

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศและด้านไฟคาดการณ์มานานแล้วว่าการเกิดไฟทางด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกาจะขยายเพิ่มขึ้น เข้มข้นมากขึ้นและเป็นหายนะมากขึ้น แต่แม้กระทั่งบรรดาผู้มีประสบการณ์มากที่สุดในชุมชนนักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่อาจสรรหาคำบรรยายถึงขอบเขตและความเข้มข้นของการเกิดไฟในรัฐต่างๆ ตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันตกในเดือนกันยายน 2563 นี้ได้
แม้ฟ้าผ่าจากพายุฤดูร้อนเป็นตัวช่วยให้เกิดไฟหลายแห่ง แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะสภาพทางอุตุนิยมวิทยาที่ไม่ปกติและสุดขั้วที่เปลี่ยนการเกิดไฟให้กลายเป็นไฟป่ามหากาฬที่ร้ายแรงที่สุดในหลายทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิอากาศที่ทำลายสถิติ ช่วงอากาศที่แห้งผิดปกติและกระแสลมอันเกรี้ยวกราดคือปัจจัยที่มีต่อภัยแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่ ทำให้ไฟลุกลามเข้าทำลายพื้นที่ป่าไม้และเกิดกลุ่มควันไฟขนาดมหึมาในระดับความสูงที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน
Vincent Ambrosia ผู้จัดการโครงการวิจัยไฟป่าของ NASA’s Earth Applied Sciences Program กล่าวว่า “เรามีปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาครบถ้วนที่เป็นดังพายุอันสมบูรณ์แบบในการกระตุ้นให้เกิดเพลิงไฟที่รุนแรงนี้ ที่เป็นเงื่อนไขต่อแบบแผนสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป – แนวโน้มระยะยาวของสภาพแห้งผากและความร้อนทั้งในอากาศและพรรณพืชก็ถือเป็นตัวเร่งที่ทำให้เราได้เห็นการเกิดไฟที่เข้มข้นมากขึ้น ขยายวงกว้างมากขึ้นในทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
การสะสมเชื้อเพลิงก็เป็นปัจจัยร่วมด้วย ความพยายามของมนุษย์ที่ป้องกันไม่ให้เกิดไฟในช่วง 120 ปีที่ผ่านมา นำไปสู่การเพิ่มชีวมวลจากใบไม้ในพื้นที่ป่าในแถบตะวันตกของสหรัฐอเมริกาซึ่งเมื่อเกิดไฟจะมีการเผาไหม้อย่างรุนแรง

ไฟสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คน ทรัพย์สินและภูมิทัศน์ จนถึงวันที่ 11 กันยายน 2563 มีพื้นที่ถูกเผาไหม้กว่า 3.1 ล้านเอเคอร์ ข้อมูลจาก Cal Fire เหตุการณ์เกิดไฟครั้งนี้ทุบสถิติการเกิดไฟในแคลิฟอร์เนียโดยพิจารณาจากพื้นที่เผาไหม้ต่อปี ในจำนวนการเกิดไฟครั้งใหญ่ที่สุด 20 ครั้งในแคลิฟอร์เนีย มี 6 ครั้งที่เกิดขึ้นในปี 2563 ทางการระบุว่ามีประชาชนอย่างน้อย 12คน เสียชีวิตจากเพลิงไฟ เมืองหลายแห่งในรัฐโอเรกอนและแคลิฟอร์เนียเสียหายหนัก บ้านเรือนอย่างน้อย 4,000 แห่งถูกทำลาย ต้องมีการอพยพประชาชนนับแสนคน
ภาพการเกิดไฟจากอวกาศนั้นดูน่ากลัว ตลอดระยะเวลาเหตการณ์ไฟ เครื่องมือ Visible Infrared Imaging Radiometer Suite (VIIRS) และ Ozone Mapping and Profiler Suite (OMPS) บนดาวเทียม NOAA-NASA Suomi NPP บันทึกภาพต่อเนื่องรายวันที่แสดงให้เห็นถึงกลุ่มควันหนาทึบและแผ่กว้างของอนุภาคละอองลอยที่กระจายตัวตลอดทั้งแถบตะวันตกของสหรัฐอเมริกาในระดับที่ดาวเทียมและนักวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยได้พบเจอ
ในวันที่ 9 กันยายน 2563 เครื่องมือ OMPS บันทึกกลุ่มเมฆควันเหนือพื้นที่ตะวันตกของสหรัฐฯ โดยมีดัชนีละอองลอยสูงกว่าค่าอื่นๆ ซึ่ง Colin Seftor นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศที่ Goddard Space Flight Center ของนาซา กล่าวว่าเป็นค่า OMPS ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ในวันนั้น แนวมวลอากาศเคลื่อนตัวเข้าไปในเขตที่ราบใหญ่(Great Basin)และเกิดลมที่เคลื่อนตัวลงจากเทือกเขา(downslope winds)ในรัฐวอชิงตัน โอเรกอน และแคลิฟอร์เนีย กระแสลมได้ยกตัวเพลิงไฟป่าขึ้น ในขณะที่เมฆ pyrocumulus จาก Bear fire ในแคลิฟอร์เนียได้ปล่อยกลุ่มควันสูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ผลรวมของปรากฏการณ์เหล่านี้คือแนวหมอกควันหนามากๆ ที่เข้าปกคลุมท้องฟ้าตามแนวชายฝั่งตะวันตก

สองสามวันก่อนหน้านั้น ดาวเทียม CALIPSO ของ NASA-CNES บันทึกเมฆ pyrocumulus ที่เกิดจากเหตุการณ์ไฟ Creek fire ในแคลิฟอร์เนีย เมฆยกตัวพร้อมหมอกควันไฟขึ้นสูง 17 กิโลเมตร(10 ไมล์) ในชั้นบรรยากาศ ถือเป็นสถิติของการเกิดไฟในทวีปอเมริกาเหนือที่นำเอาอนุภาคควันไฟขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศสตาร์โตรเฟียร์
หมอกควันไฟทั้งหมดคือการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ครั้งมโหฬาร Douglas Morton หัวหน้าห้องปฏิบัติการ the biospheric sciences laboratory ที่ Goddard ของนาซา กล่าวว่า “ปี ค.ศ. 2020 คือปีที่มีการปล่อยคาร์ไดออกไซด์มากที่สุดจากการเกิดไฟในแคลิฟอร์เนีย จากฐานข้อมูล Global Fire Emissions Database ซึ่งรวบรวมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 มาจนถึงปัจจุบัน เพียงแค่เหตุการณ์ไฟในวันที่ 11 กันยายน การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ก็แซงเกินหน้าของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการเกิดไฟทั้งหมดในรอบปี
นักวิทยาศาสตร์ที่นาซาวางแผนใช้เหตุการณ์ที่ไม่ปกตินี้เพื่อทดสอบและปรับปรุงแบบจำลองและการพยากรณ์การกระจายตัวของหมอกควันไฟ John-Paul Vernier นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศ โครงการ Applied Sciences Disasters program กล่าวว่า ดาวเทียม CALIPSO จะโคจรผ่านแคลิฟอร์เนียทำให้เราได้ข้อมูลเพื่อมายืนยันแบบจำลอง และปรับปรุงการคาดการณ์ใกล้เคียงกับเวลาจริงได้อย่างมาก โดยการใช้การสังเกตการณ์ที่ทันสมัยโดยดาวเทียม CALIPSO, MISR และ MODIS เราทำทุกอย่างที่เราสามารถทำได้เพื่อปรับปรุงการคาดการณ์คุณภาพอากาศ
ที่มา : NASA Earth Observatory images by Joshua Stevens, using Ozone Mapping and Profiler Suite (OMPS) data and VIIRS data from NASA EOSDIS/LANCE and GIBS/Worldview and the Suomi National Polar-orbiting Partnership, CALIPSO data from NASA/CNES, and emissions data from the Global Fire Emissions Database (GFED). Story by Adam Voiland.
ข้อมูลอ้างอิง
- CalFire (2020, September 11) Incidents. Accessed September 11, 2020.
- Environmental Protection Agency (2020, September 11) National Map. Accessed September 11, 2020.
- InciWeb (2020, September 11) Incident Information System. Accessed September 11, 2020.
- NASA Earth Science Disasters Program (2020) California Fires August 2020. Accessed September 11, 2020.
- NASA Earthdata (2020) Wildfires. Accessed September 11, 2020.
- NASA Earthdata (2020) Wildfires Data Pathfinder. Accessed September 11, 2020.
- NASA Earth Observatory (2020) 2020 Fire Season in the Western U.S.
- Northwest Interagency Coordination Center (2020, September 11) 9/11/2020 NWCC Morning Brief. Accessed September 11, 2020.
- The Oregonian (2020, September 11) Oregon Wildfires. Accessed September 11, 2020
- San Francisco Chronicle (2020, September 11) California Wildfires. Accessed September 11, 2020