เมื่อโครงการฉีดวัคซีน COVID-19 เริ่มต้นขึ้นในปี 2564 นี้ เริ่มต้นด้วยความหวังว่าจะนำไปสู่การสิ้นสุดของการแพร่ระบาด เราต้องการภาวะผู้นำที่กล้าหาญ การตัดสินใจที่ยากลำบาก และการจัดหาเงินทุนโดยเฉพาะ เพื่อนำเรามาถึง ณ จุดนี้ ในขณะเดียวกัน เราต้องใช้ความเข้มแข็งแบบเดียวกันเพื่อต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หรือมิฉะนั้น ก็ต้องเสียเวลาไปอีกหลายปีจนไปถึงจุดที่เลวร้ายในท้ายที่สุด

ปี 2563 – มีแนวโน้มที่จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติการณ์ – เกิดพายุ ไฟป่า ภัยแล้งยาวนาน น้ำท่วม และธารน้ำแข็งละลาย การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากโรคระบาดทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงชั่วคราว แต่มีผลน้อยมากต่อแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในระยะยาว การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศและเรากำลังปล่อยเพิ่มเข้าไป
แม้ว่าประเทศต่างๆ จะดำเนินการตามคำมั่นสัญญาโดยสมัครใจที่มีอยู่ล่าสุด หรือที่เรียกว่า เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (nationally determined contributions-NDCs) – ภายใต้ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราก็ยังคงมุ่งหน้าไปสู่การคาดการณ์ที่ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทผิวโลกจะเพิ่มเป็น 3.2 องศาเซลเซียส (4.4 F) เทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 วิกฤตโลกร้อนนี้จะนำมาซึ่งความเจ็บปวด ความทุกข์ยาก และการพลิกผันซึ่งซ้อนทับทุกสิ่งทุกอย่างที่ Covid -19 ตกอยู่กับเรา
เราใกล้ถึงจุดที่มิอาจหวนกลับ
ผู้นำทั้งหลายสามารถดึงให้โลกห่างออกมาจากจุดนั้นได้ โดยการลงทุนเพื่อทางออกที่ยั่งยืนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามฟื้นฟูผลกระทบจากโรคระบาด รายงานช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี 2020(Emissions Gap Report 2020) ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) บอกเราว่า ปฏิบัติการดังกล่าว(การลงทุนเพื่อทางออกที่ยั่งยืน)สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 ลงได้ 25% ซึ่งจะทำให้โลกมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายคามตกลงปารีส จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ที่ 2 องศาเซลเซียส ภาระผูกพันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อาจทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสมากขึ้นด้วย
เตรียมวิ่งมาราธอน
มาตรการฟื้นฟูที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอื่นๆ เราต้องการการสนับสนุนโดยตรงสำหรับเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ การยุติการอุดหนุนถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล นโยบายที่เอื้อให้เกิดการบริโภคแบบคาร์บอนต่ำ การหาทางออกบนพื้นฐานของธรรมชาติ – รวมถึงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ขนาดใหญ่และการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ที่ดำเนินการภายใต้แผนงานทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของสหประชาชาติซึ่งจะเริ่มในปีนี้
แต่จนถึงขณะนี้ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ลงทุนในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้ต้องเปลี่ยน
ปี 2564 ยังเป็นปีที่จะมีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งเป็นนัดสำคัญของประเทศต่างๆ ที่ลงนามในความตกลงปารีส ตามรายงานช่องว่างของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มี 126 ประเทศได้รับรอง ใช้ ประกาศ หรือกำลังพิจารณาแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หากรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯเข้าร่วมความตกลงปารีสตามที่สัญญาไว้ ประเทศต่างๆ ที่เมื่อรวมกันแล้วมีสัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 63% ของโลก จะต้องมุ่งมั่นไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์)
แต่เช่นเดียวกับบุคคลที่ให้คำมั่นสัญญาในวันแรกของเดือนมกราคมว่าจะวิ่งมาราธอนภายในสิ้นปี เราต้องดำเนินการตามขั้นตอนเฉพาะ โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ เราจึงมีความพร้อมในการแข่งขัน คำมั่นสัญญาเหล่านี้จะต้องทำอย่างเร่งด่วนให้เป็นนโยบายและปฏิบัติการระยะสั้นที่แข็งแกร่ง พร้อมไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ(คาร์บอนต่ำ)จากโรคระบาด คำมั่นสัญญานี้ต้องผนวกอยู่ในเป้าหมายใหม่ในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ(NDC)ที่แข็งแกร่งขึ้นก่อนการประชุม COP26 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ มิฉะนั้น ก็จะเป็นคำมั่นสัญญาที่ว่างเปล่า
ขยายเงินทุนเพื่อการปรับตัวรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการช่วยประเทศและชุมชนที่เปราะบางในการจัดการกับผลกระทบที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รายงานช่องว่างการปรับตัว(UNEP’s Adaptation Gap Report)ของ UNEP ซึ่งจะเผยแพร่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าจะแสดงให้เห็นว่าเรายังไม่ได้ปรับตัวอย่างจริงจัง การเงินยังคงต่ำกว่าระดับที่กำหนด และความคิดริเริ่มส่วนใหญ่ยังไม่สามารถลดความเสี่ยงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ ดังที่เลขาธิการ UN กล่าวว่า เราต้องการความมุ่งมั่นระดับโลก ที่จะนำเงินครึ่งหนึ่งของการเงินว่าด้วยสภาพภูมิอากาศโลกไปที่การปรับตัวรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศก่อนการประชุม COP26
ในปีนี้ เรามีโอกาสอย่างแท้จริงที่จะรับมือกับภัยพิบัติจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ด้วยการใช้ทรัพยากร(ที่นำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ)อย่างชาญฉลาดเพื่อเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่แท้จริง วางแผนและติดตามตรวจสอบผ่านเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ(NDC) ที่แข็งแกร่งขึ้น และคำมั่นสัญญาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เราไม่เพียงสามารถบรรลุเป้าหมาย 2 ° C ของความตกลงปารีสได้ หากแต่มีโอกาสต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมาย 1.5 ° C ได้อีกด้วย
เราต้องใช้โอกาสนี้เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติของเรา และในทางกลับกัน สุขภาพของมนุษย์ สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า
แปลเรียบเรียงจาก https://www.dw.com/en/opinion-we-are-close-to-the-point-of-no-return/a-56122609 เขียนโดย Inger Andersen – the executive director of the UN Environment Programme.