วิวัฒนาการของพื้นที่ป่าไม้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. (A) การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าตั้งแต่ปี 2000-2013 การวิเคราะห์อนุกรมเวลาของภาพดาวเทียม Landsat ที่มีความละเอียด 30 × 30 ม. ลักษณะของพืชพรรณที่ปกคลุม (ความเสถียรหรือการเปลี่ยนแปลงในช่วง 13 ปี) ระบุด้วยรหัสสี : สีเหลือง :- ป่าดั้งเดิมที่เหลืออยู่ (ป่าดั้งเดิมถูกกำหนดให้เป็นป่าไม้ผสมและระบบนิเวศที่ไม่มีต้นไม้ตามธรรมชาติภายในขอบเขตของป่าในปัจจุบันซึ่งไม่มีกิจกรรมของมนุษย์หรือการกระจายตัวของที่อยู่อาศัยจากการตรวจสอบจากระยะไกลและมีขนาดใหญ่พอที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพดั้งเดิมทั้งหมด) สีแดง:- ป่าดั้งเดิมที่หายไป, สีดำ:- การสูญเสียป่าไม้, สีเขียว:- พื้นที่ป่า, สีเขียวอ่อน:- พืชพรรณปกคลุมหนาแน่นต่ำ, สีขาว: พื้นที่เพาะปลูกและการตั้งถิ่นฐานรวมถึงเมือง) ประเภทของ coronaviruses ที่แยกได้และมีการอธิบายในหลายประเทศในเอเชียจะถูกนำเสนอพร้อมกับสายพันธุ์ค้างคาวที่แยกได้ (B) ตัวอย่างการสูญเสียพื้นที่ป่าใน สปป. ลาวโดยมีหลักฐานการปกคลุมของพืชพรรณหนาแน่นต่ำ วิวัฒนาการของสิ่งปกคลุมดินตั้งแต่ปี 2000 ถึงปี 2013 ข้อมูลที่ได้รับโดยใช้ความละเอียด 30 × 30 เมตร (สีดำ:-การสูญเสียป่าไม้ : ป่าปกคลุมสีเขียวอ่อน: ต้นไม้ที่มีความหนาแน่นต่ำ) (C) ตัวอย่างการสูญเสียพื้นที่ป่าในกัมพูชาซึ่งการตัดไม้ทำลายป่าเชื่อมโยงกับการค้าไม้และการเกษตร วิวัฒนาการของสิ่งปกคลุมดินตั้งแต่ปี 2000-2013 ข้อมูลที่ได้รับโดยใช้ความละเอียด 30 × 30 ม. (สีดำ:-การสูญเสียป่าไม้ : ป่าปกคลุมสีเขียวอ่อน: ต้นไม้ที่มีความหนาแน่นต่ำ) (D) ตัวอย่างการสูญเสียพื้นที่ป่าในเกาะสุมาตรา (อินโดนีเซีย) ซึ่งการตัดไม้ทำลายป่าเชื่อมโยงกับการเติบโตของประชากรและแรงกดดันทางการเกษตร วิวัฒนาการของสิ่งปกคลุมดินตั้งแต่ปี 2000-2013 ข้อมูลที่ได้รับโดยใช้ความละเอียด 30 × 30 เมตร (สีดำ:-การสูญเสียป่าไม้ : ป่าปกคลุมสีเขียวอ่อน: ต้นไม้ปกคลุมหนาแน่นต่ำ)

โรคระบาดใหม่ทุกชนิดที่เกิดจากสัตว์เริ่มจากการที่มนุษย์สัมผัสกับสัตว์ป่า และมีแนวโน้มว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการรบกวนความหลากหลายทางชีวภาพอาจมีส่วนในการกำหนดความถี่ เวลา และตำแหน่งแห่งที่ของการปะทะประสานเหล่านี้ ศาสตราจารย์ Hans-Otto Poertner หัวหน้าฝ่ายชีววิทยาศาสตร์ของสถาบัน Alfred Wegener (AWI) และประธานร่วมของการเขียนบทว่าด้วยผลกระทบในรายงานการประเมินฉบับต่อไปของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) บอกกับ Carbon Brief ว่า :

“วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์เหล่านี้อย่างชัดเจน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตทางชีวภูมิศาสตร์ หากในอนาคต เราเห็นสิ่งมีชีวิตเคลื่อนย้ายเข้ามาในพื้นที่ที่มีมนุษย์ปรากฎอยู่ เราอาจเห็นโอกาสใหม่ ๆ ของโรคระบาดใหญ่ที่จะพัฒนาขึ้น”

การวิจัยแสดงให้เห็นว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในมหาสมุทร เนื่องจากเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นและระดับน้ำฝนเปลี่ยนไป สิ่งมีชีวิตบางชนิดจึงถูกบังคับให้แสวงหาพื้นที่ใหม่ที่มีสภาพภูมิอากาศที่สามารถทนได้ (สายพันธุ์ที่ไม่สามารถปรับตัวได้อาจเผชิญกับการสูญพันธุ์)

บทวิจารณ์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ในปี 2017 โดยมองไปที่ 40,000 สายพันธุ์ทั่วโลก พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งมีการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยไปแล้วอันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

โดยทั่วไปแล้ว สิ่งมีชีวิตต่างต้องการอุณหภูมิที่เย็นกว่าโดยการเคลื่อนตัวเข้าหาขั้วโลก จากการศึกษา สัตว์บกกำลังเคลื่อนที่ไปตามแนวขั้วโลกด้วยอัตราเฉลี่ย 10 ไมล์ต่อทศวรรษในขณะที่สัตว์ทะเลกำลังเคลื่อนที่ด้วยอัตรา 45 ไมล์ต่อทศวรรษ

พะยูนกำลังกินอาหารในแหล่งหญ้าทะเลเกาะ Dimakya ปาลาวัน ฟิลิปปินส์ เครดิตภาพ : Nature Picture Library / Alamy Stock Photo

อย่างไรก็ตาม การศึกษาระบุว่า การเคลื่อนย้ายของสัตว์มีความซับซ้อนโดยปัจจัยอื่นๆ เช่น ความพร้อมของอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป การกระจายตัวของสัตว์นักล่าที่เปลี่ยนไป และแบบแผนการใช้ที่ดินของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป ทำให้ยากที่จะคาดเดาได้ว่าสิ่งมีชีวิตจะย้ายไปที่ใด

ศาสตราจารย์ Birgitta Evengard นักวิจัยอาวุโสด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัย Umea ในสวีเดนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทวิจารณ์กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าการเคลื่อนย้ายของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตจะส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ เธอกล่าวกับ Carbon Brief :

“เมื่อสัตว์บกเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน จะนำ [ไวรัส] มาด้วย – และไวรัสจะแพร่กระจาย”

Poertner กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีงานวิจัยระดับใหญ่ที่เจาะลึกว่าการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนโดยสภาพภูมิอากาศต่อการเคลื่อนย้ายของสัตว์อาจส่งผลต่อโอกาสของการแพร่ระบาดของโรคในระดับโลกได้อย่างไร

ในตัวอย่างหนึ่ง งานวิจัยของ Redding พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการระบาดของโรคอีโบลาใหม่ในส่วนต่างๆ ของแอฟริกาภายในปี พ.ศ.2613

เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจทำให้พื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นทะเลทรายอุ่นขึ้นและเปียกชื้นซึ่งนำไปสู่การก่อตัวของพืชเขียวชอุ่มที่ค้างคาวใช้เป็นที่อยู่อาศัย การศึกษาพบว่า การเคลื่อนย้ายของค้างคาวไปยังพื้นที่ใหม่เหล่านี้สามารถเพิ่มการสัมผัสระหว่างค้างคาวกับมนุษย์ เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายของโรค

ค้างคาวกินผลไม้ (จิ้งจอกบิน) ใน Tissamaharama ศรีลังกา เครดิตภาพ : paul kennedy / Alamy Stock Photo

อีกการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของไวรัสเฮนดราซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากสัตว์ที่สามารถแพร่กระจายจากค้างคาวกินผลไม้สู่คนผ่านม้าซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัสเช่นเดียวกัน

ไวรัสดังกล่าวได้รับการระบุครั้งแรกเมื่อมีการระบาดในเขตเฮนดรา ชานเมืองบริสเบน ออสเตรเลียในปี พ.ศ.2537 ตั้งแต่นั้นมา มีการระบาดอย่างน้อยแปดครั้งตามชายฝั่งทางตอนเหนือของออสเตรเลียตามรายงานของ WHO มีอัตราการเสียชีวิต 50-75%

การระบาดของไวรัส Hendra ในออสเตรเลีย ที่มา : WHO

การวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของค้างคาวกินผลไม้ขยายตัวไปทางทิศใต้และตอนในของทวีป ผู้เขียนกล่าวว่า “เหตุการณ์การแพร่กระจายอาจเพิ่มขึ้นไปทางใต้และตอนในของทวีปจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” ผู้เขียนกล่าว

ในที่อื่นๆ การพิมพ์ล่วงหน้าล่าสุดซึ่งเป็นการศึกษาเบื้องต้นที่ยังไม่เสร็จสิ้นการทบทวน(peer review) – ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถผลักดันให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคใหม่ ๆ จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่คนเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในปี พ.ศ.2613

จากการใช้แบบจำลอง ศึกษาแผนที่ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมราว 4,000 ชนิดและโรคที่พวกมันเป็นพาหะมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนย้ายไปภายในปี พ.ศ. 2613 พบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะรวมตัวกันที่ระดับความสูง ในจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และในพื้นที่ที่มีประชากรมนุษย์หนาแน่นสูงในเอเชียและแอฟริกา แบ่งปันแลกเปลี่ยนไวรัสใหม่ๆ ระหว่าง 3,000 ถึง 13,000 ครั้ง”

ผู้เขียนกล่าวเพิ่มเติมว่า : “การแบ่งปันแลกเปลี่ยนไวรัสที่คาดการณ์ไว้ส่วนใหญ่เกิดจาก hyperreservoirs ที่หลากหลาย(หนูและค้างคาว) และสัตว์ผู้ล่าที่มีร่างกายขนาดใหญ่ (สัตว์กินเนื้อ)”

Poertner กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญสำหรับ IPCC ที่จะต้องรวบรวมหลักฐานใหม่ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลต่อการแพร่กระจายของโรคจากสัตว์สู่คนในรายงานการประเมินที่สำคัญครั้งต่อไปซึ่งจะออกเผยแพร่ในปี 2564-65 :

“เราคาดว่าจะรวมประเด็นนี้เข้าไปด้วยจากการที่มีความชัดเจนมากขึ้นจากการวิจัยต่างๆ ที่มีการตีพิมพ์”

ขนาดของผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสัตว์ป่าในปัจจุบันเป็นอันดับสองรองจากความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของมนุษย์ รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ และความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์

ในการประเมินครั้งสำคัญครั้งแรกเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพที่เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562 IPBES รายงานว่า มนุษย์ได้”เปลี่ยนแปลง” 75% ของพื้นแผ่นดินและ 66% ของมหาสมุทรทั่วโลก ในช่วงปี 2553-2558 ป่าธรรมชาติหรือผืนป่าที่ฟื้นตัว 32 ล้านเฮกตาร์ถูกมนุษย์แผ้วถาง พื้นที่นี้มีขนาดเท่ากับขนาดของประเทศอิตาลีโดยประมาณ

รายงานสรุปว่า จากแรงกดดันอย่างต่อเนื่องที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งมีชีวิตราวหนึ่งล้านชนิดถูกคุกคามจากการสูญสิ้นพันธุ์ภายในอีกสองสามทศวรรษข้างหน้า

รายงานระบุว่าแรงกดดันอย่างต่อเนื่องที่มีต่อสัตว์ป่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มการติดต่อสัมผัสระหว่างสัตว์และมนุษย์ซึ่งจะเปลี่ยนโอกาสในการแพร่กระจายของโรค ในบทที่สามของรายงานฉบับเต็ม ผู้เขียนกล่าวว่า :

“ความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนระหว่างการรบกวนของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การสูญเสีย/พังทลายของถิ่นที่อยู่อาศัย และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ล้วนเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของความชุกและความเสี่ยงของโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์สำหรับเชื้อโรคต่างๆ”

อย่างไรก็ตาม การวิจัยยังมีข้อจำกัดในเรื่องที่ว่า การรบกวนความหลากหลายทางชีวภาพอาจส่งผลต่อความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากสัตว์ในระดับโลกอย่างไร

“กลไกเชิงสาเหตุเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับโรคติดเชื้อเพียงไม่กี่ชนิด และบางครั้ง ก็ยากที่จะหยิบยกถึงปัจจัยขับเคลื่อนของโรคเพื่อที่จะแยกแยะผลกระทบโดยตรงของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมออกจากกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์”

การวิจัยแสดงให้เห็นว่า การล่าเนื้อสัตว์ป่าการตัดไม้ทำลายป่า และการค้าขายสัตว์ป่าในตลาด สามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคระบาดที่ติดต่อระหว่างสัตว์และมนุษย์

ในปี 2561 การศึกษาเตือนถึงความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างการตัดไม้ทำลายป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นของการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาวสู่คน ผู้เขียนกล่าวว่า:

“เนื่องจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ประชากรค้างคาวจึงตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์มากขึ้น…สิ่งนี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสผ่านการสัมผัสโดยตรง การติดเชื้อจากสัตว์ในบ้าน หรือการปนเปื้อนจากปัสสาวะหรืออุจจาระ”

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในเดือนเมษายนของปีนี้ได้พิจารณาถึงปัจจัยผลักดันการแพร่กระจายของโรคจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่คนทั่วโลก โดยสรุปว่า

“การค้นพบของเราแสดงหลักฐานเพิ่มเติมว่าการแสวงหาผลประโยชน์ตลอดจนกิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียคุณภาพของถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าได้เพิ่มโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับมนุษย์และเอื้อให้เกิดการแพร่ระบาดโรคจากสัตว์”

ยังมีข้อสังเกตว่า “สัตว์ที่นำมาเลี้ยง สัตว์จำพวกไพรเมท และค้างคาวถูกระบุว่ามีไวรัสจากสัตว์มากกว่าสายพันธุ์ชนิดอื่น”

กราฟด้านล่างที่นำมาจากการศึกษา แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสมบูรณ์ของไวรัสและความสมบูรณ์ของสายพันธุ์สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มต่างๆ ได้แก่ หนู ค้างคาว ไพรเมต สัตว์กินเนื้อ อาร์ติโอแดคทิลา (สัตว์กีบ เช่น แพะ แกะ และยีราฟ) ลาโกมอร์ฟา (กระต่าย ปิกา และกระต่าย) และยูลิโพไทฟลา (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินแมลงเช่น เม่นและหนูพุก)

ความสัมพันธ์ระหว่างความสมบูรณ์ของไวรัสและความสมบูรณ์ของสายพันธุ์สำหรับกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งรวมถึง หนู ค้างคาว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์กินเนื้อ อาร์ติโอดัคทิลา (สัตว์กีบเท้า เช่น แพะ แกะ และยีราฟ) ลาโกมอร์ฟา (กระต่าย ปิกา และกระต่าย) และยูลิโพไทฟลา (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินแมลง เช่น เม่น และหนูพุก) ที่มา: Johnson et al. 2020 ผลิตซ้ำภายใต้ Creative Commons 4.0

กราฟแสดงให้เห็นว่ากลุ่มสัตว์ฟันแทะมีทั้งจำนวนสายพันธุ์ที่แตกต่างกันมากที่สุดและจำนวนไวรัสที่แตกต่างกันมากที่สุด ตามด้วยค้างคาว และไพรเมต

Redding กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของโรคมีแนวโน้มที่จะผสมรวมหรือปนเปเข้าด้วยกัน

ตัวอย่างเช่นงานวิจัยของเขาพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถสร้างถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับค้างคาวที่เป็นพาหะของอีโบลา อย่างไรก็ตาม ระดับที่จะนำไปสู่การแพร่กระจายของโรคมากขึ้นอาจขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่ของสัตว์อย่างไรในอนาคต

“จำนวนผู้คนและวิธีที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่นั้นน่าจะมีอิทธิพลต่อผลกระทบที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”

Poertner กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการรบกวนความหลากหลายทางชีวภาพอาจเพิ่มความเสี่ยงจากการแพร่กระจายในลักษณะเดียวกันโดยการเปิดช่องทางใหม่ระหว่างมนุษย์และสัตว์

“เป็นเรื่องของการที่มนุษย์เปิดการเชื่อมต่อกับธรรมชาติที่ไม่เคยมีมาก่อน และคุณได้เผชิญหน้ากับมัน”

ที่มา : https://www.carbonbrief.org/q-and-a-could-climate-change-and-biodiversity-loss-raise-the-risk-of-pandemics?utm_source=Web&utm_medium=contentbox&utm_campaign=Covid-box