว

การรับเอาก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในระยะยาว(Long-term exposure) สัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในสหภาพยุโรป การรับเอา NO2 เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 75,000 คนต่อปี ในจีน มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นโดยระบุว่า ผลจากการสัมผัส NO2 นำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ

ทางออกจากวิกฤตรอบด้าน

แม้ว่าการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในกรณีของจีนเป็นผลมาจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากมาตรการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัส ก็ไม่ได้หมายความว่า เราควรละเลยแนวทางป้องกันมลพิษทางอากาศที่แหล่งกำเนิด  การศึกษาพบว่า ความเข้มข้นของไนโตรเจนไดออกไซด์ในภาพรวมในปี พ.ศ.2563 นั้นต่ำกว่าความเข้มข้นในปี พ.ศ.2562 อันเนื่องมาจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมใหม่ในจีนที่นำมาบังคับใช้ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

จุดที่เป็นแหล่งกำเนิดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ซึ่งส่งผลให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพนั้นเกี่ยวข้องกับการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล – โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโรงงานอุตสาหกรรมและระบบการคมนาคมที่ไม่ยั่งยืน แหล่งกำเนิด(ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์)อื่นๆ ยังรวมถึงระบบเกษตรกรรมและการจัดการป่าไม้ที่ไม่ยั่งยืน ผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการปล่อยมลพิษทางอากาศออกมาจากแหล่งกำเนิดดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นต้องมี “การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน(energy transition)” เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นคือ การผลิตไฟฟ้าจากระบบพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพพลังงาน ระบบการเดินทางและการคมนาคมที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการพึ่งพายานยนต์ส่วนตัวและสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน

กฏเกณฑ์ที่หย่อนยานในการควบคุมและลดการปล่อยมลพิษที่แหล่งกำเนิดสำหรับโรงไฟฟ้านั้นเป็นเหตุผลหลักประการสำคัญของการปล่อยมลพิษทางอากาศในจุดต่างๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด นอกเหนือจากการที่สาธารณะชนต้องเข้าถึงรายงานการวัดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ปลายปล่องแล้ว มีความจำเป็นเร่งด่วนในการทำให้มาตรฐานการปล่อยมลพิษเข้มงวดมากขึ้น

ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล(Diesel Engines) จะปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มากกว่ายานยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซีน(Gasoline vehicles) อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์ดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นที่ใหญ่กว่านั่นคือ เครื่องยนต์สันดาปภายใน(the internal combustion engine) ยานยนต์ส่วนตัวที่ใช้น้ำมันเป็นปัจจัยหลักของสาเหตุมลพิษทางอากาศ ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีแผนการจัดการลดการพึ่งพายานยนต์แบบสันดาปภายใน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง เน้นระบบขนส่งมวลชนหรือระบบร่วมเดินทางที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน