หลังจากเข้ามารับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปในเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา Ursula von der Leyen นักการเมืองชาวเยอรมนียืนกรานที่จะนำเอาประเด็นภาวะฉุกเฉินทางนิเวศวิทยาและสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญของสหภาพยุโรป เธอสัญญาถึง “ข้อตกลงสีเขียวแห่งยุโรป(European Green Deal)” ที่เป็นนโยบายครั้งสำคัญของสหภาพยุโรปและทิศทางใหม่ของเศรษฐกิจยุโรปในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่จะสร้างอัตราการเจริญเติบโตรูปแบบใหม่ รวมทั้งการรับมือกับวิกฤตโลกร้อนและการลดความเหลื่อมล้ำ โดยที่หัวใจสำคัญคือกฏหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(EU Climate Law) ฉบับใหม่

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและจีนมุ่งทำสงครามการค้า สหรัฐอเมริกาเองยังถอนตัวจากความตกลงปารีส ทำให้ชาวยุโรปมีโอกาสมากที่สุดที่จะผลักดันให้ผู้นำทางการเมืองของตนลงมือทำเพื่อกู้วิกฤตโลกร้อนอย่างจริงจังเสียที เพราะสหภาพยุโรปคือหนึ่งในสามมหาอำนาจทางเศรษฐกิจร่วมกับจีนและสหรัฐอเมริกา ยุโรปเองมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 22% บทบาทของยุโรปต่อการกู้วิกฤตนี้จึงสำคัญ

Sebastian Mang ที่ปรึกษานโยบายสหภาพยุโรปของกรีนพีซ วิเคราะห์ว่า สิ่งที่สหภาพยุโรปประกาศว่าจะตอบรับต่อภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในทางการเมือง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว มันยังไม่เพียงพอเมื่อเราพิจารณาถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และขนาดของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญกันอยู่

ในภาพรวม กฏหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป และข้อตกลงสีเขียวแห่งยุโรปล้มเหลวในการต่อกรกับรากเหง้าของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และความเหลื่อมล้ำทางสังคมภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่ขึ้นกับการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติ และเอารัดเอาเปรียบกลุ่มคนที่อ่อนแอกว่า

ความเห็นของกรีนพีซต่อกฏหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป รวมถึง ;

  • กฏหมายดังกล่าวนี้จะเน้นเป้าหมายเพื่อบรรลุ “ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(net-zero emissions)” ภายในปี พ.ศ.2593 ซึ่งมันสายเกินไป เราต้องมีเป้าหมายที่มุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ.2573 รัฐบาลหลายประเทศในสหภาพยุโรปนั้นสนับสนุนเป้าหมายที่จะลดการปล่อย 55% ภายในปี พ.ศ.2573(เทียบกับปีฐาน พ.ศ.2533) แล้ว ถึงกระนั้น ก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส(เทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม)
    • ไม่รวมแผนงานที่จะลด ละ เลิกการอุดหนุนทางการเงินต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เป็นตัวการก่อโลกร้อน เช่น อุตสาหกรรมการบิน สนามบินและเกษตรอุตสาหกรรม
    • ล้มเหลวในการแก้ปัญหาและป้องกันอิทธิพลทางการเมืองและการฟอกเขียวของอุตสาหกรรมฟอสซิล
    • ไม่ได้รับรู้ถึงผลกระทบที่ขยายตัวมากขึ้นของฟาร์มอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 12-17% ในสหภาพยุโรป
    • ล้มเหลวในการลด ละ เลิกยานยนต์ใหม่ที่ใช้น้ำมันดีเซลและเครื่องยนต์สันดาปภายในที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2571 มาตรการเพื่อเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพารถยนต์และเครื่องบินไปสู่ทางเลือกที่ยั่งยืนในการเดินทางควรที่จะผนวกรวมเข้าไปในกฏหมายด้วย
  • หันกลับมามองบ้านเรากันบ้าง ขณะนี้ประเทศไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังเร่งผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งสาธารณะชนน่าจะได้เห็นหน้าตาภายในช่วงปลายปี พ.ศ.2563 นี้ คุณคิดว่าอย่างไร?

    อ่านเพิ่มเติมเรื่องกฏหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป https://www.greenpeace.org/international/story/28975/people-power-eu-climate-law-work-european-green-new-deal/ และ ข้อตกลงสีเขียวแห่งยุโรป(European Green Deal) https://www.greenpeace.org/eu-unit/issues/climate-energy/2517/european-green-deal-misses-the-mark/