ธารา บัวคำศรี

แสงไฟยามค่ำคืนไม่ได้บอกเพียงว่าเราอยู่ที่ไหนแต่อยู่อย่างไรด้วย

ภาพถ่ายจากดาวเทียม Suomi Npp ระบบเวียร์ (VIIRS) บันทึกภาพทุกค่ำคืนในช่วงเวลา 01.00 – 02.00 น. เพื่อดูอัตราการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ เปรียบเทียบใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยบันทึกภาพวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2562 , ช่วงสถานการณ์ที่กำลังแพร่ระบาดโดยบันทึกภาพวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 และวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2563 (ที่มา : http://www.gistda.or.th/main/th/node/3781)

ภาพถ่ายดาวเทียมด้านบนที่วิเคราะห์โดยทีมของจิสดา(GISTDA) เปรียบเทียบให้เห็นถึงสัญญานของการปิดตัวลงของกิจกรรมทางธุรกิจและการคมนาคมขนส่งในประเทศไทย ผลจากการที่รัฐบาลประกาศใช้ “พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” มาเป็นระยะ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา

นักวิจัยทำการวิเคราะห์ไฟกลางคืนเพื่อแสดงแบบแผนของการใช้พลังงาน การคมนาคมขนส่ง การย้ายถิ่น และกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจอื่นๆ ในกรณีของประเทศไทย ภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบสามช่วงเวลาแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนของแบบแผนดังกล่าว การใช้พลังงาน(ไฟฟ้า)ลดลงอย่างชัดเจนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม ตลอดจนจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของภาคต่างๆ ขณะที่เดียวกัน การเดินทางระหว่างเมืองและจังหวัดก็ลดลงไปด้วย

ไฟกลางคืนทำให้ได้เห็นมุมมองที่แตกต่างของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ แผนที่เปรียบเทียบด้านบนนี้ นักวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ไม่เพียงแต่ดูว่าถนนอยู่ที่ไหน ไฟกลางคืนที่ตรวจจับโดยดาวเทียมจะบอกเราว่าถึงพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น มีการใช้ถนนสายนี้หรือไม่ เวลาใด เป็นต้น ในระดับโลก นักวิจัยใช้ข้อมูลไฟกลางคืนศึกษาวิเคราะห์ถึงแบบแผนต่างๆ ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลไฟกลางคืนถูกนไปใช้ศึกษาเมืองต่างๆ ทั่วโลก ดูว่า เมืองต่างๆ นั้น จะน่าอยู่หรือมีความยั่งยืนหรือไม่ มีการใช้พลังงานอย่างไร ผู้คนในเมืองจะเคลื่อนย้ายอย่างไร ไปที่ไหน เมื่อไร และทำไม โดยสรุป ไฟกลางคืนให้ข้อมูลในเชิงบริบทเพราะกระบวนการกลายเป็นเมืองไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องสถานที่ แต่เป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจสังคม ประชากรและการใช้ที่ดิน

มลพิษทางอากาศลดลงจากการเปลี่ยนแปลงแบบแผนชีวิตในสถานการณ์ COVID-19 แต่หลังจากนั้นเล่า?

ข้อมูลจากดาวเทียม Sentinel-5 ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) เผยให้เห็นแหล่งกำเนิดและความหนาแน่นเฉลี่ยรายเดือนของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ในบรรยากาศของช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ของปี 2562 เปรียบเทียบกับ 2563 บริเวณตอนกลางของประเทศไทย (ที่มา : http://www.gistda.or.th/main/th/node/3777)

ข้อมูลจากการวิเคราะห์ของจิสดา(GISTDA) จากแผนที่ด้านบนชี้ให้เห็นว่า ปริมาณความหนาแน่นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมของทั้ง 2 ปี โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม 2563 มีการลดลงมากอย่างเห็นได้ชัด โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ค่าสูงสุดของเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ประมาณ 190 µmol/m² และต่อมาค่าสูงสุดของเดือนมีนาคม 2563 ลดเหลืออยู่ที่ประมาณ 130 µmol/m² ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากกิจกรรมต่างๆ เริ่มยุติลงเนื่องจากมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 เช่น ลดการเดินทาง ทำงานที่บ้าน ปิดสถานที่สาธารณะ เป็นต้น ส่งผลให้ปริมาณการเผาไหม้เชื้อเพลิงซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ซึ่งเป็นคู่หูของ PM2.5 ลดลง

คำถามสำคัญคือเราจะต่อกรกับวิกฤตมลพิษทางอากาศให้เหมือนกับที่เราทำเพื่อหยุดการระบาดของไวรัสหรือไม่ อย่างไร?

แน่นอนว่าเรายังคงมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากโรคระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ระบบต่างๆ ที่เราเห็นอยู่และสำคัญยิ่งยวดสำหรับแก้ไขโคโรนาไวรัสนั้นเป็นที่ต้องการอย่างใหญ่หลวงในการแก้ไขปัญหาผลกระทบสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ วิกฤตโลกร้อน คลื่นความร้อน เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว จะสร้างแรงกดดันต่อโครงสร้างพื้นฐานของการบริการสุขภาพและทางการแพทย์ ระบบสนับสนุนทั้งหลายเหล่านี้จะต้องเสริมสร้างให้เข้มแข็งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับมลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นและสภาพภูมิอากาศที่ทวีความสุดขั้วมากขึ้น

ปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แสดงให้เห็นถึงอะไรที่เป็นไปได้ถ้าหากรัฐบาลและปัจเจกชนทุกคนเลิกการคิดในระยะสั้น เมื่อเรารับรู้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ฉุกเฉิน ไม่เพียงแต่นโยบายภายใต้ภาวะผู้นำที่กำหนดทิศทาง/แนวทางแก่ประชาชนอย่างชัดเจน ทำทุกอย่างอย่างมีเป้าหมาย และมีความเห็นอกเห็นใจแล้ว การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อวิสัยทัศน์ว่าด้วยเมืองยั่งยืนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน