วิถีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับโอกาส 66% ในการบรรลุเป้าหมาย 1.5C โดยไม่ต้องพึ่งพาการปล่อยสุทธิติดลบ(การดึงก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ) ภายในปีเริ่มต้น เส้นทึบสีดำแสดงการปล่อยก๊าซเรืนกระจกในอดีต ในขณะที่เส้นสีแสดงเส้นทางที่แตกต่างกันเพื่อจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 1.5C | ที่มา : Carbon Brief

Covid-19 และวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ทางออกของความท้าทายนี้ เราต้องต่อกรกับรากเหง้าของมัน นั่นคือ ระบบเศรษฐกิจที่กำลังทำลายโลกใบนี้

ปี 2563 ที่ผ่านมา จะเป็นปีที่ถูกจดจำสำหรับหลายๆ สิ่ง และขอบอกตามตรงว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องแย่ๆ แต่ท่ามกลางความทุกข์ยาก ก็มีเรื่องดีๆ อยู่บ้าง

ปี 2563 อาจเป็นครั้งแรกของความทรงจำที่มีชีวิตของเรา เมื่อรัฐบาลบางประเทศทั่วโลกลงมืออย่างแข็งขันเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ(สาธารณสุขและสุขภาวะ) ให้อยู่เหนือผลกำไรส่วนตัว สำหรับโลกที่ถูกครอบงำด้วยตรรกะของระบบทุนนิยม นี่ไม่ใช่แค่ชัยชนะเล็กๆ

อาจกล่าวได้ว่า มันเป็นการรับมือเพียงครั้งเดียวต่อการระบาดของโรคครั้งเดียว แต่เราเข้าใจผิด ทั้งในแง่ธรรมชาติของ COVID-19 และทุนนิยมโลก หากคุณหวังว่า เราจะละทิ้งการตัดสินใจทางการเมืองที่มีชีวิตหรือความตายไว้ข้างหลังในปี 2563 อยากจะบอกว่าเราต้องผิดหวัง เนื่องจากในปี 2564 เดิมพันเหล่านี้ยิ่งสูงขึ้น

ประการแรก ในบางบริบท ก่อนที่ Covid -19 กลายเป็นประเด็นทั่วโลก ความท้าทายหลักของมนุษยชาติก็ชัดเจนนั่นคือ ระบบเศรษฐกิจของเราที่มีฐานอยู่บนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ผลักดันให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอยู่เหนือพื้นที่ปลอดภัยซึ่งคุกคามรากฐานต่างๆ ที่อารยธรรมมนุษย์ต้องพึ่งพา หากปราศจาก “การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว กว้างไกล และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในทุกด้านของสังคม” เราอยู่บนเส้นทางของการเผชิญกับความเสียหายที่ร้ายแรงและไม่สามารถย้อนกลับที่มีต่อสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศวิทยาของเราและจุดจบแห่งชีวิตที่เรารู้กัน

การตระหนักถึงความเป็นจริงอันแจ่มแจ้งนี้ ในปี 2558 ผู้นำโลกได้ลงนามในความตกลงปารีสเพื่อมุ่งจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (เทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม) การบรรลุเป้าหมายนี้ จะต้องมีการระดมทรัพยากรจากทั่วโลกในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าจะดูดีบนกระดาษ แต่ส่วนใหญ่ ย้อนแย้งกับการลงมือทำ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้นทุกปีหลังจากทั่วโลกลงนามในความตกลงปารีส ทำให้ “งบดุลคาร์บอน” ของเราที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส น้อยลง การคาดการณ์ในปัจจุบัน คาดว่าโลกจะทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียสในเวลาไม่ถึงทศวรรษ – และร้อนขึ้นถึง 3 องศาเซล ภายในสิ้นศตวรรษนี้ แต่ละปีที่ผ่านไปของการไม่ลงมือทำ ก่อให้เกิดผลที่ทบทวีคูณและความจำเป็นที่ต้องมีการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างรวดเร็วมากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

โดยสรุป : เวลาหมดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุผลนี้เพียงอย่างเดียว ปี 2564 จึงเป็นปีที่สำคัญในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่แล้ว COVID-19 ก็เข้ามา

‘การหยุดชั่วคราวครั้งใหญ่’

เมื่อ 12 เดือนที่แล้ว ดูเหมือนว่าปี 2563 จะเป็นปีที่ทำลายสถิติอีกครั้งสำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เนื่องจากโควิด -19 แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ธุรกิจต่างๆ จึงถูกบังคับให้ปิด การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก กิจกรรมต่างๆ จึงถูกยกเลิก และผู้คนถูกบอกให้แยกตัวอยู่ที่บ้าน

ไม่น่าแปลกใจที่ ‘การหยุดชั่วคราวครั้งใหญ่‘ นี้ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง จากข้อมูล Global Carbon Project การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลดลง 7% ในปี 2563 แม้จะเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับสิ่งที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส หากเราต้องจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ที่ 1.5C การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องลดลง 14% ทุกปีจนถึงปี 2583

บางคนอ้างว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงเหล่านี้เป็นหลักฐานว่า Covid-19 ช่วย“ กอบกู้โลก” การกล่าวอ้างเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ ความคิดที่ว่าการแพร่ระบาดของโรคที่ก่อให้เกิดความทุกข์ยากครั้งใหญ่และคร่าชีวิตผู้คนมากกว่าหนึ่งล้านคนควรได้รับการเฉลิมฉลองนั้นชัดเจนว่าผิดเพี้ยน การถูกล็อกดาวน์จากการระบาดของโรคนั้นไม่ได้เป็นแบบจำลองสำหรับปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญกว่านั้นคือ ผู้ที่กล่าวว่าการระบาดของโรคจะช่วยให้สิ่งแวดล้อมฟื้นคืนเป็นดังเดิม เช่นเดียวกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ COVID-19 มีที่มาจากการที่กิจกรรมของมนุษย์รุกล้ำระบบนิเวศตามธรรมชาติ ในขณะที่ ประเทศต่างๆ พยายามขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมต่างๆ เช่น การตัดไม้อุตสาหกรรม เหมือง การสร้างถนน การเกษตรเชิงเดี่ยวแบบเข้มข้น และการขยายตัวของเมือง เกิดการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้คนสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ชนิดต่างๆ มากขึ้น Inger Andersen หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติกล่าวว่า “ ไม่เคยมีโอกาสมากมายขนาดนี้มาก่อนสำหรับเชื้อโรคที่จะแพร่กระจายจากสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงไปสู่คน”

ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า 3 ใน 4 ของโรคระบาดใหม่หรือโรคอุบัติใหม่ที่ทำให้มนุษย์ติดเชื้อในสัตว์ ในกรณีของ COVID-19 เชื่อกันว่า ไวรัสมีต้นกำเนิดจากประชากรค้างคาวของจีน และแพร่กระจายสู่คนผ่านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ในขณะที่ COVID-19 อาจเป็นการระบาดครั้งแรกที่พวกเราหลายคนประสบ แต่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

ดังนั้น COVID-19 จึงไม่ใช่การกระทำแบบสุ่มของพระเจ้า เช่นเดียวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เป็นอาการของการพังทลายของสิ่งแวดล้อมที่เร่งเร็วขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงของแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบไม่มีที่สิ้นสุดและการสะสมทุน ด้วยเหตุนี้ ความคิดที่ว่า COVID-19 สามารถช่วยวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้นั้นเป็นเรื่องที่ไร้สาระ Covid-19 และวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน เราต้องจัดการกับสาเหตุที่แท้จริง

ฟื้นคืนให้ดีขึ้น?

ในขณะที่วัคซีนเริ่มกระจายไปทั่วโลก ความสนใจขณะนี้จึงหันมาสนใจว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มต้นใหม่ได้อย่างไร ด้วยการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้นำจะเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อคืนสถานะ “ธุรกิจตามปกติ” โดยเร็วที่สุด แต่การทำเช่นนี้จะไม่ใช่การกระทำที่เป็นกลาง แต่เป็นการตัดสินใจที่จะทำให้วิกฤตสิ่งแวดล้อมของเราแย่ลง การกลับไปสู่แนวทางที่ดำเนินไปตามปกติหลังจากเอาชนะ COVID-19 ก็เหมือนกับการเฉลิมฉลองการเอาชนะมะเร็งปอดด้วยการสูบบุหรี่หนึ่งร้อยมวน เราจะไม่ได้รักษาต้นเหตุของโรคได้เลย

การแพร่ระบาดของโลกแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างถอนรากถอนโคนในกรอบเวลาสั้น ๆ หากมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะทำเช่นนั้น หลายประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะ “ฟื้นคืนให้ดีขึ้น” จากการแพร่ระบาดของโรค ในปี 2564 สำนวนโวหารนี้ต้องทำให้เป็นความเป็นจริง หากการแพร่ระบาดของโรคไม่อาจกู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม แนวทางที่เราจัดโครงสร้างการฟื้นฟูจากโรคระบาดสามารถทำได้อย่างแน่นอน

แทนที่จะใช้เงินหลายพันล้านเพื่อสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่หนทางแห่งการทำลายล้าง รัฐบาลต้องสร้างแนวทางที่แตกต่าง โดยเพิ่มโครงการลงทุนจำนวนมากเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และทำให้รอยเท้าด้านสิ่งแวดล้อมของเราอยู่ในขอบเขตที่เป็นธรรมและยั่งยืน ประเทศต่างๆใน Global North ที่มีบทบาทที่ไม่สมส่วนในการก่อให้เกิดการพังทลายของสิ่งแวดล้อม มีพันธะทางศีลธรรมที่จะต้องทำให้เป็นตัวอย่าง ในขณะที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมระดับโลก เช่นเดียวกับ การจัดวางเศรษฐกิจโลกให้อยู่บนเส้นทางที่ยั่งยืนมากขึ้น สิ่งนี้จะสร้างคลื่นลูกใหม่ของงานที่มีทักษะสูง ที่สำคัญคือจะทำให้การระบาดของโรคที่เกิดจากสัตว์ในอนาคตเช่น COVID-19 มีโอกาสน้อยลงมาก

บางคนจะตั้งคำถามว่า เราสามารถทำสิ่งนั้นได้ไหม แต่การระบาดของโรคแสดงให้เห็นว่าความสามารถในการจ่ายเป็นข้อจำกัดทางการเมืองเสมอ ไม่ใช่เรื่องทางเทคนิค ธนาคารกลางได้สร้างเงินหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจตลอดช่วงวิกฤต – การนำงบประมาณแม้เพียงเศษเสี้ยว เพื่อการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็สามารถทำให้โลกก้าวไปสู่การบรรลุเป้าหมายอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่ดีกว่านี้ที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสีเขียว คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่า เราสามารถทำได้หรือไม่ – แต่คือ เราจะทำหรือไม่

ในปี 2008 เราได้ประกันตัวธนาคาร คราวนี้เราต้องประกันตัวโลก

ช่วงเวลาเร่งเร้าสำหรับมหาอำนาจคาร์บอน

การเรียนรู้บทเรียนที่ถูกต้องจาก COVID-19 จะมีความสำคัญ แต่ก็ยังห่างไกลจากเหตุการณ์สำคัญเพียงอย่างเดียวในปีนี้ เมื่อเป็นเรื่องการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่มีที่ใดที่จะมีเดิมพันสูงไปกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก 2 ประเทศ นั่นคือ สหรัฐฯและจีน ซึ่งรวมกันแล้วมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศโดยที่ประเทศทั้งสองไม่เปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม พลังส่วนใหญ่ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษยชาติอยู่ในวอชิงตันและปักกิ่ง โชคดีที่ปี 2564 จะเป็นปีที่ชี้ขาดของทั้งสองประเทศ

ปลายเดือนมกราคม 2564 นี้ โจ ไบเดน จะเข้ามาแทนที่โดนัลด์ ทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากนักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศ Bidenประกาศว่า เขาจะทำให้สหรัฐฯ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ไม่เกินปี 2593 อย่างไรก็ตาม บางคนก็กลัวว่า Biden หนักไปทางวาทศิลป์แต่รูปะรรมทางปฏิบัติน้อย และด้วยระบบการเมืองที่จมอยู่ใต้เงินดอลลาร์ เชื้อเพลิงฟอสซิล และการปฏิเสธวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มีคำถามว่าเขาสามารถจะทำตามแผนที่ประกาศไว้ได้หรือไม่ ถึงแม้ว่าเขาจะพยายามก็ตาม

ในประเทศจีน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงให้คำมั่นว่าจะทำให้ประเทศ “เป็นกลางทางคาร์บอน” ภายในปี 2603 ที่สำคัญคือรายละเอียดของแผนปฏิบัติการจะถูกเปิดเผยในแผนชาติ 5 ปี ฉบับที่ 14 ที่รอคอยมานานของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งครอบคลุมถึงปี 2564-2568 ซึ่งจะเผยแพร่ในเดือนมีนาคม สิ่งที่สำคัญเป็นพิเศษคือ เป้าหมายที่มีผลผูกพันซึ่งกำหนดขึ้นจากสัดส่วนของเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิลในระบบพลังงานหลักและวิถีของกำลังการผลิตไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งสองอย่างจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความพยายามในการลดการปล่อยมลพิษของจีนในช่วงห้าปีข้างหน้า

โดยรวม ไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่า นโยบายสภาพภูมิอากาศของประธานาธิบดีไบเดน และแผน 5ปีของจีนอาจเป็นแผนนโยบายที่สร้างผลสะเทือนแทบจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ต่อจากความตกลงปารีส

ณ แก่นแกนหลัก วิกฤตสภาพภูมิอากาศคือปัญหาการดำเนินการร่วมกัน: ผลประโยชน์ระยะสั้นของแต่ละประเทศขัดแย้งโดยตรงกับผลประโยชน์ระยะยาวของโลกโดยรวม ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แผนการระดับประเทศจะนำโดยความร่วมมือระหว่างประเทศ อีกครั้งหนึ่ง ปี 2564 คือปีแห่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

ในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ ผู้นำโลกจะรวมตัวกันที่กลาสโกว์สำหรับ COP26 ซึ่งสืบทอดการประชุมครั้งสำคัญที่ปารีสในปี 2558 ภายใต้เงื่อนไขของความตกลงปารีส ประเทศต่างๆให้คำมั่นที่จะรวมตัวกันทุกๆ 5 ปีเพื่อยกระดับความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก COP26 อาจเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับผู้นำโลกในการตกลงเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5C หากรอให้ถึงการประชุม COP ที่สำคัญครั้งต่อไปซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2569 อาจสายเกินไป

การเดิมพันในปีนี้จึงยากที่จะพูดให้เลยเทิด หากจะมีจุดชี้เป็นชี้ตายของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ก็เป็นปี 2564 นี่แหละ เราเผชิญกับทางแยกบนท้องถนน และการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะเลือกทางใด หากคำมั่นสัญญาว่าจะ “ฟื้นคืนให้ดีขึ้น” จากผลกระทบ COVID-19 ประสบผล รัฐบาลภายใต้การนำของ Biden ดำเนินการตามคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ แผน 5 ปีของจีน ดำเนินการตามข้อผูกพันในการลดการปล่อยคาร์บอน และ COP26 ประสบความสำเร็จ เราจึงจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะหลีกเลี่ยงหายนภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

อีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้คือ หากไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น โอกาสของเราจะดูแตกต่างกันอย่างมาก หาก”การฟื้นคืนให้ดีขึ้น” กลายเป็นสโลแกนที่ว่างเปล่า นโยบายสภาพภูมิอากาศของประธานาธิบดี Biden ล้มเหลวในการฝ่าทางตันของระบบการเมืองสหรัฐฯ แผน 5ปีของจีนรวมเอาแผนการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมาก และ COP26 เป็นความล้มเหลวทางการทูต – แล้วเราจะพบว่า เรากำลังตกอยู่ในเส้นทางที่อันตรายอย่างยิ่งอย่างแน่นอน

กลุ่มเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้มาให้เราพบเจอทุกปี เวลาก็น้อยลง – มาทำทุกวันให้มันเต็มที่

แปลเรียบเรียงจาก : https://www.opendemocracy.net/en/oureconomy/why-2021-is-humanitys-make-or-break-moment-on-climate-breakdown/