เรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า “ทุกคนมีส่วนสร้างปัญหามลพิษพลาสติก” คำพูดเหล่านี้ ส่วนใหญ่ เราจะได้ยินจากนักการเมือง หน่วยงานรัฐ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรม

มันเป็นคำพูดที่ถูกออกแบบไว้
ถ้าใครเคยสั่งชุดตัวกรองคาร์บอนสำหรับถังปุ๋ยหมัก ก็จะพบว่า สินค้าถูกส่งมาในซองพลาสติกกันกระแทก ยังมีถุงพลาสติกใสอีกใบที่หุ้มไส้กรอง สุดท้าย เพื่อเพิ่มการป้องกันความเสียหาย ใส้กรองแต่ละอันถูกห่อด้วยพลาสติกแยกกัน สรุป ตัวกรองคาร์บอนมีพลาสติกอย่างน้อยสามชั้น
ตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่า หลายครั้งที่ความพยายามลดขยะของเรา เรากลับสร้างขยะมากขึ้น งานวิจัยในวารสาร Science Advances มีข้อมุลอ้างอิงที่ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกของไทยอยู่ที่ 4,796,494 ตัน/ปี (หรือราว 69.54 กิโลกรัม/ปี/คน) เมื่อเทียบกับฐานข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่าการเกิดขยะพลาสติกอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี (หรือราว 29 กิโลกรัม/ปี/คน)
หลายครั้งที่ข้อมูลอันท่วมท้นเหล่านี้ทำให้เราทำอะไรไม่ถูก ไม่มีทางที่เราจะรู้หรือเปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่าผลิตภัณฑ์ที่เรานำมาใช้ในชีวิตประจำวันถูกห่อหุ้มเป็นชั้นๆ ซ้อนทับลงไปบนบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง
เราต้องการลดขยะโดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง แต่โอกาสก็น้อย แม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนจะออกแบบมาเพื่อลดบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นหรือเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ แต่การสั่งซื้อออนไลน์ (ส่วนใหญ่จัดส่งในบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง) ความหวังว่าจะหลีกเลี่ยงการซื้อของที่สร้างขยะเพิ่มขึ้นนั้นดูจะหริบหรี่
แต่ถ้าเราพร้อมที่จะลงมือทำเพื่อปฏิเสธพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เราพลาดอะไรไป? บริษัทที่ออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้นไม่เพียงแต่สร้างระบบนี้ขึ้นมา แต่ได้ประโยชน์จากระบบนี้ด้วย นั่นคือ “ขยะมากเท่ากับกำไรเพิ่ม” จากการที่บริษัททั้งหลายผลักภาระต้นทุนออกไป
ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้งช่วยลดต้นทุนให้ภาคอุตสาหกรรม แต่กลายเป็นต้นทุนมหาศาลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้เสียภาษี เราต้องจ่ายค่าเก็บขนขยะและรีไซเคิล ในฐานะประชาชน เราต้องเจอกับมลพิษจากการผลิตที่ล้นเกินและไมโครพลาสติกที่ออกมาจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้งซึ่งหลุดรอดลงในน้ำดื่มและอาหารของเรา
ในขณะเดียวกัน มหาสมุทร แหล่งน้ำและอากาศก็ถูกถล่มด้วยมลพิษพลาสติกหลายล้านตันทุกปี ทำให้สัตว์ป่าเสียชีวิต และเกิดการแพร่กระจายของโรค
แล้วค่าใช้จ่ายสำหรับบริษัทที่ผลิตบรรจุภัณฑ์สิ้นเปลืองเหล่านี้ล่ะ? ตำตอบคือ “ศูนย์” ในโลกธุรกิจที่สร้างผลกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น การผลิตสิ่งของที่ใช้แล้วทิ้งมีชัยชนะทุกครั้ง
แต่ถ้าบริษัทเหล่านี้มีภาระรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตนล่ะ? มันจะช่วยลดขยะพลาสติกที่มีปลายทางที่หลุมฝังกลบหรือโรงเผาขยะ หรือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมหรือไม่? สิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ชี้ให้เห็นว่า ผู้ผลิตควรออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ซ่อมแซมได้และทนทานได้มากขึ้นเพราะผู้ผลิตต้องการจำกัดปริมาณของเสียที่จะต้องจัดการ
นี่คือ แนวคิดที่เรียกว่า “การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต”
โครงการกิจกรรมเพื่อขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตนั้นมีอยู่ทั่วโลกมานานหลายทศวรรษและประสบความสำเร็จในการเพิ่มอัตราการเก็บขยะ การรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ในสหรัฐอเมริกา โครงการเหล่านี้หลายแห่งจะควบคุมผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายและยากต่อการกำจัด เช่น แบตเตอรี่ สี เครื่องควบคุมอุณหภูมิที่มีปรอท พรม ยาฆ่าแมลง ยางรถยนต์ และยา
ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา เช่น ผู้ผลิตเทอร์โมสตัทจำเป็นต้องจัดหาเงินทุนและบางครั้งก็ดำเนินโครงการรีไซเคิลเพื่อป้องกันไม่ให้สารปรอทซึ่งเป็นสารพิษต่อระบบประสาทหลุดรอดและก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ว่า มีหลายโครงการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ไม่ได้ระบุให้ผู้ผลิตเก็บรวมรวมวัสดุเหลือใช้ของตน แต่ทุกโครงการจำเป็นต้องมีทรัพยากรทางการเงินที่เพียงพอสำหรับการจัดเก็บและรวบรวมขยะที่มีความปลอดภัย ผู้ผลิตที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีอันตรายน้อยลงหรือใช้ซ้ำได้มากขึ้นนั้นสามารถหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นได้
น่าเสียดายที่ผู้กำหนดนโยบายของประเทศไทยได้แต่พูด ร่างกฎหมายจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรกนิกส์ซึ่งนำเอาหลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตมาใ้ช้เพื่อจัดการวิกฤตขยะอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงค้างเติ่งอยู่ภายใต้กระบวนการตัดสินใจที่ไม่แน่นอนและล่าช้า ยังไม่ต้องนึกถึงหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตในกรณีบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ที่ยังคงอยู่บนแผ่นกระดาษในแผนโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก