โลกร้อนขึ้น อุณหภูมิที่อ่านจากเทอร์โมมิเตอร์ทั่วโลกมีระดับเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม สาเหตุมาจากทั้งกิจกรรมของมนุษย์และการแปรเปลี่ยนทางธรรมชาติผสมกัน ด้วยหลักฐานที่มีความสำคัญมากขึ้น ระบุว่าสาเหตุของการเพิ่มเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นหลัก

จากการวิเคราะห์อุณหภูมิอย่างต่อเนื่องโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ NASA’s Goddard Institute for Space Studies (GISS) อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 องศาเซลเซียส(หรือ 2 องศาฟาเรนไฮต์)เล็กน้อยนับตั้งแต่คริสตทศวรรษ 1880 สองในสามของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1975(พ.ศ.2518) โดยมีอัตราการเพิ่มราวๆ 0.15-0.20 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ

แต่เราทำไมต้องแคร์การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 1 องศา? จะว่าไปแล้ว การขึ้นลงของอุณหภูมิในแต่ละวันของพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ก็มากกว่านั้นอยู่แล้ว

การบันทึกอุณหภูมิผิวโลกนั้นแทนค่าเฉลี่ยของพื้นผิวโลกทั้งหมด อุณหภูมิที่เราเจอในพื้นที่และในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นผันผวนขึ้นลงอย่างมากเนื่องจากเหตุการณ์ที่เป็นวัฐจักรซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ (กลางคืนและกลางวัน ฤดูร้อนและฤดูหนาว) แบบแผนของกระแสลมและการตกของน้ำฟ้าที่คาดการณ์ยาก แต่อุณหภูมิโลกขึ้นอยู่กับว่ามีพลังงานเท่าใดที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์และพลังงานดังกล่าวนั้นแผ่กลับออกไปนอกโลกเท่าไร-ปริมาณพลังงานเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ส่วนปริมาณพลังงานที่แผ่ออกจากพื้นผิวโลกขึ้นอยู่องค์ประกอบของสารเคมีในชั้นบรรยากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อน

การเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่ 1 องศาจึงมีนัยสำคัญยิ่งเนื่องจากมันต้องใช้ปริมาณมหาศาลของความร้อนในการทำให้มหาสมุทร ชั้นบรรยากาศและแผ่นดินอุ่นขึ้น(ที่ 1 องศาเซลเซียส) ในอดีต การลดลงของอุณหภูมิผิวโลกเพียง 1 หรือ 2 องศา สามารถทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง(Little Ice Age) การลดลงของอุณหภูมิโลกลง 5 องศา เพียงพอที่ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนืออยู่ใต้มวลน้ำแข็งหนาเมื่อ 20,000 ปีก่อน

การบันทึกอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเริ่มขึ้นในราวปี ค.ศ.1880 เนื่องจากการเก็บรวบรวมข้อมูลยังไม่ครอบคลุมไปทั่วโลกก่อนหน้านั้น กรมอุตุนิยมวิทยาสหรัฐอเมริกาใช้ช่วง ค.ศ. 1951-1980 เป็นปีฐานของอุณหภูมิเฉลี่ย การวิเคราะห์อุณหภูมิของ GISS เริ่มในราวปี ค.ศ.1980 ดังนั้น คาบสามทศวรรษที่ใช้อ้างอิงมากที่สุดคือ ระหว่าง ค.ศ.1951-1980 ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นช่วงของรุ่นคนที่เป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบันได้เติบโตขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่มีการอ้างอิงที่อยู่ในความทรงจำของคนจำนวนมาก

กราฟด้านล่างแสดงความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจากปี ค.ศ.1880(พ.ศ.2423) ถึงปี ค.ศ.2019(พ.ศ.2562) จากการบันทึกข้อมูลขององค์การนาซา NOAA กลุ่มวิจัย Berkeley Earth และ Met Office Hadley Centre แห่งสหราชอาราจักร และการวิเคราะห์ของ Cowtan and Way แม้ว่าการวัดของสำนักต่างๆ เหล่านี้จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยปีต่อปี แต่ทั้งห้าสำนักแสดงให้เห็นความสอดคล้องกันของแบบแผนการขึ้นลงของอุณหภูมิ การบันทึกอุณหภูมิของทั้ง 5 สำนักแสดงถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในช่วงทศววรษที่ผ่านมา

การวิเคราะห์อุณหภูมิผิวโลกเฉลี่ยของนาซามาจากสถานีตรวจวัดอากาศ 20,000 สถานี ทั้งภาคพื้นดิน เรือ และทุ่นลอย รวมถึงสถานีวิจัยต่างๆ ในทวีปแอนตาร์กติก การวัดจะนำเอาอัลกอริธึมมาใช้พิจารณาถึงอิทธิพลของความแตกต่างระหว่างสถานตรวจวัดอากาศ ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง โดยคำนวณการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกโดยใช้ปีฐาน ค.ศ.1951-1980

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ GISS ระบุจุดประสงค์การวิเคราะห์เพื่อประมาณการการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิด้วยการคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่เชื่อมโยงกับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ละอองลอยและการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมของดวงอาทิตย์

โลกร้อนมิได้หมายถึงอุณหภูมิทุกจุดบนพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้น 1 องศา ทุกครั้งไป อุณหภูมิในปีหนึ่งๆ หรือในทศวรรษหนึ่งๆ อาจเพิ่มขึ้น 5 องศาในที่หนึ่ง และลดลง 2 องศาในอีกที่หนึ่ง ฤดูหนาวที่เย็นผิดปกติในภูมิภาคหนึ่งอาจตามมาด้วยฤดูร้อนรุนแรงในเวลาต่อมา หรือฤดูหนาวที่เย็นยะเยือกในที่หนึ่งอาจถ่วงดุลด้วยฤดูหนาวที่อุ่นขึ้นอย่างผิดปกติในอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก โดยรวม ภาคพื้นดินจะร้อนขึ้นมากกว่าผิวมหาสมุทร เนื่องจากมวลน้ำจะค่อยๆ ดูดซับความร้อนและค่อยๆ คายความร้อนออก (มหาสมุทรโลกมีความเฉี่อยทางความร้อนมากกว่าพื้นผิวดิน) การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละภาคพื้นทวีปและแอ่งมหาสมุทร

อ้างอิง

Hansen, J., et al. (2010). Global surface temperature change. Reviews of Geophysics, 48.

NASA Earth Observatory (2015, January 21) Why So Many Global Temperature Records?

NASA Earth Observatory (2010, June 3) Global Warming.

NASA Goddard Institute for Space Studies (2020) GISS Surface Temperature Analysis (GISTEMP).

NOAA National Centers for Environmental Information (2020, January 15) Assessing the Global Climate in 2019.