วิจารณ์หนังสือ Human Body Shop :The Engineering and Marketing of Life
Andrew Kimbrell
เขียน สำนักพิมพ์ฮาเปอร์ คอลลินส์ จัดพิมพ์
..2536 หนา 348 หน้า USA $ 12 โดย ธารา บัวคำศรี


นักวิทยาศาสตร์ประกาศโคลนนิงตัวอ่อนของมนุษย์เป็นครั้งแรก ในขณะที่การโคลนนิงแกะและวัวที่กำลังดำเนินอยู่อาจสร้างผลกระทบที่มิอาจคาดเดาได้

เลือดกลายเป็นสินค้าราคาสูงสำหรับบริษัทเภสัชกรรมในสหรัฐอเมริกา

การค้าอวัยวะมนุษย์ข้ามชาติมีมูลค่าน่าตกใจ เช่น ปัจจุบัน ไตข้างหนึ่งมีมูลค่าราว 10,000-40,000 เหรียญสหรัฐ

การค้าขายเนื้อเยื่อตัวอ่อนในครรภ์มารดามีมูลค่าเกือบพันล้านเหรียญต่อปี

นักวิจัยประสบผลสำเร็จในการปลูกถ่ายอวัยวะของตัวอ่อนในครรภ์มารดาลงไปในสัตว์ทดลองเพื่อสร้างเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ขึ้นมาได้

สำหรับการบริจาคอสุจิอยู่ในราว 50 เหรียญต่อ 1 ครั้ง เป็นเหตุให้มีผู้ชายหลายคนกลายเป็นพ่อของเด็ก จำนวนนับพัน

ที่เมืองนิวยอร์ก ค่าแรงสำหรับการบริจาคไข่ของผู้หญิงหนึ่งครั้งอยู่ในราว 2,000 เหรียญ

มีการซื้อและขายเด็กทั่วโลกจำนวนนับพันคนโดยผ่านธุรกิจแม่รับจ้างอุ้มท้อง

ศาลสหรัฐกำลังปวดหัวกับการพิจารณา ว่าตัวอ่อนแช่แข็งจำนวนนับพันมีสภาพเป็นคนหรือสมบัติ

ผลการสำรวจพบว่า คู่สามีภรรยาชาวอเมริกันร้อยละ 11 ทำแท้งทารกในครรภ์เมื่อตรวจพบลักษณะทางพันธุกรรมที่ส่อว่าเด็กจะอ้วนมากเกินไป

สถาบันสุขภาพแห่งชาติในสหรัฐอเมริกาทำการจดลิขสิทธิ์ลักษณะทางพันธุกรรมของสมองมนุษย์มากกว่า 2,000 ลักษณะ

บริษัทของสหรัฐอเมริกาพยายามจดลิขสิทธิ์ลักษณะทางพันธุ์กรรมในต่อมน้ำมนของผู้หญิงเพื่อผลิตสารชีวเคมีที่มีมูลค่า

นักพันธุศาสตร์สามารถแปลงพันธุกรรมของมนุษย์ให้เป็นรหัสทางพันธุกรรมอย่างถาวรในหนู แกะ หมู วัวและปลาได้นักวิทยาศาสตร์ทำการตัดต่อยีนส์ของเชื้อไวรัสเอดส์เพื่อฝังลงไปในรหัสทางพันธุกรรมของหนูทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะสร้างซุปเปอร์เอดส์ซึ่งสามารถติดเชื้อผ่านอากาศได้…


ข่าวสารข้างต้นปรากฏในหน้าแรกของหนังสือ The Human Body Shop : The Engineering and Marketing of Life มิใช่เรื่องราวในนิยายวิทยาศาสตร์ แต่เป็นผลงานเชิงพาณิชย์ของเทคโนโลยีชีวภาพก่อนศตวรรษที่ 20 จะสิ้นสุดลง ข่าวสารที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยกขึ้นมา เป็นตัวอย่างการดัดแปลงและค้าขายอวัยวะมนุษย์ในช่วงที่หนังสือได้ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2536

พัฒนาการปัจจุบันของเทคโนโลยีชีวภาพได้รุกคืบเข้าในปริมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและธรรมชาติมากขึ้น ดังที่นายริชาร์ด ซีด นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ประกาศจะทำการโคลนนิงมนุษย์เมื่อไม่นานมานี้คำกล่าวของเขาที่ว่า “การโคลนนิ่งรายแรกๆ จะไม่ทำกำไรให้มากนัก เนื่องจากต้นทุนสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์ แต่หากมีลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ ต้นทุนค่าใช้จ่ายจะลดลง เมื่อถึงเวลานั้นจึงเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผลกำไร” สะท้อนให้เห็นถึงนัยสำคัญของพาณิชย์นิยมกับเทคโนโลยีด้านพันธุกรรมที่จับมือกันอย่างเหนียวแน่น ดังที่ปรากฏใน The Human Body Shop ซึ่ง Andrew Kimbrell ผู้เขียน ต้องการสื่อถึงผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

The Human Body Shop บอกให้เราทราบว่า ความมหัศจรรย์ของยุคเทคโนโลยีชีวภาพที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมีพื้นฐานมาจากความคิดแบบแยกส่วนที่มองชีวิตเป็นชิ้นส่วนของกลจักร ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมมนุษย์มาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ และขณะนี้กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของชีวิตและจิตวิญญาณมนุษย์ เฉกเช่นที่นวนิยายเรื่อง Brave The New World ของ Aldous Huxley (1932) พยากรณ์โลกอนาคตซึ่งเต็มไปด้วยคลินิกโคลนนิงและชีวิตมนุษย์เปรียบดังสินค้ามวลชนที่มีมาตรฐานทางวิศวกรรมอย่างละเอียดถี่ถ้วน เรื่องราวใน The Human Body Shop อาจมิน่าสะพรึงกลัว หากแต่ทำให้เรารู้สึกถึงความปวดร้าวในชะตากรรมของผู้คนยุคสมัยใหม่ที่ตกอยู่ในน้ำมือของพระเจ้าฝาแฝดนั่นคือ เทคโนโลยีและผลกำไร

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นทั้งนักกฎหมายและนักปรัชญา ด้วยข้อมูลอันละเอียดถี่ถ้วนจากการสังเกตการณ์ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ห้องประชุมของคณะกรรมการบริษัท นักออกแบบ และนักการตลาดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าขายร่างกายมนุษย์ การประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่กฎหมายทางด้านชีวภาพในองค์กรของรัฐ ข้อมูลจากสภาคองเกรสของสหรัฐและศาลสถิตยุติธรรมทั่วโลก การเป็นประจักษ์พยานในการต่อสู้ทางกฎหมาย และการสำรวจทบทวนการปฏิวัติทางชีวภาพ แรงจูงใจและเป้าหมายของผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านผลพวกของมัน คิมเบรลได้ร้อยเรียงข้อมูลเหล่านี้ขึ้นและนำผู้อ่านเข้าสู่พรมแดนสุดท้ายที่ซึ่งเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือให้ทุนนิยมรุกเข้าไปครอบครองลักษณะพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

หนังสือเริ่มต้นจากธุรกิจการค้าขายและการจัดการเลือด อวัยวะ และชิ้นส่วนเนื้อเยื่อของตัวอ่อนในครรภ์มารดาตามมาด้วยการค้าขายส่วนประกอบที่ใช้ในการปฏิสนธิ ทั้งอสุจิและไข่ ตลอดจนตัวอ่อนและเด็กทารก จากนั้น คิมเบรลอธิบายถึงเบื้องหลังของธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับชีวเคมี พันธุกรรมและเซลมนุษย์ ในส่วนสุดท้ายนอกจากเขาเสนอกรอบแนวความคิดอันเป็นรากฐานของธุรกิจการค้าร่างกายแล้ว เขายังเสนอให้ยกเลิกธุรกิจอันเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาดเสรีนี้เสีย โดยคานอำนาจของอุดมการณ์ตลาดในการปลูกถ่ายอวัยวะมนุษย์ด้วยหลักการเรื่องทาน ซึ่งปฏิบัติกันอยู่ในชุมชนดั้งเดิมหลายส่วนของโลก

ทุกบททุกตอน คิมเบรลเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภูมิหลังและแรงบันดาลใจของการค้นพบใหม่ทางวิทยาศาสตร์ในช่วงเวลาต่างๆ กับผลที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีชีวภาพต่อร่างกายและสังคม วิพากษ์และชำแหละฉากสุดท้ายของยุคสมัยใหม่ เขากล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าพาณิชยานุวัตรของร่างกายมนุษย์ (Commercialization of human body shop) คือวิวัฒนาการขั้นสูงสุดของมนุษย์ในฐานะของสัตว์เศรษฐกิจ (homo economicus) เขาฉายให้เห็นภาพการเคลื่อนตัวของระบบตลาดเข้าไปในร่างกายมนุษย์ ชี้ให้เห็นความสำเร็จทางเทคโนโลยีใหม่ที่ก้าวหน้าไปพร้อมกันข้ออ้างเชิงธุรกิจ ดังจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันบรรษัทข้ามชาติเข้ากลุ้มรุมร่างกายมนุษย์ ถือสิทธิในอวัยวะเนื้อเยื่อและยีนที่สามารถใช้ประโยชน์ได้

ในส่วนแรกของหนังสือเกริ่นนำว่า ในอดีต ส่วนประกอบทางชีวภาพของร่างกายมนุษย์ไม่มีคุณค่า แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ ธุรกิจเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกถ่ายอวัยวะ เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ การจัดการทางพันธุกรรมเพื่อผลิตและประกอบชิ้นส่วนของร่างกาย กลายเป็นอุตสาหกรรมที่แพร่ขยายอย่างรวดเร็วทั่วโลกในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ทำให้ความต้องการชิ้นส่วนอวัยวะของร่างกายเพิ่มมากขึ้นคนเป็นจำนวนมากพากันขายเลือด อวัยวะ และส่วนประกอบที่ใช้ในการเจริญพันธุ์ในนามของ “ผู้บริจาค” พร้อมกันนี้นักวิจัยและบรรษัทข้ามชาติได้ทำการตลาดและจดลิขสิทธิ์ร่างกายมนุษย์ในฐานะ “ผลิตภัณฑ์” ภายใต้ผลประโยชน์ที่เป็นกำไรมหาศาล

“เลือด” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากของร่างกายแต่เดิมนั้นการบริจาคเลือดนั้น ก็เพื่อเป็นทานให้กับชุมชนที่เราอาศัยอยู่ แต่ปัจจุบันเลือดกลายเป็นสินค้า พัฒนาการที่ทำให้เลือดเป็นสินค้า เริ่มจากการค้นพบการไหลเวียนของเลือดในปี 1628 โดยวิลเลี่ยม ฮาร์วีย์ และการทดลองเปลี่ยนถ่ายเลือดโดยโรเบิร์ต บอยส์ การค้นพบหมู่เลือดซึ่งนำไปสู่ความรู้ในการเปลี่ยนถ่ายระหว่างกลุ่มเลือด โดยคาร์ลแลนด์สไตเนอร์ นักวิจัยชาวออสเตรีย ตลอดจนความก้าวหน้าทางการแพทย์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ความรู้เกี่ยวกับเลือดเพิ่มขึ้นและเทคนิคการถ่ายเลือดมีความก้าวหน้า เลือดกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาทางการแพทย์มีการตั้งธนาคารเลือด และเทคโนโลยีการเปลี่ยนถ่ายเลือดทันสมัยมากขึ้น ทำให้คนจำนวนมากรอดชีวิตอยู่ได้ ความต้องการและคุณค่าของเลือดเกิดขื้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนด้วยเหตุนี้ เลือดถูกลดความหมายในเชิงสัญลักษณ์และความศักดิ์สิทธิ์ลง จนกลายเป็นสินค้าในตลาดการแพทย์

ในส่วนต่อๆ มา ผู้เขียนเดินเรื่องที่คล้ายคลึงกันโดยกล่าวถึงความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ และแรงผลักที่ทำให้อวัยวะมนุษย์กลายเป็นสินค้า พร้อมกับยกตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นกระบวนการเหล่านี้เช่นเขาชี้ให้เห็นถึงการปลูกถ่ายอวัยวะว่า ในช่วงแรกๆ ไม่มีประสบผลและก่อให้เกิดคำถามเชิงจริยธรรมการปลูกถ่ายและเปลี่ยนเนื้อเยื่อระหว่างคนกับคนเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1951 โดย ดร.เดวิด ฮูม สิ่งที่ประสบผลสำเร็จและมีการปฏิบัติอย่างกว้างขวางคือการเปลี่ยนไต ต่อมาเป็นปอดและท้ายสุดคือหัวใจ

ความสำเร็จในการวิจัยด้านการปลูกถ่ายอวัยวะคือรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 1970 ของ เซอร์ปีเตอร์ เมดีวาร์ และเซอร์แฟรงก์ เบอร์เน็ต ซึ่งค้นพบว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยารับรู้และต่อต้านอวัยวะแปลกปลอมที่ได้รับการปลูกถ่ายเข้ามาได้อย่างไร เนื้อเยื่อของผู้ให้และผู้รับเข้ากันหรือไม่ ด้วยความรู้เรื่องระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ประกอบกับเทคนิคด้านศัลยกรรมในเวลาต่อมาทำให้การปลูกถ่ายอวัยวะมีความทันสมัยมากขึ้นทศวรรษ 1980 จึงถือเป็นการปฏิวัติด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ ตั้งแต่ปี 1982 การปลูกถ่ายหัวใจเพิ่มขึ้น 20 เท่า ตับเพิ่มขึ้น 40 เท่าและไตเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในปี 1991 มีการปลูกถ่ายอวัยวะ 16,003 ครั้งในสหรัฐอเมริกามีการปลูกถ่ายกระจกตาประมาณ 30,000 ครั้ง อวัยวะและชิ้นส่วนที่สำคัญของร่างกายจึงกลายมาเป็นสินค้า ที่สำคัญผู้เขียนได้ระบุผลกระทบว่า การถกเถียงอันดุเดือดเลือดพล่านในเรื่องการค้าร่างกายมนุษย์นี้กลายเป็นประเด็นในทางสากลและทำให้นิยามของความตายเปลี่ยนแปลงไป

แต่เดิม เกณฑ์ที่ชี้ว่าผู้ใดเสียชีวิตคือคนผู้นั้นหยุดหายใจ นิยามของความตายเปลี่ยนจากแนวคิดทางจิตวิญญาณไปสู่แนวคิดเชิงชีววิทยา เพื่อให้สอดคล้องกับความพยายามใช้ประโยชน์จากอวัยวะของผู้ใกล้ตาย เกณฑ์ที่ใช้วัดความตายซึ่งพิจารณาจากการหยุดเต้นของหัวใจและการหมดลมหายใจ ได้เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ดังในกรณีของเจ้าหญิงและเจ้าชายนิทราที่สมองหยุดทำงาน แต่ยังมีชีวิตอยู่โดยอาศัยเครื่องช่วยหายใจและเครื่องช่วยการเต้นของหัวใจ ในสภาพเช่นนี้ คุณประโยชน์ของ “ซากศพที่หัวใจยังเต้นอยู่” อยู่ที่เพียงอวัยวะที่ยังอยู่ในสภาพดี และสามารถนำมาใช้เพื่อปลูกถ่ายให้กับผู้ที่ต้องการได้ แต่เพื่อให้ได้อวัยวะที่มีคุณค่าเหล่านี้ในสภาพสมบูรณ์ แพทย์จะต้องปลูกถ่ายอวัยวะในขณะที่เลือดและลมหายใจของผู้ป่วยยังไหลเวียนอยู่เป็นเหตุให้ต้องมีการนิยามความหมายของความตายขึ้นมาใหม่ โดยเปลี่ยนการพิจารณาการทำงานของหัวใจและการหายใจมาเป็นการพิจารณาว่าสมองตายแล้วหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากอวัยวะของผู้ใกล้ตายได้อย่างสะดวกมากที่สุด

ในเวลาต่อมา ยังมีผู้เสนอให้เปลี่ยนนิยามของความตายใหม่อีก จากการพิจารณาสภาพวะที่สมองทั้งหมดตาย(whole brain death) มาเป็นแค่การหยุดทำงานของสมองส่วนบน (cerebral death หรือ neocortical death) เหตุนี้เอง ผู้ป่วยที่แม้สมองส่วนล่างซึ่งควบคุมการทำงานพื้นฐานของร่างกายยังทำงานอยู่ ซึ่งทำให้เขายังสามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง แต่สมองส่วนบนหยุดทำงานหรือในสภาพเจ้าหญิงเจ้าชายนิทรา ก็จะถือว่าได้ตายไปแล้ว นิยามใหม่ยังได้ครอบคลุมถึงผู้ที่อยู่ในสภาพการเป็นเสมือนผักปลาอย่างถาวร (Permanent Vegetative State-PVS) และตัวอ่อนในครรภ์ที่สูญเสียสมรรถภาพทางสมอง (anencephalic) ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีอยู่ประมาณ 1-3 พันคนต่อปี อวัยวะของเด็กเหล่านี้จะเสื่อมลงอย่างรวดเร็วหลังจากเสียชีวิต ในทางกฎหมาย จึงได้กำหนดให้เด็กเหล่านี้ “ตาย” ก่อนที่จะ “ตายจริง” เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากอวัยวะของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตอนท้ายของบทแรก ผู้เขียนกล่าวถึง ความขัดแย้งของการใช้ประโยชน์จากเนื้อเยื่อของตัวอ่อนในครรภ์มารดาซึ่งแสดงให้เห็นถึงทางเลือกที่เป็นโศกนาฏกรรมของการปลูกถ่ายอวัยวะ กระบวนการเชิงพาณิชย์ของเนื้อเยื่อตัวอ่อนยังได้นำไปสู่การค้าส่วนประกอบที่ใช้ในการปฏิสนธิและเจริญพันธุ์ของมนุษย์ เทคโนโลยีการปลูกถ่ายอวัยวะ เปิดประตูไปสู่การค้าขายผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์เพื่อเยียวยาความไร้สมรรถภาพในการสืบพันธุ์ของมนุษย์

ในส่วนที่สองเป็นเรื่อง “อุตสาหกรรมผลิตทารก” ผู้เขียนเผยให้เห็นถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์อันมีรากฐานมาจากปัญหาของคู่สมรสที่ไม่สามารถให้กำเนิดบุตร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ความไร้สมรรถภาพในการเจริญพันธุ์นี้มีหลายสาเหตุ นอกเหนือจากรังไข่ผู้หญิงไม่พร้อมที่จะปล่อยไข่ยังมีที่มาจากโรคเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อหลังผ่าตัด การทำศัลยกรรมแบบไร้เชื้อ การรักษามะเร็ง การใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด การสูบบุหรี่ และมลพิษจากสิ่งแวดล้อม จำนวนอสุจิต่ำ ความไร้สมรรถภาพทางเพศ ในทัศนะของผู้เขียนประเด็นอยู่ที่ว่า แท้ที่จริงแล้ว ภาวะหรือความไร้สมรรถภาพในการเจริญพันธุ์ทั้งผู้หญิงและผู้ชายไม่ได้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างที่สื่อสารมวลชนชอบโฆษณา แต่การรักษาภาวะไม่เจริญพันธุ์นี้กลับเพิ่มขึ้น และได้กลายเป็นธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านเหรียญต่อปี

เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่การประสบผลสำเร็จในการผสมเทียมในปี 1987 ด้วยวิธีการ IVF เทคนิคใหม่ ๆ ในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถฝากตัวอ่อนของผู้หญิงคนใดคนหนึ่งเข้าไปในครรภ์ของผู้หญิงอีกคนที่ไม่สามารถเจริญพันธุ์เองได้ ยิ่งกว่านั้น แพทย์ยังสามารถแช่แข็งตัวอ่อนที่เกิดจาการปฏิสนธิในหลอดแก้วหรือนำมาจากครรภ์ของหญิง เพื่อใช้งานในโอกาสต่อ ๆ ไปได้ เทคโนโลยีนี้เดิมใช้เฉพาะกับใช้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์มาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ จนถึงปี 1984 เริ่มปรากฏความสำเร็จในการใช้กับตัวอ่อนของมนุษย์ ปัจจุบันมีตัวอ่อนของมนุษย์ที่ถูกแช่แข็งเป็นจำนวนนับพันในแต่ละปี

ปัญหาสำคัญของเทคโนโลยีการแช่แข็งตัวอ่อน โยงใยไปถึงประเด็นด้านกฎหมาย ผู้เขียนยกตัวอย่างการแช่แข็งตัวอ่อนที่กลายเป็นปัญหาทางกฎหมาย สามีภรรยาไรออสชาวนครลอสแองเจลลิส พยายามให้กำเนิดบุตรตามธรรมชาติ แต่ไม่ประสบผล ในที่สุดพวกเขาได้เข้าโครงการ IVF ในประเทศออสเตรเลีย แพทย์ที่คลินิกพบว่านายไรออสซึ่งมีอายุ 50 ปีในขณะนั้นไม่สามารถเจริญพันธุ์ได้ ทั้งคู่ตกลงว่าจะใช้ไข่สามใบของนางไรออสซึ่งมีอายุ 37 ปีผสมกับอสุจิของผู้บริจาคนิรนาม ตัวอ่อนหนึ่งในสามตัวที่ได้รับการปฏิสนธิด้วยวิธีการนี้ ถูกฝังเข้าไปในมดลูกของนางไรออส และอีก 2 ตัว แพทย์แช่แข็งเอาไว้ แต่โชคร้าย นางไรออสล้มป่วยและแท้ง ทั้งคู่จึงเลือกตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งเอาไว้อีกตัวหนึ่งเพื่อฝังในร่างกาย ระหว่างเดินทางกลับจากออสเตรเลีย ทั้งคู่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ชิลี ปัญหาทางกฎหมาย คือ ตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งอยู่มีสิทธิในมรดกของผู้ตายทั้งสองหรือไม่ ท้ายที่สุด ศาลตัดสินให้แม่ของนางไรออส เป็นผู้สืบทอดมรดกเพียงคนเดียว ตัวอ่อนไม่มีสิทธิในมรดกนั้น

ธุรกิจการผลิตทารกอีกลักษณะหนึ่งคือ การรับจ้างอุ้มท้อง นายหน้าค้าขายทารกในสหรัฐอเมริกา ทำธุรกิจผลิตเด็กทารกมากกว่า 4 พันคน โดยผ่านการเซ็นสัญญาเรียกเก็บเงินจากลูกค้า 30,000 – 45,000 เหรียญต่อคน มีคู่สมรสจำนวน 2.3 ล้าน คู่ที่ไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ ซึ่งจะทำให้มูลค่าของธุรกิจนี้สูงถึง 40 ล้านเหรียญ ธุรกิจอุตสาหกรรมนี้ทำให้ผู้หญิงจำนวนหลายพันคนใช้ตัวเองเป็นแหล่งปฏิสนธิทารกให้กับลูกค้า ผู้เขียนเห็นว่านี่คือรูปแบบหนึ่งของการค้าทาสทางชีวภาพ

ผู้เขียนเผยรายละเอียดของการค้าทาสทางชีวภาพนี้ว่าก่อนอื่นผู้หญิงต้องเสียค่าธรรมเนียม เซ็นสัญญาเพื่อผลิตทารกให้กับลูกค้า พวกเธอผ่านกระบวนการผสมเทียมหลายครั้งเพื่อให้ตั้งครรภ์ และถูกกักบริเวณ ตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 270 วัน ในสัญญาดังกล่าว หญิงผู้รับจ้างตั้งท้องต้องได้รับยากระตุ้นให้เกิดการเจริญพันธุ์ได้รับการฉีดฮอร์โมน ได้รับการตรวจสอบทางพันธุกรรมอย่างรอบคอบ และเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในสัญญายังบีบให้ผู้รับจ้างตั้งท้องยินยอมทำแท้ง ในกรณีที่ลูกค้ามีความประสงค์จะหยุดใช้บริการ สัญญาทาสนี้ยังทำให้ผู้หญิงไม่รับรู้ถึงสิทธิทางกฎหมายและไม่สามารถหาทนายมาฟ้องร้องการละเมิดได้

อุตสาหกรรมผลิตลูกในอเมริกาได้เติบโตขึ้น และให้ผลกำไรมหาศาล บริษัทหลายแห่งที่ดำเนินกิจการด้านนี้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นมูลค่านับล้านเหรียญผลสะเทือนที่ตามมา เฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีการขยายตัวของจำนวนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในเทคโนโลยีนี้เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการของคู่สมรส ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบต่อจิตใจและอารมณ์ของคู่สมรส ผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้หญิงที่รับจ้างอุ้มท้อง เด็กที่เกิดมาจากกระบวนการผสมเทียมนี้เกิดความสับสนในมรดกทางพันธุกรรมของตนเอง ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า มีเพียงร้อยละ 10 – 14 ของคู่สมรสที่ใช้บริการธุรกิจรับจ้างตั้งท้องในสหรัฐอเมริกาที่ประสบผลสำเร็จในการผลิตเด็ก

ในขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากร่างกายมนุษย์เป็นเงินมหาศาลนี้ได้ดำเนินไป ผู้เขียนชี้ให้เห็นภาพมุมกลับว่า เงินจำนวนนับพันล้านเหรียญถูกใช้ไปเพื่อการผลิตทารกซึ่งก็ไม่ประสบผลสำเร็จและสหรัฐอเมริกากลับเป็นประเทศที่มีอัตราการตายของทารกเป็นอันดับที่ 22 ของโลก อันเนื่องมาจากความยากจน ยาเสพติด และการขาดการดูแลด้านสุขภาพ เขตเมืองชั้นในหลายแห่งมีอัตราการตายของทารกสูงกว่าประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกกำลังพัฒนาธุรกิจด้านพันธุกรรมเป็นเนื้อหาสำคัญในหนังสือเล่มนี้ในปี 1953 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า DNA เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะพื้นฐานของชีวิต ซึ่งถือเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 20 และนำไปสู่การศึกษาวิจัยด้านวิศวพันธุกรรมอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการโคลนนิง พัฒนาการต่อมาคือการสร้างยีนส์มนุษย์เพื่อนำไปใช้ในเชิงการค้า

วิศวพันธุกรรมยังทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตัดต่อยีนส์ข้ามชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตได้อีกด้วย ที่สำคัญ นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้มีบทบาทสำคัญในการจดลิขสิทธิ์ลักษณะทางพันธุกรรม นักวิเคราะห์การตลาดคาดว่าในช่วงเปลี่ยนศตวรรษนี้ ยีนส์มนุษย์ทั้งหมดจะถูกจดลิขสิทธิ์และกลายเป็นสินค้าของบริษัทยาเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพ

ทัศนะในบทท้ายๆ ของผู้เขียนเปรียบเทียบว่า ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เราเปลี่ยนสังคมและสิ่งแวดล้อมของเราอย่างถึงรากถึงโคน โดยการสะสมเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ไร้ชีวิตเป็นจำนวนมหาศาล โลหะ แร่ธาตุ และเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมากถูกขุดจากพื้นโลก แล้วนำมาเผา หลอม เชื่อม เพื่อสร้างเครื่องจักร และผลงานต่าง ๆ ของโลกสมัยใหม่ ปัจจุบัน เราได้รวมอวัยวะของมนุษย์เข้าไปในสสารที่ไร้ชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตใหม่ทั้งหมด ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้เราสามารถสร้างและผลิตพันธุกรรมของมนุษย์มากกว่า 100,000 เท่าเมื่อเทียบกับวัฒนาการด้านพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทุกชนิดรวมกัน เทคโนโลยีด้านวิศวพันธุกรรมทำให้เราสามารถนำยีนส์มาตัดต่อ แทรก นำมารวมใหม่ จัดเรียงใหม่ แก้ไข โปรแกรมและผลิตวัสดุทางพันธุกรรมในลักษณะเดียวกับที่บรรพบุรุษของเราสามารถแยก เสาะหา ใช้วัตถุและแร่ธาตุต่างๆ คิมเบรลเห็นว่า ที่ผ่านมาเราสร้างวัสดุที่เป็นพลาสติกและโลหะ ขณะนี้เรากำลังสร้างวัสดุที่มีชีวิต

คิมเบรลได้พยายามสะท้อนรากฐานเชิงปรัชญาและประวัติศาสตร์ของการจัดการและการตลาดของร่างกายมนุษย์ โดยชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์และความเสี่ยงของเทคโนโลยีอื่นๆ ในยุคสมัยที่เรามีชีวิตอยู่ เขาสรุปว่าเทคโนโลยีการค้าร่างกายมนุษย์เท่าที่มีอยู่ เช่น การปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งให้ความหวังในการรักษาผู้คนมากมาย การช่วยชีวิตหรือการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อื่นๆ ของเทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งวิศวพันธุกรรมและเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์นั้นมีความไม่แน่นอน

ในตอนท้ายของหนังสือ เขาฟันธงว่า ถ้าเรารักษาร่างกายของเรา ดูแลการกำเนิดทารกของเรา มิให้ถูกล่วงละเมิด ถ้าเรายังคงมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับชีวิตและความตาย สิทธิของพ่อแม่และเด็ก ถ้าเราปรารถนาจะปกป้องความหลากหลายทางพันธุกรรมของเผ่าพันธุ์ของเรา และสมาชิกอื่น ๆ ในสังคม ธุรกิจการค้าร่างกายมนุษย์ก็มิอาจดำเนินต่อไปได้ แท้จริงแล้ว ควรที่จะปิดกิจการเสีย

อย่างไรก็ตามผู้เขียนยอมรับว่า มิใช้เรื่องง่ายดายเลยที่จะทำเช่นนั้น และเป็นไม่ได้เลยหากปราศจากความเข้าใจว่า พาณิชยานุวัตรของความเป็นมนุษย์กลายเป็นที่ยอมรับกันได้อย่างไร เขาเห็นว่าการทำให้ร่างกายเป็นสินค้า มิได้เป็นเพียงผลพวงของเทคโนโลยี หรือผลของวิทยาศาสตร์ที่ไร้ความรับผิดชอบ การควบคุมทาง
กฎหมายที่ไร้ประสิทธิภาพ ความโลภและการวางเฉย หรือการละเลยจากภาครัฐ หากแต่การค้าขายร่างกายนั้นมีรากที่ฝังลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรม ศาสนาและสังคมของเราเอง กล่าว คือ การทำให้ร่างกายมนุษย์เป็นสินค้า เป็นผลที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ของวิธีมองธรรมชาติอย่างแยกส่วน และลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลง และระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ครอบงำสังคม นับแต่หลายศตวรรษมาแล้ว

ท้ายสุด คิมเบรลเห็นว่าการไปให้พ้นจากการค้าขายร่างกายมนุษย์ เกิดขึ้นได้จากการมองร่างกาย ชีวิตและโลกของเราด้วยสายตาใหม่ แนวความคิดเรื่องสุขภาพแบบองค์รวม การถือกำเนิดของทารกตามธรรมชาติ อาหารธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสนับสนุนให้มีข้อบังคับทางกฎหมายเพื่อป้องกันความฉ้อฉลของการค้ามนุษย์ เขาได้เล่าเรื่องวิถีปฏิบัติในการแลกเปลี่ยนสินค้าและการให้ทานของกลุ่มชาวเผ่าโทรเปียนแห่งหมู่เกาะเมลานีเชีย ซึ่งเป็นวิถีที่ปฏิบัติกันในสังคมดั้งเดิมหลายแห่งในที่อื่นๆ ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังมีทางออกและความหวังในการมีศรัทธาและเห็นว่าชีวิตนั้นงดงามและศักดิ์สิทธิ์

บุคคลผู้หนึ่งที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนของคิมเบรลและเป็นผู้เขียนคำนำให้กับเขา คือ เจเรมี ริฟกิน บางส่วนในคำนำเขาเขียนว่า ในโลกซึ่งอุดมการณ์ของตลาดได้ประสบชัยชนะเหนือความเชื่อและคุณค่าดั้งเดิมที่มีมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต ไม่น่าประหลาดใจเลยว่าความก้าวหน้าใหม่ ๆ ทางวิศวพันธุกรรมถูกยอมรับมากกว่าต่อต้าน

กระบวนการทางเทคโนโลยีและการทำให้ร่างกายมนุษย์เป็นสินค้า คือสัญญาณสุดท้ายของการเดินทาง 500 ปี นับจากเราได้ถือเอามวลแผ่นดินและมหาสมุทรอันยิ่งใหญ่ของโลกมาเป็นของเรา บรรยากาศก็ยังสามารถซื้อขายได้ เราเปลี่ยนระบบนิเวศวิทยาทั้งหมดมาเป็นสมบัติทางการค้า ขณะนี้เรากำลังทำให้ร่างกายของเราเองเป็นสินค้าด้วยพลังของตลาดยุคใหม่

ริฟกินสรุปว่า เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ จะเห็นได้ชัดว่าปีศาจได้ปรากฏกายที่ประตูบ้านแล้ว ในรูปของวิศวกรและนักธุรกิจ ลำพังแต่การต่อต้านมิอาจป้องกันอะไรได้ คำร้องของจากผู้เขียน คือ เปลี่ยนจิตสำนึก ความเข้าใจต่อความเป็นมนุษย์ รวมทั้งตำแหน่งแห่งที่และบทบาทอันถูกต้องของเราในโลกเสียใหม่ ผู้เขียนร้องขอให้เราสร้างก้าวกระโดดในศรัทธา ข้ามผ่านโลกแห่งพลังทางวัตถุอันคับแคบและมายาทางเทคโนโลยี