ทั่วโลก รัฐบาลต่างๆ ใช้งบมากกว่า 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกิดความเสียหายจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

ในขณะเดียวกัน ความพยายามของรัฐบาลทั่วโลกในด้านสภาพภูมิอากาศในขณะนี้ไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส นโยบายในปัจจุบันทำให้โลกอยู่บนเส้นทางที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจะเพิ่มเป็น 3 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับยุคก่อนอุตสาหกรรมและผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้วที่มาพร้อมกับโลกที่ร้อนขึ้น

การวิจัยล่าสุดเตือนว่า การลดลงชั่วคราวของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรค จะไม่ส่งผลต่อแนวโน้มสภาพภูมิอากาศในระยะยาว อย่างไรก็ตาม มาตรการฟื้นฟูสีเขียวที่แข็งแกร่งสามารถเปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นนี้ไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก 0.3 องศาเซลเซียสในช่วงกลางศตวรรษและช่วยจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ในการวิเคราะห์ใหม่ของเราซึ่งตีพิมพ์เป็นบทความ “เวทีนโยบาย” ในวารสาร Science เราแสดงให้เห็นว่า โอกาสที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้นทำได้หากนำเอางบประมาณจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก Covid-19 เพียงเศษเสี้ยวมาลงทุนในเรื่องของการฟื้นฟู “สภาพภูมิอากาศ”(“climate-positive” recovery) ทุกๆ ปี

การฟื้นฟู “สภาพภูมิอากาศ” ดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกและเร่งการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำและมาตรการประหยัดพลังงาน

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ชัดเจนว่า รัฐบาลทั่วโลกเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่จะกลายเป็นการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่แสนสาหัสจากการแพร่ระบาดของโควิด -19

สิ่งที่ชัดเจนพอ ๆ กันคือแนวทางที่โลกจะหลุดจากวิกฤตนี้จะมีผลต่อการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ความท้าทายสองด้านทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสุขภาพยังเป็นโอกาสโดยที่รัฐบาลหลายประเทศวางแผนรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ในการวิเคราะห์ของเรา เรามุ่งเน้นไปที่การทำให้ภาคพลังงานมีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ภาคพลังงานของโลกในปัจจุบันมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณสองในสามของทั้งระบบเศรษฐกิจ

การบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสนั้นขึ้นอยู่กับการลดลงอย่างมากในการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

เราเปรียบเทียบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกกับการลงทุนรายปีในด้านพลังงานที่จำเป็นในการขับเคลื่อนเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส การประมาณการชี้ให้เห็นว่าการลงทุนเหล่านี้ต้องการเงินประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีทั่วโลกระหว่างปี 2020 ถึง 2024

การค้นพบหลักของเราแสดงให้เห็นว่าส่วนแบ่งประมาณ 10% ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งลงทุนทุกปี นั้นเพียงพอที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานที่สะอาด หากเพิ่มลงไปในช่วงปี 2020-24 ก็จะเทียบเท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีการดำเนินการอยู่ ณ ปัจจุบัน

แผนภาพด้านล่างแสดงให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Covid-19 (แถบด้านซ้าย) เปรียบเทียบกับการลงทุนรายปีที่สอดคล้องต่อแนวทางไปสู่เป้าหมายความตกลงปารีส (ตรงกลาง) และการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเมื่อเทียบกับนโยบายที่มีอยู่ (ทางขวามือ)

แผนภาพสรุปตัวเลขเหล่านี้สำหรับ a) โลกโดยรวม และ c) สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย และจีน แผนที่ (b) แสดงขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละรายการสำหรับแต่ละภูมิภาคของโลกโดยที่วงกลมสีฟ้าระบุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นร้อยละของ GDP

ภาพรวมทั่วโลกเกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูจาก Covid-19 และการลงทุนประจำปีในระบบพลังงาน : A) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลของ Covid-19 (แถบสีฟ้า) รวมถึงการใช้จ่ายทั่วไป (มาตรการที่มุ่งเป้าไปที่ภาคเศรษฐกิจที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น การสนับสนุนบุคคล ครัวเรือน และธุรกิจ เช่นเดียวกับรายได้ก่อนหน้าและรายได้รอการตัดบัญชี) การลงทุนในภาคสุขภาพและการสนับสนุนสภาพคล่อง (เงินกู้การค้ำประกันและการดำเนินงานกึ่งการคลัง) การลงทุนด้านพลังงานเป็นตัวแทนของการลงทุนระบบพลังงานโดยเฉลี่ยต่อปีในระยะใกล้ (2020-24) ในแนวทางคาร์บอนต่ำที่สอดคล้องกับการบรรลุความตกลงปารีส การเปลี่ยนแปลงการลงทุนประจำปีแสดงถึงความแตกต่างของเชื้อเพลิงฟอสซิล (แท่งสีแดง) และการลงทุนคาร์บอนต่ำ (แท่งสีเหลือง) ระหว่างนโยบายปัจจุบันและแนวทางคาร์บอนต่ำที่สอดคล้องกับความตกลงปารีส พื้นที่สีเทาแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของการลงทุนสะสมในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2020-24 B) ภาพรวมของมาตรการทางการคลังระดับภูมิภาคของ Covid-19 ในรูปแบบสัมบูรณ์และเป็นส่วนแบ่งของ GDP C) เป็นแถบ A แต่สำหรับสี่ประเทศที่เลือกและขนาดเทียบกับ GDP เครดิต: Joeri Rogelj

เป็นที่น่าสังเกตว่ามาตรการฟื้นฟู ส่วนใหญ่คาดว่าจะถูกนำมาใช้ในช่วงเวลาประมาณห้าปีซึ่งเป็นหน้าต่างของโอกาสที่สำคัญในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

การลงทุนสีเขียว

เห็นได้ชัดว่า ลำดับความสำคัญของรัฐบาลในทันทีคือการสนับสนุนระบบการดูแลสุขภาพรักษา ความเป็นอยู่ และการจ้างงานที่มั่นคง แต่รายละเอียดที่แน่นอนเกี่ยวกับวิธีการใช้มาตรการกระตุ้นที่เหลือยังไม่ชัดเจนในปัจจุบันสำหรับประเทศส่วนใหญ่

ดังที่แสดงใน Carbon Brief’s tracker เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเป้าไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รัฐบาลบางประเทศได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ สามารถเปลี่ยนผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยตรง ตลอดจนผ่านนโยบายการสนับสนุน แรงจูงใจ ส่วนลด และการค้ำประกัน

อย่างไรก็ตาม ควรระลึกไว้เสมอว่าเกณฑ์สำหรับการระบุว่า การลงทุนนั้นเพื่อ “สิ่งแวดล้อม” ไม่ได้กำหนดไว้ ในการวิเคราะห์ของเรา เราได้จัดทำกรณีที่เป็นรูปธรรมว่าการฟื้นฟูของแกนหลักของทุกเศรษฐกิจสามารถสอดคล้องกับความพยายามที่มุ่งมั่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ด้วยนโยบายในปัจจุบันที่มีการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในด้านพลังงานสะอาด มันจึงไม่จำเป็นสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 10% ที่จะทุ่มเทให้กับการลงทุนคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ การลงทุนด้านพลังงานคาร์บอนต่ำทั้งหมดไม่จำเป็นต้องมาจากรัฐบาล แต่สัดส่วนนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ความแตกต่างของลำดับความสำคัญระหว่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ

ตัวอย่างเช่น การตอบสนองความต้องการพลังงานทั่วโลกในแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส คาดว่าจะต้องใช้เงิน 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีสำหรับการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในช่วงห้าปีข้างหน้า บวกอีก 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีที่ลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น การไปถึง 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับแนวทางที่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีสจะต้องใช้งบเพิ่มอีก 300 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีสำหรับพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งเทียบเท่ากับ 3% ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดที่ให้คำมั่นไว้จนถึงปัจจุบันหรือ 12% สะสมในช่วงห้าปีข้างหน้า

“การเปลี่ยนแปลงการลงทุน” เหล่านี้สามารถเห็นได้จากคอลัมน์ทางขวามือในแผนภูมิในรูปก่อนหน้านี้

นี่ไม่ได้หมายความว่าระบบพลังงานจะเปลี่ยนเป็นคาร์บอนต่ำอย่างสมบูรณ์ภายใน 5 ปี แต่ด้วยการลงทุนประจำปีเหล่านี้ เราจะทำให้เศรษฐกิจโลกเป็นก้าวสำคัญและเชิงบวกในการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

การถอนการลงทุน

ดังที่ได้มีการหยิบยกตัวอย่าง “แนวทางที่ไม่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส” ยังคงมีเงินจำนวนมากที่นำไปลงทุนในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น ในการบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีสจึงต้องมีการถอนการลงทุนในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การหลีกเลี่ยงมิให้ตกอยู่ในกับดักของแหล่งพลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษนั้นมีความสำคัญพอ ๆ กับการเพิ่มการลงทุนในระบบพลังงานหมุนเวียน

เมื่อรวมกับการเพิ่มขึ้นปีละ 300 พันล้านดอลลาร์สำหรับระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ การลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องลดลง 280 พันล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส

ความแตกต่างรายปีระหว่างการประมาณการทั้งสองราว 20,000 ล้านดอลลาร์นี้ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นการเปลี่ยนแปลงสุทธิของการลงทุนในระบบพลังงานทั้งหมดจากการคาดการณ์นโยบายปัจจุบันไปสู่การบรรลุเป้าหมาย 1.5C ของความตกลงปารีส – คิดเป็น 0.2% ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบัน นั่นเป็นเพียง 1% โดยรวมใน 5 ปีข้างหน้า

การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ(A climate-positive recovery) จะก่อให้เกิดประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในขณะที่กระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การสร้างงาน การกระตุ้นนวัตกรรม และการพัฒนาทางเทคโนโลยี สิ่งนี้ได้รับการให้ความสำคัญโดยรายงานล่าสุดหลายฉบับ รวมถึงการสำรวจผู้เชี่ยวชาญกว่า 230 คนทั่วโลกและแนวโน้มพลังงานโลกล่าสุดจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)

การวิเคราะห์ของเรายังชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในระดับภูมิภาคระหว่างประเทศทั้งในด้านความสามารถในการแก้ไขวิกฤตโควิด -19 และความต้องการลงทุนสำหรับระบบพลังงานสะอาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าเป็นส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กัน

ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้ให้คำมั่นสัญญากับกองทุนส่วนใหญ่สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรค แต่มีสัดส่วนการลงทุนด้านพลังงานคาร์บอนต่ำที่ต่ำที่สุดสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางที่บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส

ในขณะเดียวกัน ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดียได้ให้เงินทุนน้อยลงสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโรคระบาด แต่ต้องการการลงทุนมากขึ้นตามสัดส่วนเพื่อทำให้ระบบพลังงานของตนมุ่งไปสู่คาร์บอนต่ำในขณะที่จัดหาพลังงานที่เชื่อถือได้ สะอาด และราคาไม่แพงให้กับประชากร

ความไม่สมดุลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศและความพยายามในการแบ่งปันเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศโลก

ในแง่ที่เป็นรูปธรรม การวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่า เป้าหมายที่มุ่งมั่นมากขึ้นภายใต้ความตกลงปารีสในการ จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้นยังอยู่ไม่ไกล ความเป็นผู้นำที่เด็ดขาด การดำเนินการที่รวดเร็ว และการใช้คำแนะนำทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง น่าจะเป็นองค์ประกอบที่ดีในการรับมือกับวิกฤตโควิด -19 และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

แปลเรียบเรียงจาก https://www.carbonbrief.org/guest-post-how-the-global-coronavirus-stimulus-could-put-paris-agreement-on-track