ในขณะที่ 187 ประเทศเห็นชอบที่ควบคุมการค้าขยะพลาสติก แต่สหรัฐอเมริกาไม่มีแผนที่จะหยุดส่งขยะออกนอกประเทศเพราะไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal)

นับจากวันที่ 1 มกราคม 2564 ภายใต้อนุสัญญาบาเซล จะผิดกฎหมายทันทีสำหรับ 187 ประเทศรวมถึง จีน เม็กซิโก มาเลเซียอินเดีย และอินโดนีเซียที่เป็นภาคีอนุสัญญาบาเซล ทั้ง 187 ประเทศนี้ยังได้ลงนามใน Basel Ban Amendment หากรับเอาขยะพลาสติกผสมและปนเปื้อนที่ส่งออกมาจากสหรัฐอเมริกา อนุสัญญาบาเซลให้อำนาจตามกฎหมายแก่ประเทศเหล่านั้นในการสกัดกั้นการนำเข้าขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนและไม่สามารถรีไซเคิลได้

ส่วนประเทศไทย แม้ว่าจะให้สัตยาบัน (Ratification) เป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาบาเซล เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 และอนุสัญญามีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2541 แต่ก็ยังไม่ลงนามใน Basel Ban Amendment จนถึงปัจจุบัน

สหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาบาเซลและยังคงส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศที่มีแรงงานราคาถูกและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมต่ำ สหรัฐอเมริกามีอัตราการเกิดขยะพลาสติกต่อคนที่มากที่สุดในโลกและส่งออกขยะพลาสติก 1 ล้านตันต่อปีไปยังประเทศต่างๆ

เนื่องจากมีประเทศทั่วโลกที่ปฏิเสธการรับขยะพลาสติกจากสหรัฐอเมริกามากขึ้น ปัจจุบัน ขยะพลาสติกถูกส่งไปยังประเทศกำลังพัฒนาเล็กๆ ที่กำลังเผชิญวิกฤตขยะ

ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 สหรัฐอเมริกาส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศที่ไม่อยู่ในกลุ่มประเทศ OECD เพิ่มขึ้น 25% จาก 77,424 เป็น 97,093 ตัน และหลังจากการประท้วงการทิ้งขยะพลาสติกนำเข้าที่เกิดขึ้นในเอเชีย ขยะพลาสติกจึงเคลื่อนย้ายสู่ละตินอเมริกาอย่างน่าตกใจ ในไตรมาสแรกของปี2563 ละตินอเมริการับขยะพลาสติก 11,017 ตัน และในไตรมาสที่ 3 การส่งขยะพลาสติกไปยังเม็กซิโก ฮอนดูรัสเอลซัลวาดอร์ และประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกาเพิ่มขึ้น 73% เป็น 19,061 ตัน

ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐอเมริกาจะต้องจัดการขยะพลาสติกของตัวเอง!

ที่มา :