แปลเรียบเรียงจาก Shannon Osaka 16 มีนาคม 2563 https://grist.org/climate/why-dont-we-treat-climate-change-like-an-infectious-disease/?fbclid=IwAR0rdwGczp2bOiUZ5nUZ4prW1w33TizUoBKNzKTnxJwZr6wtzxd8_KW20Uw

โรงเรียนปิด หลายพื้นที่มีมาตรการกักกัน ปธน.ทรัมป์ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติและกำลังประเมินแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอกชนฝ่าวิกฤตครั้งใหญ่ที่ถาโถมเข้ามา

ประเทศทั่วโลกกำลังรับมือกับไวรัสใหม่อย่างเร่งรีบเพื่อลดการแพร่ระบาด จนถึงปัจจุบัน(16 มีนาคม) มีผู้ติดเชื้อ 135,000 รายและเสียชีวิต 5,000 รายทั่วโลก

นี่คือวิกฤตระดับโลก แต่ทำไมเราจึงไม่เห็นการขับเคลื่อนรับมืออย่างทันทีทันใดเช่นนี้ในประเด็นวิกฤตโลกร้อนที่เป็นหายนะภัยระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมากเช่นเดียวกัน

เป็นธรรมดาที่เราจะเสียใจกับการไม่ลงมือทำเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประหลาดใจว่าโลกจะเป็นอย่างไรหากรัฐบาลของประเทศต่างๆ จัดการกับวิกฤตโลกร้อนให้เหมือนกับที่จัดการกับโรคระบาด หรือแม้กระทั่งในเรื่องสงคราม อะไรเป็นเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่สร้างสีสันพาดหัวข่าวอยู่ในหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ทุกฉบับ เหมือนกับไวรัสโควิด-19 ที่เป็นประเด็นข่าวในทุกหัวระแหง

Ed Maibach ศาสตราจารย์แห่ง George Mason University ที่ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ บอกว่า “แน่นอน เรารับมือกับวิกฤตโลกร้อนน้อยไป เพราะมันเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพที่กระทบกับหลายรุ่นคนในอนาคต”

เหตุส่วนหนึ่งที่คนรับรู้ภัยคุกคามของ COVID-19 คือความสดใหม่ ศาสตราจารย์ Maibach บอกว่า ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเกิดปฏิกิริยาอย่างแรง – หรือบางทีก็เกินเลยไป -กับความเสี่ยงแบบใหม่ ไม่แน่นอน ไม่สามารถควบคุมได้และการคุกคามที่ถึงชีวิต ไวรัส COVID-19 มีคุณสมบัติเหล่านี้ทั้งหมด

ในขณะที่ประเด็นวิกฤตโลกร้อนนั้นผู้คนเห็นมานานในแง่ที่ว่าเป็นความเสี่ยงที่คืบคลานเข้ามา เป็นความเสี่ยงที่จะกระทบผู้คนบางเวลาในอนาคต ชาวอเมริกันน้อยกว่าครึ่งเชื่อว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศกระทบกับชีวิตประชาชนในขณะนี้(แต่กำลังมีการเปลี่ยนแปลง) แม้ว่าจะเกิดไฟป่ามหากาฬ ในออสเตรเลียและธารน้ำแข็งละลายในอัตราที่รวดเร็ว กรอบการพิจารณาของวิกฤตโลกร้อนเป็นปัญหาระยะยาวที่ไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆ ของความสนใจของผู้คน ศาสตราจารย์ Maibach บอกว่า”แน่นอน มันเป็นปัญหา คนคำนึงถึงเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องที่เอาไว้จัดการทีหลัง”

Susan Clayton ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Wooster College ในรัฐโอไฮโอ บอกว่า ปัญหาที่คล้ายๆ กัน มักถูกเก็บวางไว้ก่อนเมื่อเจอกับปัญหาที่ใหม่กว่า ถ้าเรามองไปที่สิ่งเดียวกันเป็นเวลานาน เราก็จะหยุดมองมันเพราะว่าการรับรู้ภาพของเราจะมีการปรับเปลี่ยน นั่นก็อุปมาอุปมัยคล้ายๆ กับการที่คนตอบสนองต่อวิกฤตโลกร้อน “เราคิดว่า โอ้ วิกฤตโลกร้อนมันแย่ แต่ฉันได้ยินเรื่องนี้มานานแล้ว ฉันไม่จำเป็นต้องสนใจกับเรื่องที่จะออกมาในวันนี้”

ไม่เพียงเรื่องจิตวิทยาเท่านั้นที่กันไม่ให้คนตอบรับกับวิกฤตโลกร้อนในทันที วิกฤตโลกร้อนถูกมองว่าเป็น โคตรปัญหาพยศ — กล่าวคือเป็นประเด็นที่ไม่มีความแน่นอน มีลักษณะเฉพาะตัว และไม่มีทางออกสุดท้ายที่แน่ชัด เป็นปัญหาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่และถาวรในวิถีทางที่สังคมดำเนินไป วิกฤตโลกร้อนมักถูกขยายโดยประเด็นอื่นๆ และในบางครั้งจำต้องต่อกรกับผลประโยชน์เชิงอำนาจ ตัวอย่างเช่น ความยากจนเป็นปัญหาพยศ ไม่มีแนวทางที่แก้ไขแบบตายตัว

เมื่อประเทศทั่วโลกออกมาตรการเข้มเพื่อป้องกันแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีสมมุติฐานว่า มาตรการป้องกันที่ออกมาเหล่านั้นจะมีความจำเป็นต้องทำเป็นเวลาหลายเดือน หรืออาจเป็นปี (เราต้องทำความคุ้นเคยกับการเรียนหรือทำงานจากบ้านแล้วล่ะ)

ส่วนวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นต้องการปฏิบัติการข้ามทศวรรษ ไปจนถึงปี พ.ศ.2593 หรือมากกว่านั้น แม้ว่าจะมีผลโยชน์อย่างมหาศาลจากการขับเคลื่อนทั้งหลายทั้งมวลในระยะสั้น มนุษยชาติก็จะยังคงต้องขับเคี่ยวกับประเด็นโลกร้อนไปอย่างน้อยที่สุดอีก 1 ศตวรรษ ไม่มีวัคซีนสำหรับวิกฤตโลกร้อน ไม่เหมือนกับโคโรนาไวรัส มันจะไม่เพียงหมดแรงไปง่ายๆ เมื่อเวลาผ่านไป

ยังคงมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากโรคระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ Mona Sarfaty ผู้อำนวยการโครงการ climate change and health ที่ George Mason University กล่าวว่า “ระบบต่างๆ ที่เราเห็นอยู่และสำคัญยิ่งยวดสำหรับแก้ไขโคโรนาไวรัสนั้นเป็นที่ต้องการอย่างใหญ่หลวงในการแก้ไขปัญหาผลกระทบสุขภาพที่เกิดจากวิกฤตโลกร้อน คลื่นความร้อน เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว มลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นจากไฟป่าจะสร้างแรงกดดันต่อโครงสร้างพื้นฐานของการบริการสุขภาพและทางการแพทย์ ระบบสนับสนุนทั้งหลายเหล่านี้จะต้องเสริมสร้างให้เข้มแข็งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโลกที่ร้อนขึ้น”

นอกจากนี้ ปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แสดงให้เห็นถึงอะไรที่เป็นไปได้ถ้าหากรัฐบาต่างๆ และปัจเจกชนทุกคนสามารถละวางการคิดในระยะสั้น ศาสตราจารย์ Clayton กล่าวว่า “มันมีความรู้สึกเมื่อผู้คนรับรู้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ฉุกเฉิน มาตรการที่แรงมากๆ สามารถนำมาใช้ได้” ดูอย่างการเดินทางโดยเครื่องบินซึ่งเป็นหนึ่งในการกระทำที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดอันหนึ่ง ศาสตราจารย์ Clayton ปิดท้าย “เมื่อมาถึงจุดที่ว่านี้ คนจะไม่พูดว่าฉันจะไม่สามารถหยุดเดินทางโดยเครื่องบินเพราะว่ามันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่จะพูดว่าฉันจะไม่นั่งเครื่องบิน”